ข่าว

 ซีพีเอ็นแจงที่มา"เซ็นทรัล วิลเลจ"โต้ทอท.ไขข้อสงสัย3ประเด็น

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 ซีพีเอ็นแจงที่มา"เซ็นทรัล วิลเลจ"โต้ทอท.ไขข้อสงสัย"3ประเด็น"

            บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอ็น ผู้บริหารและพัฒนาโครงการเซ็นทรัล วิลเลจ ใกล้สนามบินสุวรรณภูมิ เปิดแถลงข่าวคลายปมข้อสงสัยใน 3 ประเด็น ตามที่ ทอท.กล่าวอ้าง บอสใหญ่ยันได้ดำเนินการทุกอย่างตามขั้นตอนอย่างถูกต้อง และได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมายจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และมีอำนาจรับผิดชอบโดยตรง โปร่งใส ตรวจสอบได้ วอนทุกฝ่ายร่วมเดินหน้าประเทศไทย สร้างภาพลักษณ์ที่ดีและเศรษฐกิจของประเทศ มีร้านแบรนด์ดังระดับโลกมาร่วมกว่า 150 ร้าน และพนักงานกว่า 1,000 คน พร้อมเปิดให้บริการ 31 สิงหาคมนี้ตามกำหนดเดิม

     ซีพีเอ็นแจงที่มา"เซ็นทรัล วิลเลจ"โต้ทอท.ไขข้อสงสัย3ประเด็น

ผู้บิรหารซีพีเอ็นแถลงข่าวเซ็นทรัล วิลเลจ

          ปรีชา เอกคุณากูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) เปิดแถลงข่าวแจงรายละเอียดที่มาของโครงการเซ็นทรัล วิลเลจ ซึ่งเป็นเอาท์เล็ตระดับหรูแห่งแรกของประเทศ ณ ที่ทำการโครงการ ต.บางโฉลง อ.เมือง จ.สมุทรปราการ เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 

           ปรีชา กล่าวว่า ซีพีเอ็นมุ่งสร้างประโยชน์แก่ประเทศชาติ ประโยชน์ต่อชุมชนโดยรอบอย่างยั่งยืน โดยในทุกที่ที่โครงการของบริษัทไปตั้งอยู่ ล้วนนำพาความเจริญ สร้างเศรษฐกิจ มีการจ้างงาน กระจายรายได้สู่ชุมชน และยกระดับคุณภาพชีวิตมาอย่างยาวนานถึง 34 ศูนย์การค้า ใน 18 จังหวัดทั่วประเทศ โดยมุ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างภาพลักษณ์ที่ดี ส่งเสริมเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว การลงทุนในประเทศไทย

 ซีพีเอ็นแจงที่มา"เซ็นทรัล วิลเลจ"โต้ทอท.ไขข้อสงสัย3ประเด็น ผังโครงการ

              "ลักชัวรี่เอาท์เล็ตแห่งนี้จะช่วยสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก สามารถดึงนักลงทุน Global Brands ใหญ่ๆ ระดับโลกเข้ามา ซึ่งทุกคนพร้อมและเชื่อมั่นมาลงทุนในประเทศไทย โดยเราได้ใช้เวลาเตรียมการมากว่า 5 ปี และลักชัวรี่เอาท์เล็ตแห่งนี้ จะเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกที่มีความครบถ้วน รวมทั้งคนไทย ทำให้ภาษียังหมุนเวียนอยู่ในประเทศ เป็นการเปิดกว้างให้คนทุกกลุ่มเข้าถึงสินค้าแบรนด์เนมได้ง่ายขึ้นในราคาย่อมเยา”

             ปรีชายังได้กล่าวชี้แจงปมปัญหาที่เป็นข้อสงสัยใน 3 ประเด็น ประเด็นแรก การเชื่อมทางเข้า-ออกระหว่างพื้นที่โครงการกับทางหลวงแผ่นดิน ยืนยันว่าเป็นไปกฎหมายอย่างถูกต้อง ไม่มีการรุกล้ำที่ดินของภาครัฐ (ที่ราชพัสดุ ลำรางสาธารณะ) และไม่ได้เป็นที่ดินตาบอด ที่ดินโครงการเซ็นทรัล วิลเลจ ตั้งอยู่บนที่ดินที่ติดกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 ซึ่งไม่ได้อยู่ภายใต้การดูแลของ ทอท. (บมจ.ท่าอากาศยานไทย) แต่อย่างใด

            “ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 เดิมเป็นที่ราชพัสดุ ต่อมากรมทางหลวงได้พัฒนาเป็นทางหลวงแผ่นดิน โดยได้ขึ้นทะเบียนเป็นทางหลวงแผ่นดินแล้ว จึงมีสถานภาพเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ทำให้ไม่มีสถานะเป็นที่ราชพัสดุตามมาตรา 7(2) พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2562 และเป็นพื้นที่คนละบริเวณกันกับที่ภาครัฐเวนคืนมาเพื่อสร้างสนามบินที่ทอท.ดูแล”

              เขาย้ำว่า เมื่อเป็นเช่นนี้โครงการจึงได้รับอนุญาตเชื่อมทางอย่างถูกต้องจากกรมทางหลวง ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจเต็มในการอนุมัติการเชื่อมทางแต่เพียงผู้เดียว ทั้งนี้พื้นที่ทางหลวงหมายเลข 370 หมายรวมถึงเขตทางและไหล่ทาง ซึ่งติดกับที่ดินของเอกชน 2 ข้างถนน ดังนั้นที่ดินของโครงการ จึงไม่ใช่ที่ดินตาบอดแต่อย่างใด

            “รายละเอียดในส่วนของการโต้แย้งสิทธิในที่ดินหน้าโครงการระหว่าง กรมทางหลวง ทอท. และกรมธนารักษ์ ขอชี้แจงเพิ่มเติม กล่าวคือที่ดินนี้อยู่บนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 มีป้ายเริ่มต้นและสิ้นสุดอย่างชัดเจน”

             ปรีชา ระบุอีกว่า แม้ทางหลวงแผ่นดิน 370 จะเคยเป็นที่ราชพัสดุ แต่ก็ได้มอบให้กรมทางหลวงสร้างและเป็นผู้ดูแล ซึ่งเป็นพื้นที่คนละส่วนกับพื้นที่ดินเวนคืนของสนามบินสุวรรณภูมิที่ ทอท.ดูแล อีกทั้งทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 ถือเป็นทางหลวงสาธารณะ ที่ใช้เงินภาษีอากรของประชาชน ไม่ใช่ขององค์กรเอกชนใดที่จะมากล่าวอ้างเป็นเจ้าของได้

               หากย้อนความเป็นมาของถนนเส้นนี้เริ่มขึ้นเมื่อปี 2511-2513 ภาครัฐได้จัดซื้อที่ดินเพื่อสร้างถนน ต่อมาในปี 2544 คณะรัฐมนตรีมีคำสั่งให้กรมทางหลวงสร้างทางเข้าออกด้านใต้ของสนามบิน ซึ่งคือทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 จากนั้นในปี 2550 กรมขนส่งทางอากาศทำบันทึกมอบพื้นที่ให้กรมทางหลวงดูแลรักษาและประกาศใช้เป็นถนนสาธารณะและให้กรมทางหลวงรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว 

              ดังนั้นกรมทางหลวงจึงเป็นผู้มีสิทธิครอบครองและมีสิทธิอนุญาตในการให้ใช้ประโยชน์จากทางหลวงแผ่นดิน 370 และยังได้มีการขึ้นทะเบียนเป็นทางหลวงแผ่นดินเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2554 โดยมีป้ายแสดงจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดทางอย่างชัดเจน ทำให้ชี้ได้ว่า สิทธินี้เป็นของกรมทางหลวง ซึ่งปัจจุบันมีผู้ใช้ประโยชน์เข้าออกได้ต่อเนื่องมาโดยตลอดจำนวน 88 ราย 

 ซีพีเอ็นแจงที่มา"เซ็นทรัล วิลเลจ"โต้ทอท.ไขข้อสงสัย3ประเด็น

              “ผู้ใช้ประโยชน์ในจำนวน 88 รายนั้น เป็นผู้ที่ยื่นขออนุญาตเชื่อมทางกับกรมทางหลวงจำนวน 37 ราย และ ทอท.เองก็ได้ขออนุญาตจากกรมทางหลวงในการใช้ประโยชน์ด้วยเช่นกัน อย่างเช่นจากหลักฐานล่าสุดเมื่อ 14 พฤษภาคม 2562 ได้มีหนังสือจากกรมทางหลวงอนุญาตให้ ทอท.เดินท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดินและบ่อพัก ทั้งนี้ยังไม่มีผู้ใช้ประโยชน์รายใดเคยยื่นขออนุญาตเชื่อมทางจากทอท.เลยแม้แต่รายเดียว เพื่อชี้ให้เห็นว่า สิ่งที่ทอท.กล่าวอ้างสิทธิการดูแลและครอบครองที่ดินไหล่ทางหน้าโครงการ ไม่น่าจะเป็นกล่าวอ้างที่ถูกต้องนัก”

              ประเด็นที่สอง บอสใหญ่เซ็นทรัลพัฒนาย้ำว่า บริษัทได้ปฏิบัติตามกฎหมายผังเมืองอย่างเคร่งครัด โดยโครงการนี้ได้ปฏิบัติตามกฎหมายผังเมืองและได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องในการก่อสร้างในพื้นที่สีเขียว บริเวณ ก1-10 ไม่เกินร้อยละ 10 ของที่ดินพื้นที่สีเขียวบริเวณดังกล่าว โดยโครงการได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายผังเมือง และไม่ได้มีการขอปรับผังเมืองแต่อย่างใด

               ส่วนประเด็นสุดท้าย ในเรื่องความปลอดภัยของอากาศยาน บริษัทได้ดำเนินการขออนุญาตก่อสร้างในบริเวณพื้นที่เขตปลอดภัยในการเดินอากาศ จากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย อย่างถูกต้อง โดยมีความปลอดภัยต่อการบิน ไม่ได้ละเมิดกฎใดๆ ทั้งด้านความสูง และไม่มีกิจกรรมใดๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานสนามบิน หรือรบกวนการบินแต่อย่างใด 

                “แบบของอาคารเป็นชั้นเดียว ความสูงถือว่าต่ำกว่ามาตรฐานที่กำหนด ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) จึงไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับการติดธงแดงตามที่ ทอท.ยกมากล่าวอ้างและเราจะปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัดต่อไป”

 ซีพีเอ็นแจงที่มา"เซ็นทรัล วิลเลจ"โต้ทอท.ไขข้อสงสัย3ประเด็น การก่อสร้างบริเวณหน้าโครงการ

              ทั้งนี้ โครงการเซ็นทรัล วิลเลจ สุวรรณภูมิ เป็นลักชัวรี่เอาท์เล็ตแห่งแรกในประเทศไทย ภายใต้คอนเซ็ปต์ “Bangkok Luxury Outlet” มีมูลค่าการลงทุนกว่า 5,000 ล้านบาท ประกอบด้วยร้านค้าแบรนด์ชั้นนำระดับโลกกว่า 150 ร้าน โดยหลังจากเปิดให้บริการคาดว่าจะมีการจ้างงานพนักงานร้านค้าที่เช่าพื้นที่กว่า 1,000 คน และจะสามารถสร้างรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการในประเทศมากกว่า 30,000 ล้านบาทต่อปี

             

กว่าจะมาเป็น“เซ็นทรัล วิลเลจ”ในวันนี้

              ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ที่บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ได้เริ่มดำเนินการพัฒนาโครงการเซ็นทรัล วิลเลจ  ด้วยการทำงานแบบมืออาชีพ และยึดหลักธรรมาภิบาลในการทำงานถูกต้องทุกขั้นตอน มีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้มาโดยตลอด ดังเห็นได้ตามไทม์ไลน์ที่เกิดขึ้น ดังนี้

- ปี 2558 เริ่มทำการตรวจสอบที่ดินว่าที่ดินดังกล่าวนั้นสามารถพัฒนาโครงการเซ็นทรัล วิลเลจได้ตาม พ.ร.บ.ผังเมือง และเป็นพื้นที่ติดถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 ไม่ใช่ที่ดินตาบอดแต่อย่างใด

- 22 ธันวาคม 2559 บริษัทได้รับหนังสือรับรองการใช้ประโยชน์ที่ดินตาม พ.ร.บ.ผังเมือง ว่า พื้นที่สีเขียวบริเวณ ก1-10 ของผังเมืองสมุทรปราการ ยังมีพื้นที่เพียงพอให้บริษัทสร้างโครงการนี้ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

- 30 มกราคม 2560 และ 25 กรกฎาคม 2562 บริษัทได้รับใบอนุญาตก่อสร้างและแบบปรับปรุงภายในเขตปลอดภัยในการเดินอากาศ จากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.)

- 24 เมษายน 2561 ได้ใบอนุญาตการก่อสร้างอาคาร (อ1) จาก อบต.บางโฉลง พร้อมแถลงข่าวเปิดตัวโครงการต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก

- 10 เมษายน 2562 กรมทางหลวงได้อนุญาตให้การประปาฯ ใช้พื้นที่ไหล่ทางในการดำเนินการวางท่อเข้าโครงการเซ็นทรัล วิลเลจ

- 24 กรกฎาคม 2562 กรมทางหลวงได้อนุญาตให้ทำทางเชื่อมเข้าออก ขยายผิวจราจร และปรับปรุงทางเท้า ซึ่งรวมไปถึงไหล่ทางด้วย เช่นเดียวกับที่เคยได้อนุมัติเชื่อมทางให้แก่ผู้ร้องขอรายอื่นบนถนนสายนี้ทั้งสิ้น 37 ราย รวมถึง ทอท. ก็เป็นหนึ่งในผู้ที่เคยขออนุญาตจากกรมทางหลวงมาโดยตลอด และล่าสุดเมื่อ 14 พฤษภาคม 2562 ได้มีหนังสือจากกรมทางหลวงอนุญาตให้ ทอท.เดินท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดินและบ่อพัก

- 14 สิงหาคม 2562 บริษัทได้รับใบอนุญาตเปิดใช้อาคาร(อ6) จาก อบต.บางโฉลง

- 22 สิงหาคม 2562 ทอท.ได้ปิดกั้นทางเข้าออกบริเวณหน้าโครงการเซ็นทรัล วิลเลจ

- 31 สิงหาคม 2562 มีกำหนดเปิดให้บริการเซ็นทรัล วิลเลจ อย่างเป็นทางการ 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ