ข่าว

'4แบงก์'นำร่องลดดบ.อุ้มรายย่อย-เอสเอ็มอี

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"4แบงก์ใหญ่"  หั่นดอกเบี้ย "เอ็มโออาร์-เอ็มอาร์อาร์" 0.25% หวังช่วยเหลือเอสเอ็มอี ลดภาระให้รายย่อย ประคองเศรษฐกิจฟื้น

 

 

          ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 4 แห่ง ประกาศลดดอกเบี้ยเงินกู้ที่เรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ประเภทเบิกเกินบัญชี(MOR) และ ดอกเบี้ยที่เรียกเก็บจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี(MRR) ลง 0.25% ตามดอกเบี้ยนโยบายที่ปรับลดไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยการปรับลดดอกเบี้ย MOR และ MRR ครั้งนี้ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและย่อม(เอสเอ็มอี) และ แบ่งเบาภาระให้กับลูกค้ารายย่อย

 

 

          สำหรับธนาคารพาณิชย์ที่ประกาศลดเป็นรายแรก คือ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK หลังจากนั้นไม่กี่ชั่วโมง ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB ก็ประกาศลดตามเป็นรายที่สอง ตามมาด้วย ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL รายที่สาม และ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ประกาศลดดอกเบี้ยตามเป็นรายที่ 4


          ‘กสิกร’นำลดดอกเบี้ย
          นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ธนาคารมีความมุ่งมั่นในการเป็นหนึ่งในกลไกที่สำคัญที่จะช่วยสนับสนุนให้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยได้ฟื้นตัว จึงพร้อมที่จะตอบสนองต่อทิศทางดอกเบี้ยนโยบายด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อ MOR และ MRR ลง 0.25% เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและแบ่งเบาภาระให้กับลูกค้ารายย่อย เนื่องจากเป็นอัตราดอกเบี้ยที่กลุ่มลูกค้าดังกล่าวใช้เป็นส่วนใหญ่


          โดย ณ วันที่14 ส.ค.2562 MOR และ MRR ของธนาคารอยู่ที่ 7.12% หลังการปรับลดในครั้งนี้ ดอกเบี้ย MOR และ MRR ของธนาคารกสิกรไทย จะลดลงเหลือระดับ 6.87%


          นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ในฐานะธนาคารพาณิชย์ของรัฐ ธนาคารตระหนักถึงความสำคัญของธุรกิจเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญของประเทศ โดยเฉพาะในช่วงที่กำลังเผชิญกับภาวะความผันผวนของค่าเงินและสงครามการค้า 


          พร้อมทั้งตอบสนองทิศทางดอกเบี้ยนโยบาย จึงได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อ MOR และ MRR ลง 0.25% ต่อปี เพื่อช่วยเหลือและแบ่งเบาภาระให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี รวมทั้งลูกค้ารายย่อย ให้ประคองตัวและฟื้นตัวจากผลกระทบของสภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวน

 




          นายสุวรรณ แทนสถิตย์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธนาคารประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อMOR และดอกเบี้ย MRR ลง 0.25% โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 15 ส.ค.2562 ซึ่งการปรับลดอัตราดอกเบี้ยทั้งสองประเภทในครั้งนี้ นับเป็นการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการโดยเฉพาะอย่างยิ่งเอสเอ็มอี ในเรื่องการลดต้นทุนด้านอัตราดอกเบี้ย ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญของต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ


          “ธนาคารกรุงเทพ มีความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนให้ผู้ประกอบการสามารถยกระดับประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจและความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยภาพรวม สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐ” นายสุวรรณ กล่าว


          ‘เอสซีบี’ลั่นดบ.ต่ำสุดในระบบ
          นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ธนาคารไทยพาณิชย์มีเจตนารมย์ที่จะช่วยลดภาระต้นทุนในการดำเนินธุรกิจของลูกค้าเอสเอ็มอี และลูกค้ารายย่อย เพื่อสนับสนุนการปรับตัวต่อความท้าทายจากสภาวะเศรษฐกิจไทยที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า จึงขานรับทิศทางนโยบายดอกเบี้ยของคณะกรรมนโยบายการเงิน (กนง.) ด้วยการประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ย MRR ลง 0.25% มาอยู่ที่ 7.12% และปรับลดอัตราดอกเบี้ย MOR ลง 0.125% มาอยู่ที่ 6.745%


          ทั้งนี้ ภายหลังจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้แล้ว จะทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MOR ของธนาคารไทยพาณิชย์ ลดลงมาอยู่ที่ 6.745% และ อัตราดอกเบี้ย MLR ยืนอยู่ที่ 6.025% ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในระดับที่ต่ำที่สุดในระบบธนาคารพาณิชย์


          แบงก์รัฐเคาะสัปดาห์หน้า
          ด้านนายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า สถาบันการเงินของรัฐอยู่ระหว่างหารือถึงทิศทางการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ภายหลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เมื่อวันที่ 7 ส.ค.2562 ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปร่วมกันภายในสัปดาห์หน้า หรืออย่างเร็วที่สุดคือวันที่ 21 ส.ค.นี้ โดยในส่วนของ ธอส. การปรับลดอัตราดอกเบี้ยจะพิจารณาจากอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อที่อยู่อาศัยในตลาด ซึ่งปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยของ ธอส. อยู่ในระดับต่ำที่สุดในตลาด


          ชี้ภาระการเงิน‘เอสเอ็มอี’ลดอื้อ
          นายนริศ สถาผลเดชา ผู้บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี กล่าวว่า การที่ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ หลายมีการปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ลง ทั้งดอกเบี้ยเงินกู้ MOR และ MRR นั้น เชื่อว่า ส่งผลดีต่อผู้กู้ทั้งในส่วนเอสเอ็มอี และรายย่อยค่อนข้างมาก และเชื่อว่า การลดดอกเบี้ยครั้งนี้ ถือว่าตรงจุด ซึ่งจะเป็นผลดีให้ผู้กู้มีภาระค่าใช้จ่ายที่ลดลงไปด้วย ซึ่งมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ค่อนข้างดี ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวในปัจจุบัน


          ทั้งนี้ประเมินว่า หากแบงก์พาณิชย์ทั้งระบบ ปรับลดดอกเบี้ยลงทุกแบงก์ที่ 0.25% เชื่อว่า ภาระดอกเบี้ยของผู้กู้จะลดลงไปมาก โดยเฉพาะเอสเอ็มอี ที่ภาระดอกเบี้ยจะลดลงราว 9.6 พันล้านบาท หรือคิดเป็น 2.6% หากเทียบกับภาระดอกเบี้ยเงินกู้ของเอสเอ็มอีทั้งหมดที่อยู่ราว 3.6 แสนล้านบาท เพราะหากดูภาระดอกเบี้ยของเอสเอ็มอีในปัจจุบันพบว่า เอสเอ็มอีมีภาระที่เป็นดอกเบี้ย MLR 8.7 หมื่นล้านบาท และ MOR 3.1หมื่นล้านบาท และ MRR อยู่ที่ 2.5 แสนล้านบาท


          หุ้นแบงก์รูดหนักฉุดดัชนีปิดลบ
          ภายหลังการประกาศลดดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ ส่งผลให้ราคาหุ้นกลุ่มดังกล่าวปรับลดลงรุนแรง ส่งผลให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับลดลงตามด้วย โดยหุ้น KBANK ลดลงมากสุด ปิดตลาดที่ 155 บาท ลดลง 9 บาท คิดเป็นการลดลง 5.49% รองลงมา คือ SCB ปิดตลาดที่ 123.50 บาท ลดลง 5 บาท คิดเป็น 3.89% หุ้น BBL ปิดตลาดที่ 165 บาท ลดลง 6 บาท คิดเป็น 3.51% และ หุ้น KTB ปิดตลาดที่ 17.50 บาท ลดลง 0.50 บาท คิดเป็น 2.78% 


          ขณะที่ดัชนีตลาดหุ้นไทย ปิดตลาดที่ 1,619.45 ลดลง 0.78 คิดเป็น 0.05% มูลค่าการซื้อขายรวม 71,270.53 ล้านบาท โดยนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 3,966.47 ล้านบาท นักลงทุนสถาบันซื้อสุทธิ 2,087.54 ล้านบาท นักลงทุนรายย่อยขายสุทธิ 1,563.51 ล้านบาท และ นักลงทุนในประเทศ ซื้อสุทธิ 3,442.45 ล้านบาท 


          นักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์(บล.) ทรีนีตี้ จำกัด กล่าวว่า หุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่ปรับลดลงรุนแรง เพราะนักลงทุนกังวลธนาคารขนาดใหญ่ประกาศปรับลดดอกเบี้ย MOR และ MRR ลง 0.25% อาจส่งผลต่อกำไรสุทธิกลุ่ม อย่างไรก็ตามราคาหุ้นที่ปรับลดลงมา ถือว่าแรงกว่ากำไรสุทธิที่คาดว่าจะหายไป จึงมองว่าราคาหุ้นกลุ่มแบงก์ลงมาต่ำแล้ว ทำให้โอกาสที่จะปรับตัวลงไม่มาก และถือเป็นโอกาสที่จะเข้าไปลงทุนเพื่อหวังผลตอบแทนระยะยาว 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ