ข่าว

นโยบายภาษีบุหรี่ไทยเข้มแข็งติดอันดับโลก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย - รศ.ดร.อรรถกฤต ปัจฉิมนันท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

              จากรายงาน WHO report on the global tobacco epidemic 2019 ขององค์การอนามัยโลกที่เพิ่งตีพิมพ์เมื่อวันที่ 26 ก.ค. ที่ผ่านมา พบว่าในปี ค.ศ. 2018 สัดส่วนภาษีบุหรี่ในประเทศไทยสำหรับบุหรี่ยี่ห้อที่ขายดีที่สุด อยู่ที่ 78.6% ของราคาขายปลีก ซึ่งถือว่าสูงเป็นอันดับที่ 23 ของโลก และสูงเป็นอันดับที่ 1 ภูมิภาคเอเชียตะวันออก และในอาเซียน ล้ำหน้าประเทศพัฒนาแล้วอย่าง ออสเตรเลีย (77.52%) และสิงคโปร์ (67.11%) 

       

         โดยสัดส่วนดังกล่าวสำหรับประเทศไทยคำนวณจากบุหรี่ที่ราคาซองละ 60 บาท ซึ่งเป็นบุหรี่ที่ขายดีที่สุด ชี้ให้เห็นว่าการใช้มาตรการภาษีเพื่อลดความจูงใจในการบริโภคสินค้าที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เช่น บุหรี่ เป็นเรื่องที่เหมาะสมแล้ว และระบบภาษียาสูบไทยเดินมาถูกทาง ซึ่งหลังจากนี้ สิ่งที่รัฐบาลควรทำคือการจัดทำโรดแมปการขึ้นภาษีบุหรี่ในระยะกลาง-ระยะยาว ให้มีความเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจ ตอบโจทย์รัฐทั้งด้านสาธารณสุขและการคลัง

                   ด้วยระดับการพัฒนาของเศรษฐกิจไทยซึ่งอยู่ในกลุ่มรายได้ปานกลาง ดังนั้น จึงถือได้ว่าอัตราภาษีบุหรี่ของบ้านเราถือว่าสูงมากแล้ว โดยภาษีบุหรี่ของประเทศไทยสูงติดอันดับต้นๆ ของโลก จากทั้งหมด 195 ประเทศซึ่งเป็นผลจากการปฏิรูประบบภาษีสรรพสามิตเมื่อเดือน ก.ย. 2560 ทำให้ระบบโครงสร้างภาษียาสูบใกล้เคียงแนวปฏิบัติสากลมากขึ้น และมีผลให้อัตราภาษีบุหรี่ต่อราคาขายปลีกสูงติดอันโลกด้วย อีกทั้งกรมสรรพสามิตยังได้ตัดสินใจขึ้นภาษียาเส้นไปถึง 19 เท่า ซึ่งแม้จะต้องยอมรับว่ายังต่ำกว่าภาษีบุหรี่อยู่หลายเท่าตัว แต่ก็ต้องชื่นชมการตัดสินใจขึ้นภาษียาเส้นของกรมสรรพสามิต เพราะจะเป็นการลดช่องว่างระหว่างราคาระหว่างบุหรี่ซองและยาเส้น ป้องกันไม่ให้ผู้สูบบุหรี่หันไปสูบยาเส้นทดแทนการสูบบุหรี่ซองซึ่งราคาแพงกว่ากันมาก

                    สำหรับกำหนดการขึ้นภาษีบุหรี่ครั้งต่อไปในวันที่ 1 ต.ค. 2563 นั้น จะทำให้สัดส่วนภาษีที่เก็บต่อบุหรี่หนึ่งซองเพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 83% ซึ่งเท่าที่ติดตามข่าวการขึ้นภาษีครั้งหน้าอาจส่งผลกระทบต่อผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมยาสูบ เช่น การยาสูบแห่งประเทศไทย และชาวไร่ยาสูบ จึงเสนอแนะว่า การปฏิรูปภาษีสรรพสามิตยาสูบปี 2560 ของประเทศไทยมาถูกทางแล้ว แต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจของไทยที่ไม่ได้เติบโตหวือหวานัก หากจะมีการขึ้นภาษีอีกทีก็ควรต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับรายได้ของประชาชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพราะมิเช่นนั้นแล้วอาจเกิดผลในทางลบมากกว่าผลดีโดยเฉพาะในระยะสั้น โดยเฉพาะผลต่อเสถียรภาพทางการเมือง

      

             ซึ่งวิธีหนึ่งที่สามารถช่วยได้คือการประกาศโรดแมปการขึ้นภาษีระยะกลาง-ระยะยาว (multi years tax plan) แบบค่อยเป็นค่อยไป ตามปัจจัยหรือตัวแปรทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นการประกาศพันธสัญญาในการคุ้มครองสุขภาพของประชาชน และคำนึงถึงเป้าหมายด้านสาธารณสุขของประเทศ ขณะเดียวกันก็ให้อุตสาหกรรมและชาวไร่ยาสูบได้ทราบแนวทางที่ชัดเจนจะได้ปรับตัวได้ด้วย วิธีนี้จะช่วยลดแรงต่อต้านและผลกระทบในระยะสั้นเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในระยะยาวได้

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ