ข่าว

ครม.ตื่นรับมือ"สงครามค่าเงิน"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ที่มา : หนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจ

 

 

          ครม.ถกรับมือเศรษฐกิจโลก “สมคิด” ห่วง 3 ปัจจัย สงครามการค้า ค่าเงินหยวน ประท้วงฮ่องกง จับตาเทรดวอร์ลามการเงิน เร่งดันเศรษฐกิจภายใน “สรท.”ชี้หยวนดันราคาสินค้าไทยแพงขึ้น 10% นักวิเคราะห์ เผยตั้งแต่ต้นปีหยวนอ่อนค่าเทียบเงินบาท 7.4% หวั่นฉุดเศรษฐกิจไทย 3 ด้าน “ท่องเที่ยว-ส่งออก-อสังหาฯ”

 

          การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (6 ส.ค.) มีการหารือถึงความผันผวนของเศรษฐกิจโลก โดยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี รายงานให้ ครม.รับทราบ 3 เหตุการณ์เศรษฐกิจโลกสำคัญที่อาจกระทบเศรษฐกิจไทย คือ 1.สงครามการค้า 2.เหตุการณ์การประท้วงในฮ่องกงที่กระทบกับดัชนีตลาดหุ้น 3.ค่าเงินหยวนที่อ่อนค่าลง

 

 

          นายสมคิด กล่าวว่า การประชุม ครม.ครั้งนี้ได้หารือถึงปัญหาเศรษฐกิจโลก ซึ่งรัฐมนตรีทุกคนพร้อมร่วมมือกันทำงาน โดยในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมาถือว่าผ่านไปแล้ว และสิ่งที่ต้องทำ คือ ไตรมาส 3–4 ซึ่งเป็นช่วงที่เหลือในปี 2562 จะทำอย่างไร 


          ทั้งนี้ พบสัญญาณเศรษฐกิจที่มีปัญญา เช่น การลดลงของดัชนีดาวโจนส์มากเพราะความกังวลที่ค่าเงินหยวนอ่อน ซึ่งที่ผ่านมาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนส่งผลต่อภาคเศรษฐกิจจริง แต่ครั้งนี้ความขัดแย้งมาถึงการใช้ค่าเงิน เพื่อเพิ่มความได้เปรียบด้านการค้า ทำให้ไทยต้องจับตาใกล้ชิด เพราะจีนเป็นประเทศที่ถือพันธบัตรสหรัฐมาก


          สำหรับสถานการณ์ค่าเงินหยวนในขณะนี้ เชื่อว่ายังไม่ถึงขั้นวิกฤตของสงครามค่าเงิน แต่ถือเป็นจุดเริ่มต้น ซึ่งทั้งหมดเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ ดังนั้นต้องเน้นเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยเฉพาะความสัมพันธ์ของพรรคร่วมรัฐบาล โดยยืนยันว่าการทำงานไม่มีปัญหาแน่นอน


          “ผมสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลัง ให้ไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวกับตลาดเงิน ตลาดทุน ทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) อย่างใกล้ชิด เพื่อให้เกิดความอุ่นใจในการบริหารงานเศรษฐกิจ”


          “อุตตม”เล็งถกแบงก์ชาติ-ตลท.
          นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังจะหารือกับภาคอุตสาหกรรม ธปท.และ ตลท.เพื่อรับมือผลกระทบที่จะเกิดขึ้น


          “นโยบายการเงิน หรือ ดอกเบี้ยนโยบาย ผมไม่แสดงความเห็นไม่ได้ แต่หวังว่านโยบายการเงินและการคลังจะไปทิศทางเดียวกัน เพื่อประคองเศรษฐกิจ” นายอุตตม กล่าว


          นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นห่วงสงครามการค้า และได้หารือกับนายไมก์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐที่เยือนไทยสัปดาห์ก่อน ซึ่งขอให้สหรัฐพิจารณาลดผลกระทบต่อประเทศอื่นที่ไม่ใช่คู่ขัดแย้งแต่ได้รับผลกระทบจากจากครามการค้า


          รัฐบาลกระตุ้น ศก.3ด้าน
          นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนยกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง กล่าวว่า ค่าเงินหยวนอ่อนค่าจากเดิม 5 บาทต่อ 1 หยวน มาเป็น 7 บาทต่อ 1 หยวน ซึ่งหมายความว่าจีนส่งของมาขายจะมีกำไรเพิ่มขึ้นจากค่าเงินหยวนที่อ่อนค่าลง 2 บาท หรือคิดเป็น 13–14 % นับว่าสูงมาก ขณะที่เงินบาทแข็งค่าจาก 32 บาทต่อดอลลาร์มาเป็น 30 บาทต่อดอลลาร์แข็งค่าเพิ่มขึ้น 5–7% ซึ่งเท่ากับว่าผลกระทบจากทั้งหมด 20%


          ดังนั้น ไทยต้องดูแลเศรษฐกิจภายในประเทศ ซึ่งกระทรวงการคลังจะเสนอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเดือน ส.ค.นี้ กระตุ้น 3 เรื่อง คือ การลงทุน การช่วยเอสเอ็มอีและท่องเที่ยว


          “การประชุม ครม.เศรษฐกิจ ได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีทั้งหมด 9 กระทรวง คาดว่าประชุมครั้งแรกได้วันที่ 19 ส.ค.นี้”


          หยวนอ่อนกระทบไทย3ด้าน
          การกำหนดค่าเงินหยวนที่อ่อนค่าเทียบสหรัฐมากสุดในรอบ 11 ปีแล้ว ยังมีผลให้เงินหยวนอ่อนค่าลงเทียบกับเงินบาทด้วย โดยตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันเงินหยวนอ่อนค่าลงเทียบกับเงินบาทราว 7.4% และ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา พบว่า เงินหยวนอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินแล้ว 12.6%




          นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า หากสงครามการค้าไม่จบมีโอกาสเห็นค่าเงินหยวนอ่อนค่าต่อเนื่อง ทำให้ไทยเสียโอกาส การส่งออกและท่องเที่ยว


          นายนริศ สถาผลเดชา ผู้บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี กล่าวว่า เงินหยวนที่อ่อนค่าลงต่อเนื่อง หากเทียบกับค่าเงินบาท จะทำให้ไทยสูญเสียโอกาสทางการค้า 3 ด้าน คือ การท่องเที่ยว การส่งออก และการลงทุนอสังหาริมทรัพย์


          ห่วงผลกระทบไทยต่อเนื่อง
          การท่องเที่ยว พบว่า ค่าเงินหยวนที่อ่อนลงเทียบกับเงินบาทราว 7.4% เมื่อเทียบกับช่วงต้นปี 2562ทำให้นักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาไทยมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น 7.4% เช่นกัน ซึ่งถ้าดูตัวเลขนักท่องเที่ยวชาวจีนใน ก.ค. พบว่า ลดเหลือ 8.3 แสนคน เทียบกับอดีตที่นักท่องเที่ยวชาวจีนเคยสูงถึง 1 ล้านคนต่อเดือน ทำให้รายได้หายไปมาก


          การส่งออก ปัจจุบันไทยส่งสินค้าไปจีนราว 10% ของการส่งออกทั้งหมด หรือคิดเป็นมูลค่า 9.7 แสนล้านบาทต่อปี ซึ่งการส่งออกของไทยไปจีนชะลอลงราว 10% เมื่อเทียบกับต้นปี เท่ากับว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยลดลงไปราว 9.7 หมื่นล้านบาท


          สุดท้าย คือ การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเดิมนักลงทุนจีนซื้ออสังหาริมทรัพย์ไทยต่อปีราว 3.8 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 15% ของมูลค่าตลาดคอนโดมิเนียมทั้งหมด โดยค่าเงินหยวนที่อ่อนลง ก็น่าจะทำให้กำลังซื้อในส่วนนี้ลดลงไปพอสมควร ดังนั้นหากสงครามการค้ายังไม่ได้ข้อยุติ และเงินหยวนยังคงอ่อนค่าลง ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยก็จะยังมีต่อเนื่อง


          นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (เฟทโก้) เปิดเผยว่า สงครามการค้าเป็นปัจจัยลบระยะสั้นเพราะถ้าลากยาวจะส่งผลร้ายต่อเศรษฐกิจสหรัฐ-จีน 


          รวมทั้งปีหน้าสหรัฐจะมีเลือกตั้ง เชื่อว่า นาย นายโดนัลด์ ทรัมป์ ไม่น่าจะทำอะไรที่มีผลทำให้หุ้นสหรัฐฯปรับตัวลดลง ซึ่งจากสถิติการเลือกตั้งย้อนหลัง 80 ปีที่ผ่านมา มีเพียงการเลือกตั้งแค่ 3 ครั้งที่หุ้นสหรัฐปรับตัวลดลง การเลือกตั้งที่เหลือหุ้นสหรัฐฯปรับตัวขึ้น และสาเหตุที่ 3 ครั้งที่หุ้นสหรัฐ ลงเพราะ เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ และสงครามโลกครั้งที่ 2


          หยวนดันสินค้าไทยแพงขึ้น
          นางสาวกัญญภัค ตันติพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า เงินหยวนที่อ่อนค่าลงมากส่งผลให้ผู้ส่งออกไทยกังวล ซึ่งเบื้องต้นจะทำให้สินค้าไทยที่ส่งขายไปจีนจะมีราคาสูงขึ้นเฉลี่ย 10 % แต่ผู้ส่งออกไทยลดราคาไม่ได้จึงต้องดูการส่งออกไตรมาส 4 จะเป็นอย่างไร โดย ธปท.ควรดูแลค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่ากว่าระดับ 30 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่ง ธปท.ไม่ต้องเข้าไปแทรกแซงค่าเงินบาทแต่ดูแลให้มีเสถียรภาพ เพราะถ้าแข็งค่ามากกว่านี้จะกระทบภาคธุรกิจส่งออกมาก


          สำหรับ สงครามการค้าที่รุนแรงขึ้นทำให้จีนลดค่าเงินหยวนจาก 6.8 หยวนต่อดอลลาร์เป็น 7 หยวนต่อดอลลาร์ ซึ่งสหรัฐอาจตอบโต้จีนและถูกจับตาเป็นประเทศแทรกแซงค่าเงิน และอาจลดดอกเบี้ย หรืออาจกลับไปใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) เหมือนปี 2552ซึ่งนอกจากจะเป็นสงครามการค้าแล้วก็จะขยายเป็นสงครามการเงิน


          สหรัฐขึ้นบัญชีจีนปั่นค่าเงิน
          กระทรวงการคลังสหรัฐประกาศว่า จีนเป็นประเทศที่แทรกแซงค่าเงิน ซึ่งเป็นการกำหนดสถานะนี้ต่อจีนครั้งแรกนับตั้งแต่จีนเคยถูกขึ้นบัญชีดำเมื่อปี 2537 และต่อมาได้ถอนชื่อ


          การตัดสินใจล่าสุดมีขึ้นหลังจากธนาคารกลางจีนอนุญาตให้เงินหยวนอ่อนค่าลงกว่าระดับ 7 หยวนต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อวันจันทร์ (5 ส.ค.) ซึ่งเป็นมาตรการตอบโต้ที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ขู่ขึ้นภาษีอัตรา 10% กับสินค้าจีนมูลค่า 3 แสนล้านดอลลาร์ ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.นี้ ขณะที่ทรัมป์ทวีต กล่าวหาจีนแทรกแซงค่าเงินเพื่อขโมยผลประโยชน์ทางธุรกิจของสหรัฐ


          นายอี้ กัง ผู้ว่าการธนาคารกลางจีน กล่าวก่อนหน้านี้ว่า อัตราแลกเปลี่ยนหยวนขณะนี้อยู่ระดับที่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจจีน และยืนยันว่าจีนไม่ใช้หยวนเป็นเครื่องมือทำสงครามการค้า


          คาดสหรัฐเล็งเก็บภาษีจีนเพิ่ม25%
          บรรดานักวิเคราะห์จากซิติ ให้ความเห็นการลดค่าเงินหยวนลงมาที่ระดับทะลุ 7 หยวนต่อดอลลาร์เมื่อวันที่ 5 ส.ค.ที่ผ่านมาของธนาคารกลางจีนว่า จะสร้างแรงกดดันให้รัฐบาลสหรัฐหาทางจัดเก็บภาษีสินค้านำเจ้าจากจีนเพิ่มขึ้น จากเดิมที่ประกาศจัดเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนวงเงิน 3 แสนล้านดอลลาร์ ในอัตรา 10% จีนอาจจะเก็บภาษีในส่วนนี้เพิ่มเป็น 25% เร็วที่สุดในเดือนหน้า


          ทั้งนี้ เป็นครั้งแรกรอบ 25 ปีที่กระทรวงการคลังสหรัฐ ประกาศว่าจีนเป็นประเทศปั่นค่าเงิน ซึ่งจะยิ่งทำให้ความสัมพันธ์ทวิภาคีเลวร้ายลงอีก และจะฉุดกา่รเติบโตของเศรษฐกิจโลก


          นอกจากประเด็นค่าเงินหยวนที่ถูกมองว่าเป็นมาตรการตอบโต้คำขู่เรียกเก็บภาษีสินค้าจีนเพิ่มเติมของทรัมป์ ล่าสุด สำนักข่าวซินหัวของทางการจีนรายงานว่า บริษัทที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลจีนได้ระงับการซื้อสินค้าเกษตรของสหรัฐแล้ว และคณะกรรมการภาษีศุลกากรของสภาแห่งรัฐของจีน ไม่ปฏิเสธความเป็นไปได้ในการเก็บภาษีนำเข้าต่อสินค้าเกษตรของสหรัฐที่จีนได้สั่งซื้อมาหลังจากวันที่ 3 ส.ค.ที่ผ่านมา

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ