ข่าว

 โชว์"เครื่องจักรกลอัจฉริยะ"ครบวงจร

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 โชว์"เครื่องจักรกลอัจฉริยะ"ครบวงจร  งาน"อินเตอร์แมคและเอ็มทีเอ 2019"

 

                  กลับมาอีกครั้งงานใหญ่แห่งปีสำหรับการก้าวเข้าสู่ยุคแห่งโซลูชั่น เครื่องจักรอัจฉริยะอย่างครบวงจร ภายใต้ชื่อ “อินเตอร์แมคและเอ็มทีเอ 2019” (Intermach- MTA Asia 2019) โดยมุ่งเป้าไปที่ผู้ประกอบการธุรกิจ เอสเอ็มอี ถือเป็นส่วนสำคัญต่อการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของไทยในหลากหลายมิติ

               อาทิ การสร้างงาน การพัฒนาฝีมือแรงงาน การสร้างเงินตราในต่างประเทศ การเชื่อมโยงกับกิจการขนาดใหญ่เพื่อลดการนำเข้า รวมทั้งการเป็นฐานการผลิตที่สำคัญในภูมิภาคเพื่อยกระดับการสร้างขีดความสามารถและก้าวสู่ความเท่าทันในยุคอุตสาหกรรม 4.0 ให้แก่ผู้ประกอบการไทยในภาคอุตสาหกรรมการผลิต  โดยได้รวบรวมภาคอุตสาหกรรมตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำมารวมไว้ในงานเดียว 

                    สุกัญญา อมรนุรัตน์กุล ผู้จัดการฝ่ายบริหารโครงการอาวุโส บริษัท ยูบีเอ็ม เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด ฉายภาพรวมการจัดงาน “อินเตอร์แมคและเอ็มทีเอ 2019” ได้อย่างน่าสนใจในระหว่างการแถลงข่าว โดยระบุว่าปีนี้เราจัดขึ้นภายใต้แนวคิด “CONNECTING INTELLIGENT MANUFACTURING SOLUTIONS” หรือก้าวเข้าสู่ยุคแห่งโซลูชั่นทางด้านการผลิตด้วยเทคโนโลยีอัจฉริยะ มุ่งเน้นการนำเสนอความก้าวหน้าของภาคการผลิต โดยตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอี มีการตื่นตัวในเรื่องของเทคโนโลยีอย่างมาก ทั้งระบบออโตเมชั่น เทคโนโลยีเอไอ การนำเอาซอฟต์แวร์มาจัดการในสายการผลิตเพื่อสร้างความเชื่อมโยงกับเครื่องจักรเดิมที่มีอยู่แล้ว รวมทั้งการจัดเก็บข้อมูลในรูปแบบของ บิ๊ดาต้า ตลอดจนกลุ่มอุตสาหกรรมอนาคต อาทิ ยานยนต์ไฟฟ้า อากาศยาน และเครื่องมือแพทย์ เป็นต้น

                     “ภายในงานได้รวบรวมเครื่องจักรกล หุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ เทคโนโลยีเครื่องตัดเลเซอร์กว่า 1,200 แบรนด์ จาก 45 ประเทศ มีพาวิลเลียนชั้นนำจากญี่ปุ่น สิงคโปร์ เกาหลี ไต้หวัน และจีน มีการสาธิตแสดงสายการผลิตอัจฉริยะ รวบรวมเทคโนโลยีการผลิตจากแบรนด์ชั้นนำ คาดว่ามีผู้ตัดสินใจซื้อมากกว่า 47,000 คน จาก 45 ประเทศทั่วโลก เนื่องจากเป็นงานแสดงเครื่องจักรอุตสาหกรรมงานแรกของปี ซึ่งตรงกับรอบการจัดซื้อจัดจ้างประจำปีของอุตสาหกรรม ที่สำคัญภายในงานมีกิจกรรมการจับคู่ธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค ในงานซับคอนไทยแลนด์ ที่จัดคู่ขนานกับงาน “อินเตอร์แมคและเอ็มทีเอ 2019” ซึ่งเป็นงานที่เชื่อมโยงธุรกิจและสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยและต่างชาติ ให้เกิดการต่อยอดสู่การร่วมมือในอนาคต”

                   สุกัญญาเผยต่อว่า สำหรับการจัดงาน “อินเตอร์แมคและเอ็มทีเอ 2019” ในปีนี้ได้รวมเทคโนโลยี นวัตกรรม ผู้ซื้อ ผู้ผลิต ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องของเทคโนโลยีเครื่องจักรและระบบอัตโนมัติในการเชื่อมโยงการผลิตให้เข้าถึงเทคโนโลยีง่าย ให้ผู้เข้าชมงาน โดยแบ่งออกเป็นโซนต่างๆ อาทิ โซน (RO) Bots Hub ฮอลล์ 100 พร้อมนำเสนองานออกแบบซอฟต์แวร์เพื่อการประยุกต์ใช้ โดยที่ผู้ประกอบการโดยเฉพาะภาคการผลิตสามารถนำไปปรับใช้ได้จริงมาจัดแสดง ตัวอย่างที่นำเสนอมีทั้งงานการวางระบบ งานขัดอุปกรณ์เครื่องบินจากอุตสาหกรรมอากาศยาน ไลน์การชงกาแฟจากโรบอทอาร์ม รวมทั้งงานซอฟต์แวร์ด้านต่างๆ ที่น่าสนใจมาประยุกต์ใช้ร่วมกับหุ่นยนต์แขนกลจากหลากหลายแบรนด์ดัง อาทิ KUKA DENSO YASKAWA เพื่อการใช้งานทั้งอุตสาหกรรมการแพทย์และยานยนต์อนาคต โดยเฉพาะเครื่องเลเซอร์ที่สามารถขูดสนิมและขัดสีออกได้อย่างสะอาดด้วยระยะเวลาอันสั้น เพื่อตอบโจทย์ภาคการผลิตที่ต้องการความแม่นยำและเสริมความเชี่ยวชาญให้แก่แรงงาน โดยผู้ที่ทำการเชื่อมโยงระบบ คือโรบอท ซิสเต็มบริษัทคนไทยที่สามารถสร้างชื่อจนเป็นที่ยอมรับในระดับสากล 

                  จากนั้นเป็นโซนโชว์นวัตกรรมและระบบอัตโนมัติ โดยผู้เข้าชมงานจะสามารถทดลองใช้งานโปรแกรมให้หุ่นยนต์ทำงานร่วมกับเครื่องควบคุมโดยอัตโนมัติ ผ่านการประสานงานจากซอฟต์แวร์ของ SIEMENS และหุ่นยนต์แขนกลจาก UNIVERSAL ROBOTS เพื่อสัมผัสประสบการณ์การใช้งานที่เชื่อมโยงเครื่องจักรให้ทำงานร่วมกันผ่านระบบ IOT จะจัดแสดงไฮไลท์ที่มีความหลากหลาย ตั้งแต่การสร้างภาพแบบเรียลไทม์ไปจนถึงโซลูชั่นที่สมบูรณ์แบบ สำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ ตั้งแต่อุตสาหกรรมไฟฟ้าจนถึงอุตสาหกรรมเครื่องประดับ โดยบริษัท เจอแรงการ์ เซอร์วิส (ประเทศไทย) จำกัด

                    "ไฮไลท์ที่ถือเป็นจุดเด่นของการจัดงานอินเตอร์แมคอย่างสัมมนา โดยในปีนี้ได้รวบรวมสัมมนาการประชุมเชิงวิชาการมากกว่า 50 หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ยานยนต์อนาคต เครื่องมือการแพทย์ การบิน อาทิ การสัมมนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ “อินเตอร์แมคฟอรั่ม” ในหัวข้อ “เตรียมความพร้อมอุตสาหกรรมไทยเข้าสู่อุตสาหกรรมการผลิตด้วย AI และสัมมนาการเพิ่มขีดความสามารถผู้ประกอบการ SMEs “FUTURE AUTOMOTIVE FORUM” และกิจกรรมเวิร์กช็อปในหัวข้อที่น่าสนใจอย่าง “การบริหารบุคลากรในกลุ่มอุตสาหกรรมเพื่อรองรับ ISO อนาคต” 

                   สำหรับ “งานอินเตอร์แมคและเอ็มทีเอ 2019” ถือเป็นงานแสดงสินค้าเครื่องจักรกลและเครื่องจักรอุตสาหกรรมชั้นนำของอาเซียนเพื่องานวิศวกรรมขั้นสูง เครื่องมือ เครื่องจักรเพื่องานโลหะการ นำเสนอเทคโนโลยีเครื่องจักรและอุปกรณ์ทันสมัยล่าสุดจากแบรนด์ชั้นนำของโลก ซึ่งงานนี้จัดร่วมกับงานซับคอนไทยแลนด์ 2019 นำเสนอชิ้นส่วนอุตสาหกรรมจากผู้ผลิตชิ้นส่วนอุตสาหกรรมชั้นนำและกิจกรรมการจับคู่ธุรกิจใหญ่ที่สุดในอาเซียนที่จะเชื่อมโยงผู้ผลิตและผู้ซื้อกว่า 400 ราย มาสร้างเครือข่าย โดยครอบคลุมอุตสาหกรรมการผลิตที่หลากหลาย อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมก่อสร้างเฟอร์นิเจอร์และการเกษตร คาดว่ามีผู้ตัดสินใจซื้อมากกว่า 47,000 คนจาก 45 ประเทศทั่วโลก

                  ทั้งนี้งานดังกล่าวยังถือเป็นงานเดียวในประเทศไทยที่มุ่งเน้นเฉพาะอุตสาหกรรมเครื่องจักรกล การแสดงยังเป็นการนำเสนอโอกาสทางธุรกิจที่แท้จริงแก่บริษัทที่จัดแสดง เป็นที่รู้จักกันดี และการดึงดูดผู้มีอำนาจตัดสินใจที่สามารถตัดสินใจซื้อสินค้าได้ตรงจุด ที่สำคัญพร้อมตอบโจทย์ภาคการผลิตเพื่อรองรับการเข้าสู่ยุคแห่งโซลูชั่นเครื่องจักรอัจฉริยะได้อย่างเท่าทันด้วยความครบวงจร โดยงานนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-11 พฤษภาคม ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา สามารถติดตามความเคลื่อนไหวและข้อมูลที่เป็นประโยชน์ของงานได้ที่ www.intermachshow.com 

 

                                         

                                    “ราคา”ตัวชี้วัดแผนส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้ารุ่งหรือร่วง

                  ศิริรุจ จุลกะรัตน์ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวในงานแถลงข่าวงานอินเตอร์แมคและเอ็มทีเอ 2019” ถึงความคืบหน้าการผลักดันอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยระบุว่าเมื่อเร็วๆ นี้ ได้สรุปความคืบหน้า 3 อุตสาหกรรมเป้าหมายหลังยุทธศาสตร์ผ่านคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว ประกอบด้วย ยานยนต์แห่งประเทศ หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ และเศรษฐกิจชีวภาพ ต่อนายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการผลักดัน แก้อุปสรรค โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคตพบว่าดีมานด์ หรือความต้องการของตลาดยังน้อยมาก ทั้งรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด และรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ซึ่งแผนงานหนึ่งในการเร่งรัดดีมานด์คือการกำหนดให้ภาครัฐนำร่องการใช้ แต่งบประมาณที่กรมบัญชีกลางกำหนดกลับน้อยกว่าราคาซื้อขายในตลาดอย่างมาก

                   “ตัวอย่างแผนสนับสนุนที่ครม.เห็นชอบคือ การกำหนดให้ผู้บริหารในภาครัฐระดับรองอธิบดีขึ้นไปใช้รถประจำตำแหน่งเป็นปลั๊กอินไฮบริด หรืออีวี ซึ่งราคารถประมาณ 3 ล้านบาท แต่เมื่อดูในข้อกำหนดของกรมบัญชีกลางกำหนดราคารถประจำตำแหน่งแค่ล้านต้นๆ ทำให้ซื้อใช้ไม่ได้ เรื่องนี้ได้เสนอปลัดแล้ว คาดว่าจะมีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกรมบัญชีกลางเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว” ศิริรุจกล่าว

                   รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเผยต่อว่า นอกจากนี้ตามแผนยังกำหนดให้บริษัท การท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท.ใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าในการให้บริการผู้โดยสาร รวมทั้งกำหนดให้กรมศิลปากรใช้รถพลังงานไฟฟ้าในการท่องเที่ยว ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมจะติดตามความคืบหน้าว่าดำเนินการอย่างไรแล้วบ้าง ส่วนแผนหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ขณะนี้ได้เสนอให้ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการติดตามคำขอส่งเสริมการลงทุน มาตรการสนับสนุนด้านสินเชื่อ ความคืบหน้าการจะจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (คอร์) ขณะที่แผนเศรษฐกิจชีวภาพก็จะติดตามความคืบหน้าเช่นกัน โดยแผนทั้งหมดจะเสนอต่อรัฐบาลชุดใหม่เพื่อพิจารณาด้วย

                  อย่างไรก็ตามแผนการดำเนินการทั้งหมดในภาคการผลิตจะสนับสนุนให้เกิดการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ซึ่งสถานการณ์การเมืองที่รอจัดตั้งรัฐบาลทำให้นักลงทุนเริ่มติดตามว่าจะคงเดินหน้านโยบายอีอีซีอยู่หรือไม่อย่างไร  

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ