ข่าว

"จากหิ้งสู่ห้าง" มหกรรมวิจัย2562 สู่ผู้นำ "นวัตกรรม"อาเซียน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"จากหิ้งสู่ห้าง" มหกรรมวิจัย2562 สู่ผู้นำ "นวัตกรรม" ภูมิภาคอาเซียน

 

         "ขอให้ประสบความสำเร็จ เป็นกำลังใจ ผลงานที่นำมาออกในวันนี้ขอให้ส่งเสริมให้มีการต่อยอดทุกผลงาน ต้องมีการขับเคลื่อนต่อไปเพื่อให้นักวิจัยมีความภาคภูมิใจ เครื่องประดับให้ไปออกบูธกับการท่องเที่ยวและโรงแรม จำหน่ายบนเครื่องการบินไทย อยากสนับสนุนเยาวชนสนใจในด้านงานวิจัย ทำกิจกรรมที่มีประโยชน์และสร้างสรรค์ดีกว่าไปทำอย่างอื่น เอสเอ็มอีควรสนับสนุนให้ไปออกงานระดับอาเซียนก็จะทำให้ผลงานออกสู่สากล"

"จากหิ้งสู่ห้าง" มหกรรมวิจัย2562 สู่ผู้นำ "นวัตกรรม"อาเซียน "จากหิ้งสู่ห้าง" มหกรรมวิจัย2562 สู่ผู้นำ "นวัตกรรม"อาเซียน

 

             บางช่วงบางตอนที่ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี คำกล่าวอวยพรแก่คณะนักวิจัยระหว่างเยี่ยมชมผลงานวิจัยเด่นที่สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) นำมาจัดแสดง ณ ทำเนียบรัฐบาล ก่อนมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวานนี้ (2 เม.ย.) 

            ไม่ใช่แค่จาก “หิ้งสู่ห้าง” ไม่ใช่แค่นำผลงานวิจัยจากลิ้นชักมาใช้ประโยชน์เท่านั้น แต่เป็นงานวิจัยที่สามารถนำมาต่อยอดเชิงธุรกิจได้ พูดง่ายๆ ก็คือ “งานวิจัยขายได้ งานวิจัยกินได้”มีตั้งแต่ผลงานที่คิดค้นจากภูมิปัญญาชาวบ้านไปจนถึงงานวิจัยที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงมารวมไว้ที่เดียวกันภายใต้ชื่อมหกรรมวิจัยแห่งชาติ 2562 หรือ (ไทยแลนด์ รีเสิร์ช เอ็กซ์โป 2019) ที่สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับหน่วยงานในเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศจัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-10  เมษายน ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ ภายใต้แนวคิด “วิจัยเพื่อพัฒนาประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน”

            โดยมาสคอตในปีนี้คือน้องแกล้งดิน ซึ่งสื่อความหมายถึง “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9” พระราชทานพระราชดำรัสหลักปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” และ “ทฤษฎีแกล้งดิน” ซึ่งเป็นโครงการในพระราชดำริ “น้องแกล้งดิน” รักการเกษตรแสวงหาความรู้หลากหลายสาขาวิชานำมาคิดบูรณาการวิจัยเพื่อนำมาพัฒนาบ้านเมืองของเรา มีหน้าตาน่ารัก เป็นมิตร ดูเฉลียวฉลาด มีสุขภาพกายใจที่แข็งแรง มีความภูมิใจและเต็มใจพร้อมให้ความช่วยเหลือ ประชาสัมพันธ์ เผยแพร่กิจกรรมต่างๆ ที่ วช. มอบให้แก่ทุกคน

              ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการ วช. กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการจัดงานในครั้งนี้เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ผู้ทรงเป็น “พระบิดาแห่งการวิจัยไทย” และเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 และพระบรมวงศานุวงศ์ ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่องานวิจัยไทย นอกจากนี้ยังเป็นเวทีเชื่อมโยงการวิจัยของไทยที่มีศักยภาพไปสู่กลุ่มผู้ใช้ประโยชน์ในระดับประเทศและนานาชาติ รวมถึงการสร้างสรรค์ สร้างแรงขับเคลื่อนและให้เกิดกลไกสนับสนุนการพัฒนาการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ซึ่งเป็นฐานความรู้ไปสู่กลุ่มผู้ใช้ประโยชน์ ทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ  

                 “เพื่อเป็นเวทีระดับชาติในการนำเสนอผลการวิจัยที่มีศักยภาพพร้อมใช้ประโยชน์ พูดง่ายๆ ก็คือเป็นงานวิจัยที่กินได้ ขายได้และเป็นกลไกสำคัญในการบูรณาการเชื่อมโยงความร่วมมือระหว่างองค์กรและเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศในการเร่งผลักดันให้เกิดการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ในมิติต่างๆ เพื่อการพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต” 

                โดยภายในงานมีกิจกรรมมากมายทั้งภาคนิทรรศการที่นำเสนอนิทรรศการน้อมรำลึกถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยนำเสนอในรูปแบบของ “สวนแห่งการเรียนรู้นวัตกรรมการวิจัยใต้ร่มพระบารมี” นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ รัชกาลที่ 10 ในรูปแบบ “ล้นเกล้าชาวไทย ใต้ร่มพระบารมี” และนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในรูปแบบ “สานต่อพระบิดา พัฒนาเพื่อปวงไทย” ตลอดจนการนำเสนอผลงานวิจัยมากกว่า 600 เรื่อง ภาคการประชุม 102 หัวข้อเรื่อง

                และกิจกรรมส่งเสริมการวิจัยต่างๆ เช่น กิจกรรมการนำเสนอบทความผลงานวิจัย “Thailand Research Expo : Symposium 2019” ที่เปิดโอกาสให้เจ้าของบทความผลงานวิจัยที่ผ่านการพิจารณาได้นำเสนอจำนวน 70 ผลงาน กิจกรรมการประกวดผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษา เป็นกิจกรรมสร้างและพัฒนานิสิตนักศึกษาให้เป็นนักวิจัย/นักประดิษฐ์ โดยนำเสนอผลงานนวัตกรรมและประกวดแข่งขันใน 4 กลุ่มเรื่อง จำนวน 135 ผลงาน 

               นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมไทยแลนด์ รีเสิร์ช เอ็กซ์โป 2019 เพื่อมอบรางวัลให้แก่หน่วยงานที่นำเสนอผลงานวิจัยในภาคนิทรรศการได้อย่างโดดเด่นและมีคุณภาพ กิจกรรมบนเวที ไฮไลท์ สเตจ ซึ่งเป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้ การอบรม และการแสดงศิลปวัฒนธรรม อาทิ การนำเสนอนวัตกรรมสร้างสรรค์การแสดงหุ่นกระบอกไทย เรื่องพระเนมิราชชาดก และพันท้ายนรสิงห์ การสาธิตเรื่อง “ผลิตภัณฑ์น้ำปรุงรสอาหารไทย 4 ภาค” ภายใต้แผนงานครัวไทยสู่ตลาดโลก เป็นต้น  ทั้งยังมีการจำหน่ายสินค้าในหลากหลายกลุ่ม เรียกได้ว่ามางานเดียวผู้เข้าชมงานจะได้ประโยชน์ครบทุกเรื่อง 

                            ตัวอย่าง 9 ผลงานวิจัยเด่น 

             สำหรับตัวอย่างผลงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม จำนวน 9 ผลงานที่ได้เข้าร่วมนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวานนี้ (2 เม.ย.) ประกอบด้วย 1.หุ่นยนต์ช่วยประเมิน ดูแล ฟื้นฟู บริการผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ผลงานวิจัยของ ศ.ดร.วิบูลย์ แสงวีระพันธุ์ศิริ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นหุ่นยนต์ที่ได้รับการออกแบบพื้นฐานระบบปฏิบัติการและระบบเชื่อมต่อที่สามารถรองรับเทคโนโลยีระบบตรวจรู้ต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับการประเมินสภาวะของผู้ป่วยที่ถูกเฝ้าระวัง 

              2.ระบบสั่งการโรงไฟฟ้าอัจฉริยะ ผลงานวิจัยของ วิชญ พิมพ์ใจพงศ์ สังกัดการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นระบบสั่งการโรงไฟฟ้าอัจฉริยะที่สามารถประมวลผลและคำนวณแนวทางสั่งการกลุ่มโรงไฟฟ้าที่กำหนดให้มีกำลังผลิตที่เหมาะสมกับสถานการณ์ ณ ขณะนั้น (เรียลไทม์) โดยยังคงรักษาเสถียรภาพของระบบไว้ตามมาตรฐาน ซึ่งมีต้นทุนการผลิตอุปกรณ์เพียง 30,000 บาทต่อชุด สามารถสั่งการเดินเครื่องได้เต็มกำลังผลิตและมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำที่สุด

              3.เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อความมั่นคงของทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า (Smart Patrol) ผลงานวิจัยของ วิโรจน์ รัตนพรเจริญ สังกัดกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เป็นระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพโดยมีองค์ประกอบที่สำคัญได้แก่ 1.มีเจ้าหน้าที่ลาดตระเวน 2.มีสายข่าวที่เข้มแข็ง 3.มีอุปกรณ์ทันสมัยและการสนับสนุนการลาดตระเวนที่เพียงพอ 4. มีระบบฐานข้อมูลที่ได้มาตรฐาน และ 5.มีการนำข้อมูลมาใช้ในการวางแผนและจัดการอย่างจริงจัง 

                  4.นวัตกรรมถนนอย่างยั่งยืน ผลงานวิจัยของ ศ.ดร.สุขสันติ์ หอพิบูลสุข สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เป็นการพัฒนาถนนที่มีความคงทนแข็งแรง  โดยได้ศึกษาร่วมกับกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท ซึ่งหากนำไปใช้จริงนอกจากจะช่วยให้ถนนมีความคงทนแข็งแรง ลดการเกิดอุบัติเหตุแล้ว ยังช่วยลดงบประมาณในการซ่อมบำรุงถนนในแต่ละปีอีกด้วย 5.การพัฒนาและผลิตเสื้อเกราะกันกระสุนน้ำหนักเบาระดับ NIJ III ผลงานวิจัยของ พล.ต.สมเกียรติ สัมพันธ์ สังกัดกรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาเสื้อเกราะกันกระสุนที่ผลิตในประเทศไทยให้ได้มาตรฐาน NIJ III สร้างศักยภาพการผลิตเสื้อเกราะภายในประเทศเพื่อลดการนำเข้าแผ่นเกราะจากต่างประเทศ  

                 6.นวัตกรรมกระบวนการผลิตข้าวฮางงอก ผลงานวิจัยของ ผศ.ดร.สุพรรณ ยั่งยืน อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นนวัตกรรมเครื่องเร่งกระบวนการแช่และเพาะงอกข้าวเปลือกสำหรับกระบวนการผลิตข้าวฮางงอก (ข้าวที่มีสาร GABA สูงกว่าข้าวกล้อง 10 เท่า และมีสารต้านอนุมูลอิสระสูง) เป็นการนำวิธีการเร่งการงอกให้เกิดขึ้นในเวลา 24 ชั่วโมง ร่วมกับการอบแห้งด้วยรังสีอินฟราเรดร่วมกับลมร้อนปล่อยทิ้ง 15 นาที ทำให้คุณภาพผลิตภัณฑ์ดีขึ้นทั้งกลิ่นหอมและเนื้อสัมผัส 

                 7.เขียงร้อยบาทสู่มะหาดร้อยล้าน : นวัตกรรมเครื่องสำอาง เซรั่ม ออล อิน วัน  ผสมสารสกัดมะหาด ผลงานวิจัยของ อัศวชัย ช่วยพรหม สังกัดกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นการนำงานวิจัยสารสกัดจากสมุนไพรไทย “มะหาด” สู่การผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ในเชิงพาณิชย์เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนที่สนใจในผลิตภัณฑ์สมุนไพรมากยิ่งขึ้น 8.นวัตกรรมนำส่งสารสำคัญผ่านผิวหนังด้วยอนุภาคนาโนทองคำ (GrandGold) ผลงานวิจัยของ ศ.ดร.นงนุช เหมืองสิน และคณะ  จากภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย   เป็นการทดแทนการนำเข้าอนุภาคทองคำจากต่างประเทศและสามารถใช้อนุภาคทองคำนี้สำหรับเพิ่มประสิทธิภาพสารออกฤทธิ์ต่างๆ ในเวชสำอางได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

                 และ 9.การประยุกต์นวัตกรรมการทำเครื่องประดับโลหะด้วยเทคนิคใหม่ ผลงานวิจัยของ รศ.ดร.พิมพ์ทอง ทองนพคุณ อาจารย์ประจำคณะอัญมณี มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี

 เป็นนวัตกรรมผสมผสานกับการขึ้นรูปร่วมกับวัสดุท้องถิ่น เช่น เปลือกหอย แก้ว เสื่อกก อัญมณี ผ่านการดีไซน์หรือออกแบบที่สร้างสรรค์ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องการเครื่องประดับแนวใหม่ เพิ่มมูลค่าวัสดุที่นำมาใช้ เป็นการสร้างเศรษฐกิจด้วยความคิดสร้างสรรค์

              

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ