ข่าว

จาก"กังหันน้ำชัยพัฒนา" สู่วันนักประดิษฐ์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สืบสานปณิธาน "ในหลวง ร.9"จาก "กังหันน้ำชัยพัฒนา" สู่วันนักประดิษฐ์

 

               อลังการงานสร้างสำหรับการจัดงาน “วันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2562” โดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับหน่วยงานในระบบวิจัยและเครือข่ายพันธมิตร มหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย จัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-6 กุมภาพันธ์ ณ  ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ภายใต้แนวคิด “สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมเพื่อความก้าวไกลของประเทศ” มีผลงานนวัตกรรมทั้งของไทยและต่างประเทศนำมาจัดแสดงในครั้งนี้มากกว่า 1,300 ชิ้น ตั้งแต่ผลงานนวัตกรรมอย่างง่ายที่สามารถนำไปประยุกต์และทดลองใช้จริงไปจนถึงเทคนโลยีชั้นสูงที่พร้อมถ่ายทอดไปสู่เชิงอุตสาหกรรมเชิงพาณิชย์

จาก"กังหันน้ำชัยพัฒนา" สู่วันนักประดิษฐ์

 

จาก"กังหันน้ำชัยพัฒนา" สู่วันนักประดิษฐ์

จาก"กังหันน้ำชัยพัฒนา" สู่วันนักประดิษฐ์

    จาก"กังหันน้ำชัยพัฒนา" สู่วันนักประดิษฐ์

            “เป็นการสืบสานแนวพระดำริในด้านงานวิจัยที่รัฐบาลได้สนับสนุนการสร้างนวัตกรรมในแขนงต่างๆ โดยเริ่มจากวางรากฐานตั้งแต่ทรัพยากรบุคคลให้เพียงพอและมีศักยภาพ สอดคล้องกับความต้องการของสังคมและเศรษฐกิจทั้งในปัจจุบันและอนาคต”

                 พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวตอนหนึ่งในระหว่างเป็นประธานในพิธีเปิดงาน เนื่องจากตลอดรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9  พระองค์มีพระราชกรณียกิจที่สำคัญนานัปการเพื่อความอยู่เย็นเป็นสุขของปวงชนชาวไทย ทรงใช้หลักวิชาการด้วยการวิจัย พัฒนา ทดลองและสร้างผลงานการประดิษฐ์ คิดค้น ศึกษาแนวคิดทฤษฎี เทคโนโลยีและพระราชทานให้ผู้เกี่ยวข้องได้นำไปทดลอง ปรับใช้ พระราชทานคำแนะนำ ข้อปรับปรุงจนได้ผลดี อันเนื่องมาสู่โครงการพระราชดำริกว่า 4,000 โครงการ ทรงสนพระราชหฤทัยด้านการช่าง เครื่องจักรกลต่างๆ ตั้งแต่ครั้งทรงพระเยาว์ โดยใช้เทคโนโลยีและวัสดุที่เรียบง่าย ไม่ซับซ้อน สามารถซ่อมบำรุงได้ง่าย และเกิดประโยชน์มหาศาลต่อความเป็นอยู่ของประชาชนชาวไทยทุกคนแสดงออกถึงพระอัจฉริยภาพและพระปรีชาของพระองค์ในด้านการประดิษฐ์ ผลงานวิจัย เป็นแบบอย่างในการคิดค้นสิ่งใหม่ๆ เพื่อประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างต่อเนื่อง 

จาก"กังหันน้ำชัยพัฒนา" สู่วันนักประดิษฐ์

                 “เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอยหรือกังหันน้ำชัยพัฒนา เป็นการแสดงถึงพระอัจฉริยภาพและพระปรีชาญาณอันสุงยิ่งด้านการประดิษฐ์คิดค้นที่พระราชทานพระราชดำริให้ประดิษฐ์ขึ้นจากที่ทรวงห่วงใยในความเป็นอยู่และทุกข์สุขของอาณาประชาราษฎร์ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากน้ำเน่าเสีย เป็นผลงานประดิษฐ์คิดค้นขั้นสูงที่มีประสิทธิภาพ มีคุณค่าทางเศรษฐกิจและเป็นประโยน์ต่อประเทศชาติอย่างมหาศาล” 

                   จากนั้น ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ได้กล่าวถึงความเป็นมาของงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2562 (Thailand Inventors’ Day 2019) ว่าปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 21 โดยจัดเป็นประจำทุกปีเพื่อระลึกถึงวันประวัติศาสตร์ของการจดทะเบียนและทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรการประดิษฐ์ “เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย” หรือ กังหันน้ำชัยพัฒนา แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ซึ่งเป็นสิทธิบัตรในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของไทย และเป็นครั้งแรกของโลก  ซึ่งในครั้งนี้ดำเนินงานภายใต้แนวคิด “สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม เพื่อความก้าวไกลของประเทศ”

จาก"กังหันน้ำชัยพัฒนา" สู่วันนักประดิษฐ์

                สำหรับบรรยากาศภายในเป็นไปอย่างคึกคักเกิดการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนและเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างนักเรียน นักศึกษา นักวิจัยและนักประดิษฐ์ มีการนำเสนอสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมที่พร้อมใช้งานในมิติต่างๆ ของสังคม รวมทั้งความก้าวหน้าด้านการประดิษฐ์คิดค้นของประเทศให้เกิดการขยายผล อาทิ เครื่องผสมน้ำหวานและเครื่องดื่มอัจฉริยะ การใช้เข็มผ่าตัดโรคนิ้วล็อกผ่านผิวหนังโดยใช้เครื่องอัลตราซาวด์ นำเครื่องฟอกอากาศภายในบ้าน เครื่องกำจัดกลิ่นเหม็น โดยใช้ตาข่ายสนามไฟฟ้าโคโรนาแบบพัลส์ ฟิล์ม ทู ฟลาย สำหรับใช้ถนอมอาหารชนิดบริโภคได้ กระดูกเทียมที่ผลิตจากเปลือกหอยเคลือบข้าว หุ่นยนต์แขนกลสแกนเพื่อธุรกิจเอสเอ็มอี ไส้กรองน้ำกำจัดสารหนู ชุดป้องกันสารพิษระดับสูงเพื่อนำมาใช้ป้องกันสารพิษ เป็นต้น

                พร้อมกันนี้มีการมอบรางวัล 2018 TWAS Prize for Young Scientists in Thailand และพิธีมอบรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติเพื่อเชิดชูเกียรตินักวิจัยไทยที่มีผลงานโดดเด่นสร้างคุณูปการให้แก่วงวิชาการและประเทศชาติ รวมทั้งเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมการสร้างแรงจูงใจของนักประดิษฐ์และนักวิจัยที่จะพัฒนานวัตกรรมทางความคิดและภูมิปัญญาที่เป็นประโยชน์ โดยแบ่งเป็น รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ รางวัลผลงานวิจัย รางวัลวิทยาพนธ์ รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น 

จาก"กังหันน้ำชัยพัฒนา" สู่วันนักประดิษฐ์

                 โดยรางวัลที่ได้รับความสนใจจากผู้เข้าชมงานในปีนี้มีหลากหลายชิ้นงาน เช่น นวัตกรรมการคงสภาพสมุนไพรสดโดยใช้ RF Dry Blanching ยับยั้งการทำงานของเอนไซน์ คงสภาพสีและกลิ่นรสของสมุนไพรในฟิล์มบริโภคได้พร้อมปรุงของ ผศ. ดร.ปุณฑริกา รัตนตรัยวงศ์ และผลงานโครงสร้างระดับนาโนเมตรที่ซับซ้อนและการประยุกต์ใช้งานด้านพลังงานและเซ็นเซอร์ ของ ศ.ดร.สนอง เอกสิทธิ์ และคณะ เป็นต้น

                 จากการพูดคุยกับ ศ.ดร.เสมอชัย พูลสุวรรณ จากคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติประจำปี 2562  สาขาสังคมวิทยา จากคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผยว่า งานวิจัยช่วยสร้างความรู้ความเข้าใจและให้ข้อมูลที่รอบด้านถือเป็นพื้นฐานที่ดีในการพัฒนาประเทศ ฉะนั้นงานวิจัยจะต้องเริ่มจากการวางรากฐานผ่านการศึกษาที่ดี รวบรวมข้อมูลและกลั่นกรองออกมาสู่การถ่ายทอด 

                เช่นเดียวกับ ศ.ดร.อารยะ ปรีชาเมตตา จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ได้รับคัดเลือกรับรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติประจำปี 2562 สาขาเศรษฐศาสตร์ ยอมรับว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาการเหลื่อมล้ำถือเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ซับซ้อนหลายมิติเราอาจเข้าใจคลาดเคลื่อน ฉะนั้นการวบรวมข้อมูลและดำเนินการงานวิจัยจะทำให้ทราบถึงปัญหาที่แท้จริงได้เป็นอย่างดี         

จาก"กังหันน้ำชัยพัฒนา" สู่วันนักประดิษฐ์

 

            จาก"กังหันน้ำชัยพัฒนา" สู่วันนักประดิษฐ์

      นอกจากนี้ภายในงานมีการจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร นิทรรศการน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช “พระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย” นิทรรศการรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ นิทรรศการสิ่งประดิษฐ์ที่ได้รับรางวัลจากเวทีนานาชาติ นิทรรศการสิ่งประดิษฐ์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนบัญชีสิ่งประดิษฐ์ไทย และบัญชีนวัตกรรมไทย และนิทรรศการสิ่งประดิษฐ์จากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน รวมกว่า 1,300 ชิ้น

                   โดยแบ่งออกเป็น 7 กลุ่มเรื่อง ได้แก่ 1.สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมเพื่อการเกษตร 2.สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมเพื่อพลังงาน 3.สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรม 4.สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมเพื่อการแพทย์และสาธารณสุข 5.สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมเพื่อทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม 6.สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมเพื่อการศึกษาและภูมิปัญญาไทย และ 7.สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมเพื่อความมั่นคงปลอดภัย  พร้อมกันนี้มีการจัดมหกรรมสิ่งประดิษฐ์นานาชาติจากหลายประเทศ อาทิ น้ำมันหอมระเหยสกัดจากเยื่อไผ่ของนักศึกษาอินโดนีเซีย และนวัตกรรมเด่นอีกมากมายจากสาธารณรัฐโครเอเชียและสาธารณรัฐโปแลนด์ เป็นต้น  

                  สำหรับผู้ที่สนใจสามารถเข้าชมงาน (ฟรี) ได้ตั้งแต่วันนี้-6 กุมภาพันธ์ ณ อีเวนท์ ฮอลล์  102–104 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพมหานคร เพื่อร่วมสืบสานพระราชปณิธานของ “พระบิดาแห่งนักประดิษฐ์ไทย” และเป็นส่วนหนึ่งของการชื่นชม ศึกษาและนำสิ่งประดิษฐ์ ผลงานวิจัยมาต่อยอดในการพัฒนาชุมชน สังคมและประเทศต่อไป เพราะสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม คือฟันเฟืองที่สำคัญในการสร้างความก้าวไกลของประเทศ                   

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ