ข่าว

คลอด 2 มาตรการของขวัญปีใหม่เพื่อ "เอสเอ็มอี"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รองนายกรัฐมนตรีควง รมว.อุตสาหกรรม สั่งเร่งสรุปมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีเสนอ ครม. ให้ทันเป็นของขวัญปีใหม่ เคาะ 2 มาตรการ

รองนายกรัฐมนตรีควง รมว.อุตสาหกรรม สั่งเร่งสรุปมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีเสนอ ครม. ให้ทันเป็นของขวัญปีใหม่ เคาะ 2 มาตรการ กองทุนฟื้นฟูให้โอกาสคนติดกับดักทางการเงิน คนเคยล้มลุกสู้สร้างอาชีพใหม่ และรักษาธุรกิจเดิม 1.8 พันล้านบาท และสินเชื่อพิเศษช่วยเสริมสภาพคล่องกลุ่มค้าส่ง-ค้าปลีก-ร้านโชห่วยทุกพื้นที่ คาดช่วยเอสเอ็มอีรายเล็ก ๆ ได้นับแสนราย

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมเพื่อเร่งรัดจัดทำข้อสรุปมาตรการความช่วยเหลือให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (SMEs) เพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ทันก่อนสิ้นปีนี้ เพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่จากรัฐบาลถึงเอสเอ็มอีทั่วประเทศ ที่ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME Development Bank ว่า มีความชัดเจนแล้วถึง 2 มาตรการ แยกเป็นเรื่องที่ช่วยกลุ่มธุรกิจที่สะดุดแต่ยังไปต่อได้ ซึ่งจะมีการเติมเงินทุนส่วนหนึ่งไปเริ่มต้นธุรกิจใหม่ กับกลุ่มร้านค้าส่ง-ค้าปลีก-ร้านโชห่วยเล็ก ๆ ร้านธงฟ้าในชุมชน ร้านสินค้าเกษตร เป็นต้น โดยกลุ่มนี้ต้องการเงินทุนหมุนเวียนจำนวนหนึ่งเพื่อสั่งซื้อสินค้าเข้าร้านในช่วงเทศกาลปีใหม่ ซึ่งทั้ง 2 กลุ่ม ถือเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนที่สำคัญที่รัฐบาลจะช่วยเหลือดูแลอย่างเต็มที่

คลอด 2 มาตรการของขวัญปีใหม่เพื่อ "เอสเอ็มอี"

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ทั้ง 2 มาตรการ เป็นส่วนหนึ่งในนโยบายเสริมแกร่งเอสเอ็มอีของกระทรวง เรื่องกองทุนฟื้นฟู SMEs วงเงิน 1.8 พันล้านบาทนั้น เป็นการยุบรวม 2 กองทุนที่เหลือจาก สสว. นำมาปรับให้เกิดความเหมาะสมและคล่องตัว โดยมอบให้ ธพว. ซึ่งมีสาขาทุกจังหวัดทั่วประเทศ เป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งจำเป็นต้องนำเสนอต่อ ครม. ให้ความเห็นชอบ ซึ่งหลักใหญ่ คือ ต้องช่วยเอสเอ็มอี "ล้มแล้วลุก" อีกครั้งให้ได้ โดยเงินทุนที่ช่วยเหลือแต่ละรายต้องไม่มีดอกเบี้ยให้เป็นภาระแก่ผู้ประกอบการ ระยะเวลาผ่อนก็ต้องยาวนานพอที่กิจการจะฟื้นตัว แม้ว่าวงเงินต่อรายอาจไม่มาก เพื่อให้กระจายความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการมากที่สุด แต่ถ้ากิจการเริ่มเข้มแข็งแล้ว จะให้ ธพว. สนับสนุนสินเชื่ออื่นเพิ่มเติมให้

 

คลอด 2 มาตรการของขวัญปีใหม่เพื่อ "เอสเอ็มอี"

"เราไม่ได้ช่วยแค่เฉพาะช่วงเริ่มต้นเท่านั้น แต่จะช่วยเสริมแกร่งให้ตลอดทาง โดยได้มอบให้ ธพว. ออกมาตรการช่วยเหลือที่ไม่ใช่การเงินควบคู่ด้วย ทั้งเรื่องเสริมความรู้ทางการเงินที่เอสเอ็มอีต้องรู้ การช่วยเหลือทางการตลาดให้ขายสินค้าได้ การปรับปรุงกิจการโดยใช้เทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและเรื่องที่จำเป็นอื่น ๆ"

ส่วนสินเชื่อพิเศษช่วยเหลือปรับเปลี่ยนยกระดับวิธีการขายช่วยผู้ประกอบการค้าส่งค้าปลีกร้านโชห่วยเล็ก ๆ ในชุมชนที่มีนับแสนราย ให้ขายสินค้าหลากหลายจำเป็นกับชุมชน โดยเติมสภาพคล่องในการสั่งซื้อสินค้าเตรียมพร้อมจำหน่ายในช่วงเทศกาลปีใหม่และตรุษจีนที่จะถึง แต่ละร้านค้าใช้วงเงินไม่มากประมาณ 200,000-300,000 บาท แต่จะก่อให้เกิดการหมุนเวียนเศรษฐกิจในชุมชนได้ 5-7 รอบ ซึ่งถ้ารวมทุกแห่งถือเป็นการสร้างมูลค่าเศรษฐกิจของประเทศได้มหาศาล

นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธพว. กล่าวว่า ของขวัญปีใหม่ที่จะนำเสนอต่อ ครม. ได้แก่ การขยายระยะเวลาโครงการสินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน (Local Economy Loan) ที่กำลังจะหมดในวันที่ 18 ธ.ค. 2561 นี้ และมีวงเงินเหลืออยู่ 3.5 หมื่นล้านบาท โดยให้ขยายระยะเวลาโครงการไปถึง 18 ธ.ค. 2562 หรือจนกว่าหมดวงเงินสินเชื่อรวมโครงการ พร้อมกับขยายกลุ่มธุรกิจเป้าหมายของสินเชื่อนี้จากกลุ่มเกษตรแปรรูป ธุรกิจท่องเที่ยว และมีนวัตกรรม โดยให้เพิ่มกลุ่มค้าส่งค้าปลีก ร้านโชห่วย ร้านค้าชุมชน ร้านธงฟ้า ผู้ประกอบการค้าสินค้าเกษตร เข้าไว้ด้วย ภายใต้ชื่อ "โครงการประชารัฐเสริมแกร่งการค้าสู่ชุมชน" เพื่อเสริมให้เก่งปรับเปลี่ยนยกระดับใช้เทคโนโลยีปักหมุดสู่สากลให้อยู่บนถนนดิจิทัล เพิ่มมูลค่า แปรรูป ขายเอง กำหนดราคาได้เอง วางเป้าหมายจะสนับสนุนผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกค้าส่งเข้าถึงสินเชื่อนี้ได้ครบทุกตำบลทั่วประเทศ ซึ่งจะก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ ในระดับชุมชนอย่างกว้างขวาง รวมถึงเชื่อมโยงกับระบบถุงเงินประชารัฐของกระทรวงการคลัง และโชห่วย-ไฮบริดของกระทรวงพาณิชย์ ตลอดจนพัฒนาระบบรวมซื้อผ่านไปรษณีย์ไทยเพื่อลดต้นทุนของร้านโชห่วย

คลอด 2 มาตรการของขวัญปีใหม่เพื่อ "เอสเอ็มอี"

อีกทั้งยังได้ร่วมกับพันธมิตรภาคเอกชน รัฐวิสาหกิจต่าง ๆ  บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้บริหารสถานีบริการน้ำมัน PTT Station และสถาบันการเงินรัฐอื่น ๆ เพื่อส่งเสริมเอสเอ็มอีไทยอย่างครบวงจร เช่น อบรมความรู้ ขยายช่องทางตลาด จับคู่ธุรกิจ และยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ เป็นต้น

นอกจากนี้ ธพว. จะเสนอ ครม. พิจารณาตั้งโครงการประชารัฐสร้างโอกาสคนตัวเล็กล้มแล้วลุก วงเงิน 1.8 พันล้านบาท ซึ่งยุบรวมกองทุนฟื้นฟูเอสเอ็มอีและกองทุนพลิกฟื้นเอสเอ็มอีของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เข้ามาไว้ด้วยกัน โดยมอบหมายให้ ธพว. เป็นหน่วยร่วมทำหน้าที่บริหารกองทุน โดยมีวัตถุประสงค์ช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่ติดกับดักทางการเงินซ่อมให้แกร่ง เช่น มีปัญหาเรื่องประวัติการชำระเงิน จึงไม่สามารถเข้าถึงเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ หรือ มีปัญหาชักหน้าไม่ถึงหลัง ขาดสภาพคล่อง เป็นต้น ให้ได้รับโอกาสเริ่มต้นประกอบอาชีพใหม่อีกครั้ง ซึ่งการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อจะดูจากความสามารถในการชำระหนี้จากหนี้ที่ให้กู้ยืมใหม่เป็นหลัก

สำหรับโครงการประชารัฐสร้างโอกาสคนตัวเล็กล้มแล้วลุก วงเงินให้กู้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อราย ระยะเวลาชำระเงินกู้ 7 ปี ไร้ดอกเบี้ย แบ่งเป็น เบื้องต้น ให้เป็นทุนช่วยเหลือฉุกเฉิน 50,000 บาท และหากมีการชำระหนี้ที่ดีต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 6 เดือน จะเติมทุนให้อีก 50,000 บาท หลังจากนั้นเมื่อธุรกิจที่ทำมีผลประกอบการที่ดี เข้าสู่ระบบถูกต้อง และต้องการจะต่อยอดหรือขยายธุรกิจ สามารถมาใช้บริการสินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษของ ธพว. เพิ่มเงินทุนให้สูงสุดอีก 1 ล้านบาท  คาดว่าจะมีผู้ประกอบการที่ได้รับประโยชน์ประมาณ 30,000 คน

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ