ข่าว

 ชี้ชะตา"อนาคตพลังงานไฟฟ้าไทย"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 ชี้ชะตา"อนาคตพลังงานไฟฟ้าไทย"กฟผ.ปิ๊งไอเดีย"โซลาร์เซลล์ลอยน้ำ"

 

                 เขื่อนแตก ดินถล่ม ชุมนุมประท้วงไม่เอาถ่านหิน แก๊ส น้ำมันก็ร่อยหรอลงทุกวัน ผู้คนจึงหันมาสนใจพลังงานทางเลือก ประเภทสายลม แสงแดด ถือเป็นพลังงานสะอาดที่เติบโตแบบก้าวกระโดดเข้ามาสู่วิถีชีวิตของผู้คนในทุกระดับวันนี้ ได้สร้างความหวั่นวิตกแก่หน่วยงานหลักในการผลิตกระแสไฟฟ้าอย่าง กฟผ. หรือผู้ให้บริการกระแสไฟฟ้าอย่าง กฟภ.และ กฟน. ตลอดจนผู้ผลิตน้ำมันและแก๊สอย่าง ปตท. ที่ต่างต้องเร่งปรับตัวเพื่อให้ทันต่อสถานการณ์และความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป 

 

 ชี้ชะตา"อนาคตพลังงานไฟฟ้าไทย"

 

                "กฟผ.เองตอนนี้เน้นอยู่ 2 เรื่อง คือโรงไฟฟ้าและระบบส่ง เพราะถ้ามองความมั่นคงของการไฟฟ้าเปิดปุ๊บต้องมีไฟฟ้าใช้ มีความถี่และแรงดันที่เหมาะสม ลูกค้าหลักก็มีอยู่ 2 รายคือ กฟภ. และ กฟน. แล้วก็มีลูกค้าใช้ไฟฟ้าตรงอีกจำนวนหนึ่ง"

                 บุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร รองผู้ว่าการพัฒนาธุรกิจ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เผยบนเวทีเสวนา "อนาคตการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าไทย” ณ ห้องพิมานสยาม โรงแรมดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อก ระหว่างการแถลงข่าวจัดงานประชุมวิชาการและนิทรรศการระดับโลก IEEE PES GTD ASIA 2019 ซึ่งจะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 19-23 มีนาคม 2562

              โดยระบุว่าโรงผลิตกระแสไฟฟ้าของกฟผ.นั้น ปัจจุบันมีทั้งโรงไฟฟ้าเก่าและกลางเก่ากลางใหม่ ซึ่งไม่สอดรับพลังงานที่เข้ามาอย่างโซลาร์เซลล์ ทำให้กระแสไฟฟ้าทุกวันนี้มีความผันผวนค่อนข้างสูง โรงไฟฟ้าที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นเทคโนโลยีที่ไม่ค่อยยืดหยุ่นเท่าไหร่นัก ไม่สามารถเร่งเครื่องหรือลดความแรงของการผลิตไฟฟ้าลงได้มากนัก การเปิดเครื่องแต่ละครั้งต้องใช้เวลาในการอุ่นเครื่องนาน กว่าจะสตาร์ทขึ้นมาใหม่  

                “ตอนนี้กฟผ.เองมีการศึกษาการลงทุนเพื่อจะปรับปรุงคุณภาพทำให้โรงไฟฟ้ามีความยืดหยุ่นมากขึ้น ซึ่งเป็นไปตามแผนพัฒนาการผลิตไฟฟ้า 20 ปี  ในขณะเดียวกันวันนี้เราก็ได้มีการทดลองทำโซลาร์เซลล์แบบลอยน้ำ ซึ่งกฟผ.มีอ่างเก็บน้ำตามเขื่อนต่างๆ ทั่วประเทศเยอะมาก เราก็จะใช้พื้นที่ตรงนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อเปลี่ยนเป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อน มีการทดลองใช้แบตเตอรี่เก็บความร้อนจากพลังงานแสงอาทิตย์ ก่อนจะแปลงเป็นกระแสไฟฟ้าส่งขายให้แก่ลูกค้าต่อไป”

                 รองผู้ว่าการ กฟผ. เผยต่อว่า หากประสบความสำเร็จก็จะทำให้กฟผ.มีกระแสไฟฟ้าสำรองทำให้ความมั่นคงด้านการไฟฟ้ามีมากขึ้น ซึ่งอันนี้เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่กฟผ.เตรียมจะนำเข้ามา ส่วนการจ่ายกระแสไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ก็สามารถทำได้พร้อมๆ กันกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ในส่วนระบบส่งก็จะมีศูนย์ควบคุมพลังงานทดแทน ซึ่งขณะนี้มีโครงการทดลองอยู่ที่ จ.ลพบุรี

                   ไม่เฉพาะกฟผ.เท่านั้นที่หันมาพึ่งพลังงานแสงอาทิตย์จากโซลาร์เซลล์ในการผลิตกระแสไฟฟ้า แต่ผู้ให้บริการกระแสไฟฟ้าอย่างการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.)ก็มีนโยบายหันมาใช้โซลาร์เซลล์เช่นกัน จะต่างกันก็เพียงกฟผ.เป็นผู้ผลิต ในขณะที่กฟภ.เป็นผู้ให้บริการรับติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์แก่ลูกค้าในกลุ่มเป้าหมายตั้งแต่อาคารบ้านเรือน ไปจนถึงโรงงานอุตสาหกรรม

                  “ตอนนี้เรามีศูนย์ติดตั้งโซลาร์ท็อปโดยเฉพาะ ไม่ใช่แค่ติดตั้งอย่างเดียวแต่จะคำนวณต้นทุนมาให้หมดเลยในทุกผลิตภัณฑ์ ต้นทุนถูกกว่าแก๊สและน้ำมัน ประหยัดกว่า มีเงินเหลือด้วย สิ่งหนึ่งที่กฟภ.ให้ความสำคัญคือความปลอดภัย ได้มาตรฐาน เพราะอย่าลืมว่าโซลาร์ท็อปติดอยู่บนหลังคาบ้าน ดาดฟ้าโรงงาน มีความร้อน ฉะนั้นต้องทำตามขั้นตอนที่ถูกต้อง เรามีศูนย์ มีโชว์รูมว่าการติดตั้งที่ถูกต้องทำอย่างไร ทั้งหมดตอบโจทย์ให้แก่กฟภ. ไม่ใช่แค่ขายกระแสไฟฟ้าอย่างเดียว”

 

 ชี้ชะตา"อนาคตพลังงานไฟฟ้าไทย"

 

                  เสริมสกุล คล้ายแก้ว ผู้ว่าการ กฟภ. กล่าวถึงทิศทางการดำเนินงานของกฟภ.เพื่อให้สอดรับกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล กฟภ.ได้เปิดแอพพลิเคชั่นในหลายเวอร์ชั่นโดยเฉพาะแอพพลิเคชั่น พีอีเอ สมาร์ท พลัส (PEA SMART PLUS) จะตอบโจทย์ลูกค้าผู้ใช้บริการในอาคารบ้านเรือนมากที่สุด เพราะสามารถตรวจสอบค่าใช้จ่าย ค่าไฟฟ้าในแต่ละเดือน ปัญหาไฟดับ การก่อสร้างผู้ใช้บริการสามารถตรวจสอบได้ในทันที นอกจากนี้ยังมีนโยบายเปลี่ยนมิเตอร์ไฟฟ้าเป็นระบบดิจิทัล โดยโครงการนี้ได้นำร่องที่พัทยา และมีโครงการทำสมาร์ทกริดเฟส 2 ในอีก 4 จังหวัด ขณะเดียวกันยังขยายผลโครงการไมโครกริชจากบ้านขุนแปะ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ไปยังอ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน อีกด้วย 

 

                  ส่วนแนวทางการพัฒนาระบบไฟฟ้าของกฟน. รุจ เหราปัตย์ รองผู้ว่าการฝ่ายธุรกิจและบริการ การไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) ระบุว่า กฟน.เป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงมหาดไทย รับกระแสไฟฟ้ามาจากกฟผ.และบางส่วนรับมาจากเอสซีจีให้บริการลูกค้าในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยขณะนี้มีการทดลองทำสมาร์ทกริดเป็นโครงการไพลอตโปรเจกท์ครบวงจรพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพฯ และจะขยายไปทั่วพื้นที่รับผิดชอบในอนาคต ขณะเดียวกันก็ได้เตรียมติดตั้งหม้อแปลงไฟฟ้าตามสถานีรถไฟฟ้าเพื่อสำรองไว้ด้วย

 

                     “เราไม่สามารถพูดถึงความมั่นคงได้แค่ไหน แต่ในภูมิภาคอาเซียนเราตั้งเป้าว่ามีความมั่นคงด้านไฟฟ้าเป็นอันดับสองในภูมิภาคอาเซียน รองจากสิงคโปร์ เน้นการซ่อมแซมที่รวดเร็วใช้เวลาน้อยที่สุด หรือรถไฟฟ้าสายไหนขึ้นลงตรงไหนเราก็ต้องเตรียมไฟไว้ เราทดลองทำสมาร์ทกริดเป็นไพลอตโปรเจกท์ครบวงจรในพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพฯ ย่านพญาไท ราชเทวี รวมถึงยุทธศาสตร์การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เราจำเป็นให้พนักงานทำงานให้สอดคล้องกับสังคมยุคใหม่” 

                 ขณะที่ ปตท.ซึ่งเป็นหน่วยงานต้นน้ำของการผลิตไฟฟ้าของประเทศก็ยังหวั่นวิตกถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดย วิทวัส สวัสดิ์-ชูโต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ฝ่ายนวัตกรรมและดิจิตอล บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) มองว่า ความต่อเนื่องของกระแสไฟฟ้ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเดินเครื่องของโรงกลั่นน้ำมัน ซึ่งกระแสไฟฟ้าจะตกหรือดับไม่ได้เลยแม้แค่เสี้ยววินาที เพราะนั้นหมายถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นหลักร้อยล้าน 

                 "โรงกลั่นของเราต้องการซูเปอร์เวลา ไฟฟ้าแค่กะพริบ .0001 วินาทีทำให้มูลค่าความเสียหายกับปิโตรเคมีเป็นหลักร้อยล้านถึงพันล้าน ฉะนั้นเราจึงจำเป็นต้องสร้างระบบป้องกันมาเสริมระบบไฟฟ้าภาครัฐเพื่อให้กระแสไฟมีความเสถียร  ทุกวันนี้ปตท.เองก็ต้องปรับตัวว่าจะไปในทิศทางใด เราเองก็ไม่คิดว่าเรื่องของน้ำมันคนจะไม่ใช้ก็ยังต้องใช้กันอยู่  แต่เมื่อมาดูภาคของผู้ใช้อย่างเช่นรถอีวี มันก็มีผลกระทบ 

                   ตอนนี้ปตท.มีคำศัพท์ใหม่ขึ้นมาคือโปรซูเมอร์ มาจากโปรดิวเซอร์หรือผู้ผลิต และคอนซูเมอร์คือผู้ใช้ ในอนาคตหลังคาโรงงาน หลังคาบ้านเรือนก็จะติดโซลาร์เซลล์ผลิตใช้เองและส่วนที่เหลือก็ขาย หลายโรงงานในภาคอุตสาหกรรมตอนนี้ก็เริ่มมีแล้ว เรากำลังดูตลอดเชนตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ อะไรที่ปตท.ทำได้ มีอินโนเวชั่นอะไรได้เราก็จะเสริมให้เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงพลังงาน" รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ฝ่ายนวัตกรรมและดิจิตอล ปตท. กล่าวย้ำทิ้งท้าย 

 

 เปิดโลกทัศน์"ไฟฟ้าและพลังงาน"ครั้งแรกในเอเชีย

                  ผศ.ดร.นพพร ลีปรีชานนท์ ประธานการจัดงาน IEEE PES GTD ASIA 2019 กล่าวถึงงานประชุมวิชาการและนิทรรศการนานาชาติ IEEE PES GTD ASIA 2019  ระหว่างวันที่ 19-23 มีนาคม 2562 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ว่าเป็นงานโลกด้านไฟฟ้าและพลังงาน มีองค์ประกอบของงานหลักๆ ประกอบด้วย งาน Power Generation(PG Asia), งาน Transmission and Distribution(T&D Asia), งาน Renewable Energy(RE Asia) บูรณาการกับองค์ประกอบด้าน Digitalization ที่มี Smart City & Data Center รวมเข้าด้วยกัน ภายใต้ธีมที่ชื่อว่า “Big Shift in Power and Energy” โดยมีจะนำเสนอการประชุมเชิงวิชาการและจัดแสดงนิทรรศการที่ครอบคลุมทุกด้านเกี่ยวกับระบบผลิต การส่งและจำหน่ายไฟฟ้า การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับระบบดิจิทัลที่บูรณาการกับการผลิตส่งและจำหน่ายไฟฟ้าและพลังงาน

                    “นับเป็นโอกาสอันดีที่งานระดับโลกอย่าง IEEE PES GTD ได้มาจัดที่ประเทศไทยเป็นครั้งแรก และถือเป็นครั้งแรกในภูมิภาคเอเชีย หลังจากที่มีการจัดมาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลากว่า 40 ปี ที่สหรัฐอเมริกา เป็นการรวมงาน Power Generation(PG Asia), งาน Transmission and Distribution(T&D Asia) และงาน Renewable Energy(RE Asia) เข้าด้วยกัน"  

 

                  นอกจากนี้ ภายในงานยังเป็นเสมือนเวทีพบปะระหว่างผู้ประกอบการชั้นนำจากทั่วทุกมุมโลกที่เข้าร่วมแสดงเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านวิศวกรรมไฟฟ้าและพลังงานทุกรูปแบบ ทั้งระบบผลิต ระบบส่ง ระบบจำหน่าย รวมถึงพลังงานทดแทนต่างๆ อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานชีวมวล ชีวภาพ ตลอดจนยานยนต์ไฟฟ้า ระบบสะสมพลังงาน (Battery Energy Storage System) DataCenter และ IoT ซึ่งเป็นอนาคตใหม่ของการก้าวข้ามขีดจำกัดในการบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้า  

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ