ข่าว

“พลังงาน”รื้อพีดีพีใหม่ ใช้สำรองไฟรายภูมิภาค

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

“พลังงาน”รื้อพีดีพีใหม่ ใช้สำรองไฟรายภูมิภาค

 พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวในงานสัมมนาอนาคตธุรกิจพลังงานไทยว่า กระทรวงพลังงานยังเดินหน้าส่งเสริมพลังงานทดแทน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างปรับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ.2558-2579 (PDP 2015)ให้เสร็จในสิ้นปีนี้ และจะเห็นความชัดเจนทิศทางส่งเสริมพลังงานในภาพรวมของประเทศ โดยเฉพาะการเพิ่มสัดส่วนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนจาก 30% เป็น 40% ของพลังงานทั้งหมด

ขณะเดียวกันในแผน PDPใหม่จะต้องทบทวนปริมาณสำรองไฟฟ้าของประเทศที่ตามเกณฑ์ปกติไม่เกิน 15% ของกำลังการผลิตทั้งประเทศ แต่ปัจจุบันสำรองไฟฟ้าสูงถึง 30% ซึ่งควรจัดทำปริมาณสำรองเป็นรายภูมิภาคแทน รวมถึงกำหนดประเภทเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าตามภูมิภาคให้เหมาะสมด้วย เพื่อสร้างการรับรู้ถึงสถานการณ์การผลิตและการใช้ไฟฟ้าที่เกิดขึ้นจริงในแต่ละภูมิภาค ซึ่งจะทำให้เห็นความจำเป็นในการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ในอนาคต เช่น ภาคใต้ที่กำลังผลิตไฟฟ้าอยู่ในระดับใกล้เคียงกับกำลังผลิตจึงมีความเสี่ยงด้านความมั่นคงไฟฟ้า

นอกจากนี้ กระทรวงพลังงานยังเดินหน้าส่งเสริมการผลิตไฟฟ้ารูปแบบใหม่ซึ่งเป็นการใช้พลังงานแบบผสมผสาน(ไฮบริด) ที่อยู่ระหว่างขั้นตอนการเปิดรับซื้อไฟฟ้า 300 เมกะวัตต์ คาดว่าอีก 2-3 เดือนข้างหน้าจะเห็นกระแสตอบรับจากผู้ลงทุน ซึ่งหากโครงการนี้ดำเนินได้ เชื่อว่าจะทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนปรับลดลงได้ และกระทรวงจะผลักดันโครงการเพิ่มขึ้นในอนาคต

สำหรับการเปิดประมูลสำรวจและผลิตปิโตรเลียม 2 แหล่งที่จะหมดอายุในปี 2555-2556 คือแหล่งเอราวัณและบงกช หากร่างกฎหมายลูกที่เกี่ยวกับระบบแบ่งปันผลผลิต(PSC) และเงื่อนไขการประมูล(TOR) ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาและได้รับการอนุมมัติจากคณะรัฐมนตรี(ครม.)ในสิ้นเดือน ส.ค.นี้ ก็จะสามารถประกาศ TOR ได้ในช่วงเดือน ก.ย.- ต.ค.นี้ และได้ผู้ชนะประมูลต้นปี 2561 ตามแผนที่วางไว้

พล.อ. อนันตพร กล่าวว่า ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำสตึงมนัม ในกัมพูชา ผ่านการเห็นชอบในหลักการจากคณะรัฐมนตรี(ครม.)ซึ่งจากนี้จะต้องดำเนินการศึกษาการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมใน 1 ปี พร้อมจัดทำรายละเอียดโครงการให้มีความชัดเจน โดยคาดว่าปลายปี 2561 จะรู้อัตรารับซื้อไฟฟ้าที่ชัดเจน

นายอารีพงศ์ ภู่ชุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า สำหรับโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา(โซลาร์รูฟท็อป)เสรีทั่วประเทศ คาดว่าจะต้องเลื่อนเปิดโครงการเป็นปี 2561 เนื่องจากขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงานผลการศึกษาข้อดีข้อเสียจากโครงการโซลาร์รูฟท็อปนำร่อง 100 เมกะวัตต์ ที่ทางสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นผู้ศึกษา

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ