ข่าว

กพช.ไฟเขียวให้ กฟผ.เป็นผู้จัดหาแอลเอ็นจีรายใหม่

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กพช.ไฟเขียวให้ กฟผ.เป็นผู้จัดหาแอลเอ็นจีรายใหม่

             พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน วานนี้(31ก.ค.) เห็นชอบในหลักการและแนวทางการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติทั้งระบบ โดยให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เป็นผู้จัดหาก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี)รายใหม่ เพื่อนำร่องทดสอบระบบต่างๆ ในระยะที่ 1 ถือเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนการเปิดแข่งขันเสรีเต็มรูปแบบในอนาคต จากเดิมที่มี บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) หรือ ปตท. เป็นผู้จัดหาแอลเอ็นจีเพียงรายเดียว

              ตามมตินี้ กฟผ.จะต้องจัดหาแอลเอ็นจีในปริมาณไม่เกิน 1.5 ล้านตันต่อปี และเริ่มจัดหาภายในปี 2561 ซึ่งจะใช้หลักเกณฑ์การนำเข้าเช่นเดียวกับ ปตท. รวมถึงให้ กฟผ. แยกธุรกิจการจัดหาและจำหน่ายก๊าซฯออกจากกิจการผลิตไฟฟ้าให้ชัดเจน พร้อมกำหนดให้ ปตท. แยกธุรกิจท่อส่งก๊าซฯทางบัญชีออกจากระบบจัดหาและจำหน่ายก๊าซฯเพื่อทำหน้าที่เป็นผู้บริหารระบบท่อส่งก๊าซฯ(Transmission System Operator หรือ TSO) ภายใต้การกำกับดูแลของ กกพ.

             ทั้งนี้ให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (ชธ.) บริหารนโยบายการจัดหาก๊าซฯ รวมถึงติดตามอุปสงค์และอุปทานของแอลเอ็นจี ให้มีความเหมาะสม สำหรับการดำเนินการในระยะที่ 2 และ 3 คือ ระยะเปลี่ยนผ่านจนถึงเปิดเสรีอย่างเต็มรูปแบบ โดยกพช.ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปศึกษาการดำเนินงาน และให้นำกลับมาเสนอคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) และ กพช. พิจารณาต่อไป

              นอกจากนี้ กพช.ยังรับทราบการรายงานความคืบหน้าผลการศึกษาโครงการก่อสร้างคลังรับแอลเอ็นจีลอยน้ำ(FSRU) ที่ดำเนินการโดย ปตท. ใน 2 พื้นที่ คือ FSRU ในพื้นที่ภาคใต้ บริเวณโรงไฟฟ้าจะนะ ขนาด 2 ล้านตันต่อปี วงเงินลงทุน 2.6 หมื่นล้านบาท และFSRU ในเมียนมา ที่เมืองกันบ็อก ขนาด 3 ล้านตันต่อปี เงินลงทุน 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งโครงการมีความเป็นไปได้ แต่ กพช.ให้ไปศึกษาแผนการลงทุนเพิ่มเติมต่อไป

              กพช. ยังเห็นชอบแนวทางการเปิดเสรีธุรกิจก๊าซปิโตรเลียมเหลว(แอลพีจี) ตามมติ กบง.ในวันที่ 5 ก.ค.2560 ที่ให้ยกเลิกการกำหนดราคาโรงแยกก๊าซธรรมชาติ โรงกลั่นน้ำมันและโรงอะโรเมติก ยกเลิกการประกาศราคาขายส่ง ณ คลังก๊าซ เพื่อให้ตลาดก๊าซแอลพีจีแข่งขันอย่างสมบูรณ์ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 2 ส.ค. 2560 เป็นต้นไป พร้อมเห็นชอบให้ ปตท. สามารถดำเนินธุรกิจคลังก๊าซภายใต้โครงการ LPG Integrated Facility Enhancement (โครงการ LIFE) ที่เขาบ่อยา จ.ชลบุรี ในเชิงพาณิชย์

             ทั้งนี้ กพช. มีมติปรับระบบมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยด้านพลังงาน โดยให้โอนการช่วยเหลือทั้งค่าไฟฟ้าฟรีและการซื้อก๊าแอลพีจีราคาถูกไปอยู่ในบัตรสวัสดิการตามโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐปี 2560 ของกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง โดยการช่วยเหลือจะเปลี่ยนมาใช้งบจากภาครัฐ แทนการใช้งบของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง หรืองบของ ปตท. ซึ่งการช่วยเหลือจะแบ่งเป็นวงเงินช่วยเหลือค่าไฟฟ้าฟรีให้ผู้ที่มีบัตรสวัสดิการในอัตรา 200 บาทต่อคนต่อเดือน และให้ส่วนลดราคาแอลพีจี อัตรา 45 บาทต่อคนต่อ3 เดือน ซึ่งการช่วยเหลือจะขยายฐานเข้าถึงผู้มีรายได้น้อย 14 ล้านคน จากเดิมอยู่ที่ 7 ล้านคน คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ราวเดือนต.ค.นี้

               อย่างไรก็ตาม กพช.ได้มอบหมายให้กระทรวงพลังงานกลับไปทบทวนการช่วยเหลือด้านราคาแอลพีจีสำหรับกลุ่มหาบเร่แผงลอย เนื่องจากยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ชัดว่าการช่วยเหลือในกลุ่มนี้ได้ส่งผลดีต่อประชาชนโดยตรงจริงหรือไม่

                นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) กล่าวว่า กพช. รับทราบความคืบหน้าการดำเนินงานตามแผนการขับเคลื่อนภารกิจด้านพลังงานเพื่อส่งเสริมการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในไทย โดยเห็นชอบให้สถานีอัดประจุไฟฟ้าใช้อัตราค่าไฟฟ้าตามประกาศเรื่องอัตราค่าบริการสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าในระยะแรก เพื่อรองรับการใช้งานรถโดยสารสาธารณะไฟฟ้า (โครงการนำร่อง) ของการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย (เทียบเท่าอัตราค่าไฟของกิจการขนาดกลาง) เป็นการชั่วคราวไปก่อน โดยคิดอัตราค่าไฟฟ้า

            โดยมติดังกล่าวจะเรียกเก็บในลักษณะอัตราชั่วคราวตาม “อัตราการใช้ไฟฟ้าตามช่วงเวลา(TOU)” แบ่งเป็นกลางวันคิดในราคา 4.10 บาทต่อหน่วย และกลางคืน และเสาร์ อาทิตย์ หรือช่วงออฟพีค คิดอัตรา 2.60 บาทต่อหน่วย โดยจะเริ่มใช้ได้ต่อเมื่อ กพช.ได้ส่งมติดังกล่าวให้กับทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.)ได้ทราบและทาง กกพ.จะแจ้งให้การไฟฟ้าประกาศระเบียบเพื่อให้เกิดผลใช้จริงต่อไป

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ