ข่าว

ปัญหายานเกราะยูเครน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

หลังจากเป็นปัญหาเรื้อรังมานาน หน่วยงานกองทัพบกหาทางออกแบบทุลักทุเล ในที่สุดคณะรัฐมนตรีก็ได้เห็นชอบในหลักการทบทวนการจัดซื้อและแก้ไขความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลยูเครนตามโครงการจัดซื้อยานเกราะล้อยาง โดยให้แก้ไขและลงนามเอกสารในความตกลงจัดซื้อยานเกราะล้อ

 ตามมติ ครม. ทำให้การจัดซื้อรถหุ้มเกราะดังกล่าวได้มีการเปลี่ยนตัวเครื่องยนต์ของรถหุ้มเกราะจากยูเครน จากเดิมเป็น Deutz BF 6m015 เป็น MTV 6Ri06TD 21 และเครื่องเปลี่ยนความเร็ว จากเดิม Allison รุ่น MD3066 เป็น Allison รุ่น MD3200sp หลังจากได้แสวงหาเครื่องยนต์จากหลายแหล่ง รวมทั้งเกาหลีใต้ แต่พบว่าไม่เหมาะสมกับยานเกราะ ซึ่งมีที่มาที่ไปอย่างพิสดาร ในการชนะการประมูลท่ามกลางเสียงคัดค้านจากรายอื่นๆ เพราะมองว่ายานเกราะยูเครนเดินเส้นทางลัดพิเศษเข้าสู่เส้นชัย

 การซื้อยุทโธปกรณ์ของกองทัพในอดีตและปัจจุบัน ทำให้เกิดความกังขาว่ามีผลประโยชน์ ค่านายหน้า และผลตอบแทนอย่างงาม เพราะรถรบหลายรุ่นได้ซื้อมาบนพื้นฐานที่ว่า ไม่ต้องพิสูจน์ตัวเองในการรบ เพราะมีไม่ศึกสงคราม แต่เมื่อจำเป็นต้องใช้ ก็ถูกพบข้อบกพร่องมากมาย รวมทั้งการจัดซื้อในปัจจุบันคือเครื่องตรวจระเบิดและเรือเหาะ ซึ่งยังไม่สามารถหาคำตอบได้ว่าทำไมจึงไร้สมรรถนะ ไม่เป็นไปตามที่ต้องการ เสียเงินงบประมาณเป็นจำนวนมาก

 กรณีการจัดซื้อยานเกราะยูเครนก็เช่นกัน ผู้เชี่ยวชาญต่างมองว่าข้อเสนอจากแคนาดาและรัสเซียมีความเหนือชั้นกว่า โดยเฉพาะของรัสเซีย ซึ่งเป็นต้นแบบการผลิตแท้จริง และได้ปรับปรุงอย่างดี ขณะที่รุ่นยูเครนนั้นล้าสมัย ถือว่าเป็นยานเกราะตกรุ่น ไม่เหมาะสำหรับสภาพในประเทศไทยอีกด้วย แต่นายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี อธิบายว่าปัญหาการจัดหาเครื่องยนต์ เช่นสาเหตุที่ทางประเทศเยอรมนีไม่ส่งเครื่องยนต์ให้เพราะสหภาพยุโรปมีหลักเกณฑ์จะไม่ส่งอาวุธให้แก่ประเทศที่มีปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน ปัญหาตามแนวชายแดน หรือปัญหาชนกลุ่มน้อย เพราะเกรงว่ารัฐบาลนั้นจะนำอาวุธที่ซื้อไปใช้ดำเนินการที่รุนแรง

 นายปณิธานได้ยกตัวอย่างเช่น กรณีประเทศอินโดนีเซียขอจัดซื้อเครื่องบินรบจากประเทศอังกฤษแต่ได้ถูกปฏิเสธเพราะมีปัญหาความไม่สงบที่ติมอร์ตะวันออก หรือสหรัฐไม่จัดขายอาวุธให้แก่ประเทศปากีสถาน เช่นเดียวกับประเทศไทยในอดีตที่เคยขอจัดซื้อเครื่องบินรบ (จักรีนฤเบศร) จากประเทศเยอรมนี แต่ได้รับการปฏิเสธ จึงไปจัดซื้อกับประเทศสเปนแทน ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ยานเกราะยูเครนต้องพิสูจน์สมรรถนะในไทยแน่นอน เมื่อไม่เป็นไปตามที่ต้องการ ประชาชนอยากรู้ว่าใครจะรับผิดชอบระหว่างหน่วยงานซึ่งได้เสนอซื้อ หรือว่า ครม. ซึ่งได้อนุมัติตามคำขอร้องของกองทัพ และความสูญเปล่านั้น จะได้รับการชดเชยและชดใช้โดยใคร

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ