ข่าว

เขมรรับให้ญี่ปุ่นเจาะน้ำมันชี้ห่างที่ทับซ้อน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"เตีย บัน" รับให้ญี่ปุ่นสำรวจน้ำมันจริง แต่อยู่นอกพื้นที่ทับซ้อน ทหารไทยแฉเล่ห์เขมรจ้องแอบวางท่อดูดก๊าซในเขตพิพาท จี้บัวแก้วออกโรงค้าน "สุเทพ" เล็งถก "ฮุน เซน" ผ่าทางตัน เผย "กษิต" กลับไทยให้ออกทีวีโต้ข่าวหนุนกัมพูชาตัดถนนเข้าพระวิหาร

ภายหลังนายอาง ซุดเริด ผู้ช่วยนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ให้สัมภาษณ์สื่อในประเทศว่า รัฐบาลกัมพูชาได้ให้สัมปทานการขุดเจาะน้ำมันในพื้นที่ทับซ้อนทะเลระหว่างไทย-กัมพูชา กับบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ในญี่ปุ่นนั้น

 เมื่อวันที่ 24 กันยายน พล.อ.เตีย บัน รัฐมนตรีกลาโหมกัมพูชา กล่าวยอมรับว่า กัมพูชามีการสำรวจหาแหล่งน้ำมันใกล้กับพื้นที่น่านน้ำพิพาทกับประเทศไทย พรมแดนทางน้ำระหว่างไทย-กัมพูชาเกี่ยวพันจริง แต่ไม่ได้เข้าพื้นที่ข้อพิพาท เพราะพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในขั้นของคณะกรรมการทั้งสองฝ่ายหารือกัน แต่ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ยอม ก็ไม่อาจจะเข้าในพื้นที่ดังกล่าวได้

 "เราให้เกียรติและเคารพเสมอ ไม่เคยคิดละเมิดสิทธิ์เลย เพราะทุกอย่างอยู่ในขั้นตอนเจรจา ข่าวที่ออกมาไม่มีมูลความจริงแต่อย่างใด" พล.อ.เตีย บัน กล่าว

 แหล่งข่าวระดับปฏิบัติการในกองทัพเรือ กล่าวว่า รัฐบาลไทยและกระทรวงการต่างประเทศต้องรีบแสดงท่าทีคัดค้านการกระทำของรัฐบาลกัมพูชาโดยเร็วที่สุด เพราะยังเสี่ยงต่อการสูญเสียก๊าซธรรมชาติและน้ำมันมูลค่ามหาศาล ทั้งยังเสี่ยงต่อการใช้กำลังทางทหารด้วย

 "ผมห่วงเรื่องการขุดเจาะใกล้พื้นที่ทับซ้อนมากกว่า เพราะท่อน้ำมันมีขนาดใหญ่มาก ถ้ามีการขุดเจาะก็จะดูดน้ำมันในพื้นที่ทับซ้อนไปด้วย" แหล่งข่าวคนเดิม กล่าว

 เมื่อเวลา 08.45 น. นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในฐานะรักษาการนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกลุ่มคนเสื้อแดงระบุว่ารัฐบาลชุดนี้ยอมปล่อยกัมพูชาไปก่อสร้างถนนเข้าปราทสาทพระวิหารว่า มีการสร้างมานานแล้ว กระทรวงการต่างประเทศได้ประท้วงแล้ว มีเอกสารหลักฐานลงวันที่ชัดเจน รอให้นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางกลับมาจากสหรัฐอเมริกาจะให้ชี้แจงต่อประชาชนผ่านทางโทรทัศน์

 ส่วนเรื่องที่กัมพูชาให้สัมปทานแก่บริษัทต่างๆ เข้าสำรวจขุดเจาะน้ำมันในพื้นที่ทับซ้อนในทะเลนั้น นายสุเทพ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่เคยเกิดขึ้นมานานแล้ว แต่ไม่ว่าอนุมัติไปอย่างไรก็ทำไม่ได้ เพราะต่างฝ่ายต่างไม่ยอมให้เข้าไปขุดเจาะ ทั้งนี้เตรียมหาเวลาไปพูดคุยกับผู้นำของกัมพูชา เพราะที่ผ่านมาเคยเจรจากันมาแล้ว แต่หยุดชะงักไป แต่ต้องดูท่าทีของนายกรัฐมนตรีก่อน หากเห็นว่าตนสมควรไปพูดคุยก็จะไป

 สอดคล้องกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ผ่านระบบเว็บคอนเฟอเรนซ์จากสหรัฐอเมริกาว่า ถนนเข้าปราสาทพระวิหารมีการก่อสร้างมาก่อนหน้ารัฐบาลชุดของตนมานานแล้ว ซึ่งรัฐบาลชุดของตนได้ประท้วงไป ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนกำหนดกรอบการเจรจาในชั้นสภา เพื่อให้ทุกฝ่ายออกจากพื้นที่ และกลับไปสู่ข้อตกลงเมื่อปี 2543

 "เรื่องนี้จะต้องเดินหน้าต่อตามแนวทางในการรักษาสิทธิ์อธิปไตย ซึ่งวิธีที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่นี้เป็นการหลีกเลี่ยงการใช้กำลังในการปะทะกัน" นายอภิสิทธิ์ยืนยัน

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ