Lifestyle

พันธุ์มันสำปะหลังไทย ยกระดับเกษตรกรอาเซียน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ทำกินถิ่นอาเซียน : พันธุ์มันสำปะหลังไทย ยกระดับเกษตรกรอาเซียน : โดย ... รศ.สมพร อิศวิลานนท์

 
                    มันสำปะหลังเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกากลางและอเมริกาใต้ และได้แพร่เข้ามาในประเทศไทย คาดว่าเมื่อเกือบศตวรรษที่ผ่านมา มีการนำต้นพันธุ์มันสำปะหลังจากประเทศมาเลเซียเข้ามาปลูกในประเทศไทยในช่วงที่การปลูกยางพาราในภาคใต้ได้ขยายตัว โดยปลูกมันสำปะหลังไว้ในระหว่างแถวของต้นยางพารา เพื่อเป็นแหล่งของรายได้ในช่วงที่ต้นยางพารายังมีขนาดเล็ก การเพาะปลูกมันสำปะหลังในประเทศไทยต่อมาได้ขยายตัวไปในพื้นที่ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
 
                    มันสำปะหลังเป็นพืชวัตถุดิบที่สำคัญของอุตสาหกรรมแป้งมันและในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ นอกจากนี้ยังมีการนำมันสำปะหลังไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น อุตสาหกรรมแป้งดัดแปร (modified starch) อุตสาหกรรมสารให้ความหวานและผงชูรส อุตสาหกรรมเอทานอลและแอลกอฮอล์ อุตสาหกรรมกระดาษ อุตสาหกรรมยา อุตสาหกรรมย่อยไบโอพลาสติก เป็นต้น ทำให้มันสำปะหลังกลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความต้องการขยายตัวทั้งเป็นพืชอาหาร พืชอาหารสัตว์ พืชพลังงาน และรวมถึงพืชอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง
 
                    ในยุคแรกๆ มันสำปะหลังที่นำเข้ามาปลูกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยชาวโปรตุเกสและสเปนนำพันธุ์มันสำปะหลังจากเม็กซิโกมายังฟิลิปปินส์ ส่วนชาวฮอลแลนด์นำพันธุ์มันสำปะหลังไปยังอินโดนีเซีย ซึ่งพันธุ์ที่นำมาปลูกให้ผลผลิตต่อพื้นที่ต่ำและมีองค์ประกอบเปอร์เซ็นต์ของแป้งน้อย เพราะไม่ได้มีการปรับปรุงพันธุ์มาก่อน ต่อมาศูนย์วิจัยพืชไร่จังหวัดระยองเป็นหน่วยงานแรกที่ได้คัดเลือกพันธุ์มันสำปะหลังและเปรียบเทียบผลผลิต และนำพันธุ์ที่คัดเลือกแล้วพบว่ามีคุณลักษณะเด่นและให้ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์ที่พบในแหล่งของพื้นที่อื่นมาเผยแพร่ โดยตั้งชื่อว่า ระยอง 1 ในปี 2518 หลังจากนั้นได้นำพันธุ์ลูกผสมจาก CIAT และพันธุ์ต่างถิ่นจากแหล่งอื่นๆ มาปรับปรุงและคัดเลือกพันธุ์และนำออกเผยแพร่อีกหลายพันธุ์ เช่น พันธุ์ระยอง 5 พันธุ์ระยอง 60 เป็นต้น
 
                    การมีโครงการพัฒนามันสำปะหลังร่วมกัน ระหว่างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรมวิชาการเกษตร และศูนย์วิจัยเกษตรเขตร้อนนานาชาติ หรือ CIAT ในยุคต่อมา ทำให้งานวิจัยด้านการปรับปรุงพันธุ์มันสำปะหลังของไทยพัฒนาขยายตัวและสร้างบทบาทสำคัญในภูมิภาคอาเซียนตามมา โดยเฉพาะการพัฒนาพันธุ์เกษตรศาสตร์ 50 ซึ่งเป็นพันธุ์ลูกผสมระหว่างสายพันธุ์จากต่างประเทศนำมาผสมกับพันธุ์ระยอง 1 พันธุ์เกษตรศาสตร์ 50 มีจุดเด่นที่ให้ผลผลิตและเปอร์เซ็นต์ของแป้งที่สูงกว่าพันธุ์อื่นๆ ที่มีเผยแพร่อยู่ในปัจจุบัน เป็นผลให้พันธุ์ดังกล่าวเกิดการยอมรับในหมู่เกษตรกรในวงกว้างทั้งในประเทศไทยและในกลุ่มประเทศอาเซียน สถาบัน CIAT ได้ประเมินว่า มีเกษตรกรในอาเซียนถึงร้อยละ 65 ใช้พันธุ์ดังกล่าวในการเพาะปลูก
 
                    การประชุมวิชาการ The World Congress on Root and Tuber Crops ครั้งที่ 7 ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองหนานนิง มณฑลกวางสี ประเทศจีน เมื่อเดือนมกราคม ที่ผ่านมา ได้มอบรางวัล The 2016 Golden Cassava Award ให้แก่ ศ.ดร.เจริญศักดิ์ โรจนฤทธิ์พิเชษฐ์ ผู้ซึ่งได้พัฒนาพันธุ์เกษตรศาสตร์ 50 และเป็นคนแรกในภูมิภาคอาเซียนที่ได้รับรางวัลดังกล่าว ในคำประกาศเกียรติคุณได้ระบุว่า ผลงานจากการปรับปรุงพันธุ์ของ ศ.ดร.เจริญศักดิ์ ได้ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของเกษตรกรในอาเซียน อีกทั้งยังเป็นพันธุ์ต้นแบบที่นักวิจัยทั่วโลกรู้จักและให้การยอมรับและนำมาใช้เป็นต้นแบบของการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์มันสำปะหลังในภูมิภาคต่างๆ อีกด้วย
 
                    ขอแสดงความยินดีด้วยครับ
 
 
 
------------------------
 
(ทำกินถิ่นอาเซียน : พันธุ์มันสำปะหลังไทย ยกระดับเกษตรกรอาเซียน : โดย ... รศ.สมพร อิศวิลานนท์)
 
 
 
 
logoline

ข่าวที่น่าสนใจ