Lifestyle

สถานการณ์กล้วยในอาเซียน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ทำกินถิ่นอาเซียน : สถานการณ์กล้วยในอาเซียน : โดย ... รศ.สมพร อิศวิลานนท์

 
                      กล้วยเป็นพืชเขตร้อนและที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ ก่อนที่จะมีการแพร่กระจายไปในแอฟริกาตะวันตก อเมริกากลาง และอเมริกาใต้ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล้วยมีคุณค่าทั้งการเป็นพืชอาหารที่อุดมด้วยโภชนาการ รวมถึงการเป็นพืชวัฒนธรรม
 
                      กล้วยเป็นแหล่งของอาหารเสริมในชีวิตประจำวัน เพราะกล้วยอุดมด้วยโภชนาการ โดยมีองค์ประกอบของคาร์โบไฮเดรต ไวตามินต่างๆ เช่น บี 1 บี 2 บี 3 และบี 6 และแคโรทีน อีกทั้งยังเป็นแหล่งของธาตุอาหารโพแทสเซียมที่มีบทบาทสำคัญในการช่วยให้การทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกายเป็นปกติ เช่น ระบบประสาทและกล้ามเนื้อ เป็นต้น ซึ่งผู้คนในอดีตของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ได้ใช้กล้วยเป็นแหล่งที่มาของธาตุอาหารเพื่อโภชนาการ และรวมถึงการเป็นอาหารเสริมให้ทารกทดแทนนมแม่อีกด้วย
 
                      นอกจากนี้กล้วยยังมีคุณค่าทางวัฒนธรรมเพราะในประเพณีของชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ประเพณีต่างๆ ทั้งในศาสนาพุทธ ศาสนาพราหมณ์ และศาสนามุสลิม ในศาสนาพุทธมีการใช้ใบกล้วยและบางส่วนของต้นกล้วยเป็นส่วนประกอบของพิธีกรรมต่างๆ เช่น พิธีการแห่ขันหมากของไทย หรือพิธีการทำขวัญนาคสำหรับงานบวช ก็จะต้องมีใบกล้วยและต้นกล้วยเป็นส่วนประกอบของพิธี เป็นต้น
 
                      องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติรายงานว่า ผลผลิตกล้วยทั่วโลกในปี 2556 มีประมาณ 52.24 ล้านตัน โดยประเทศผู้ผลิตกล้วยมากใน 5 ลำดับแรก ได้แก่ ฟิลิปปินส์ 8.65 ล้านตัน อินโดนิเซีย 5.36 ล้านตัน อินเดีย 2.76 ล้านตัน เม็กซิโก 2.13 ล้านตัน และเคนยา 1.40 ล้านตัน ส่วนผู้นำเข้ารายสำคัญของโลกได้แก่ ญี่ปุ่น จีน อิตาลี อิหร่าน และสหรัฐอเมริกา
 
                      สำหรับในภูมิภาคอาเซียนมีผลผลิตกล้วยประมาณ 18.35 ล้านตัน หรือร้อยละ 35.12 ของผลผลิตกล้วยโลกโดยมีฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เวียดนาม ไทย และสปป.ลาว เป็นแหล่งผลิตกล้วยที่สำคัญของอาเซียน ในด้านการส่งออกกล้วยของอาเซียนในปี 2556 มีจำนวน 3.34 ล้านตันหรือร้อยละ 16.67 ของการส่งออกกล้วยโลก ในจำนวนนี้กว่าสองในสามเป็นการส่งออกกล้วยของฟิลิปปินส์ ส่วนที่เหลือเป็นการส่งออกกล้วยของไทย มาเลเซีย สปป.ลาว และเวียดนาม รวมกัน
 
                      ในอาเซียนแล้วกล้วยเป็นสินค้าดาวเด่นของฟิลิปปินส์โดยเฉพาะกล้วยหอม การปลูกกล้วยหอมของฟิลิปปินส์จึงเป็นการผลิตเพื่อการส่งออกไปยังตลาดนอกอาเซียนเป็นสำคัญ โดยมีมูลค่าการส่งออกในปี 2556 ถึง 963 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 34,187 ล้านบาท ซึ่งการส่งออกกล้วยของไทยมีมูลค่าเพียง 471 ล้านบาทเท่านั้น
 
                      ดังนั้นหากเกษตรกรไทยจะหันมาปลูกกล้วยเพื่อการส่งออกกันมากขึ้นแล้ว สิ่งจำเป็นที่เกษตรกรจะต้องคำนึงถึงได้แก่การผลิตให้ได้มาตรฐาน ได้คุณภาพ และมีความปลอดภัย อีกทั้งต้องมีราคาที่แข่งขันได้กับฟิลิปปินส์ หรือมิฉะนั้นก็จะต้องอาศัยความจำเพาะของสินค้าเช่นเลือกที่จะผลิตกล้วยไข่ หรือกล้วยหอมทองที่มีตลาดจำเพาะซึ่งต่างไปจากการผลิตกล้วยหอมส่งออกจากฟิลิปปินส์
 
 
 
 
----------------------
 
(ทำกินถิ่นอาเซียน : สถานการณ์กล้วยในอาเซียน : โดย ... รศ.สมพร อิศวิลานนท์)
 
 
 
 
logoline

ข่าวที่น่าสนใจ