คอลัมนิสต์

โดยวิธีของเราเอง : มีที่ให้ชาวบ้านบ้าง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดยวิธีของเราเอง : มีที่ให้ชาวบ้านบ้าง : โดย...ไพฑูรย์ ธัญญา

 
                      งวดเข้ามาทุกขณะ กับการร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย ฤชุพันธ์ุ อีกไม่นานเกินรอประชาชนชาวไทยก็จะได้เห็นหน้าตาของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพื่อจะได้ตกลงแสดงประชามติว่าจะรับหรือไม่รับ ซึ่งหากใครติดตามข่าวรัฐธรรมนูญอย่างเกาะติด ก็อาจรู้สึกไม่ค่อยสบายใจนัก เพราะมีทีท่าจากหลายๆ ฝ่าย จะไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เนื่องจากมีหลายประเด็นที่ไม่อาจทำใจรับได้ กลุ่มที่แสดงท่าทีหนักๆ หน่อยคือ กลุ่มอดีตนักการเมืองผู้เสียประโยชน์ เพราะเล็งเห็นแล้วว่า หากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านประชามติ อนาคตของพวกนักเลือกตั้งจะอยู่ยากขึ้น จึงไม่แปลกที่พวกเขาบอกว่าจะต่อต้านอย่างหนัก ใครกันล่ะ? ที่จะยอมรับกฎหมายที่ปิดทางทำมาหากินของตน
 
                      กลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังมีทั้งนักวิชาการ นักกฎหมายและนักเคลื่อนไหวภาคประชาสังคม ล่าสุดอาจารย์บวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ถูกคว่ำไปแล้ว ออกมาวิพากษ์จุดอ่อนจุดแข็งของรัฐธรรมนูญฉบับท่านมีชัยว่า มีจุดเด่นในเรื่องการป้องกันการทุจริต คอร์รัปชั่น แต่มีจุดอ่อนตรงที่ยังพูดถึงเรื่องสิทธิของประชาชน นั่นคือรัฐธรรมนูญฉบับร่างใหม่นี้ ยังกล่าวถึงสิทธิเสรีภาพของบุคคล ชุมชน ความเสมอภาคในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์น้อยมาก อย่างน้อยหลายฝ่ายก็เห็นว่า ประเด็นเหล่านี้ถูกพูดถึงน้อยกว่าที่กล่าวไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับ พุทธศักราช 2540 และ 2550
 
                      เรื่องสิทธิ เสรีภาพของบุคคลและสิทธิชุมชนเป็นเรื่องใหญ่ เพราะเป็นดัชนีสำคัญในการชี้วัดความเป็นประชาธิปไตย เป็นเรื่องพื้นฐานที่ขาดไม่ได้ เราจะเห็นความแตกต่างที่เกิดขึ้นในสังคมไทยในตอนที่ยังไม่มีการปฏิวัติรัฐประหาร กับตอนที่เราอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาล คสช.ได้ชัดเจนประการหนึ่งคือ เมื่อประชาชนมีเรื่องเดือดร้อน พวกเขาไม่มีสิทธิ์และโอกาสในการเรียกร้องความเป็นธรรมได้เลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ชาวบ้านขัดแย้งและไม่เห็นด้วยกับนโยบายของรัฐ
 
                      หลายต่อหลายครั้งที่ชาวบ้านและชุมชนรู้สึกว่า โครงการของรัฐที่มีผลกระทบกับชีวิตความเป็นอยู่ ฐานทรัพยากรและสิทธิของชุมชน แต่พวกเขาไม่อาจจะเคลื่อนไหวเรียกร้องความเป็นธรรม หรือต่อรองใดๆ ได้อย่างสะดวกอีกต่อไป กรณีการขุดลอกแม่น้ำมูล หรือ “โครงการลักหลับแม่น้ำมูล” ที่ชาวบ้านมองว่า เป็นการทำลายระบบนิเวศริมฝั่งแม่น้ำ และจะส่งผลกระทบต่อวิถีการหาอยู่หากินของชาวบ้านอีกยาวนานก็ถูกเพิกเฉยจากรัฐบาลอย่างไม่ไยดี ครั้นชาวบ้านรวมตัวกันประท้วงและเรียกร้องความเป็นธรรมก็ถูกทหารเข้าไปควบคุมกำกับ ชาวบ้านไม่สามารถทำอะไรได้เลย สุดท้ายก็ได้แต่นั่งมองให้เขาปู้ยี่ปู้ยำกับแม่น้ำมูลกันตาปริบๆ
 
                      ในยุคทุนนิยมคนกินคน ชาวบ้านระดับล่างยิ่งอยู่ยากขึ้นทุกวัน พวกเขาแทบจะไม่มีที่ให้เหยียบยืนอย่างมีศักดิ์ศรีในฐานะมนุษย์อีกแล้ว หากกฎหมายสูงสุดของประเทศไม่เว้นพื้นที่ให้พวกเขาได้ดำเนินชีวิตอย่างปกติสุข กฎหมายนั้นจะมีประโยชน์อะไร ดังนั้นเมื่อมีผู้สันทัดกรณีออกมาชี้ให้เห็นว่านี่คือจุดอ่อน ก็สมควรที่ฝ่ายยกร่างจะต้องนำมาพิจารณา หาไม่แล้วรัฐธรรมนูญฉบับนี้คงไม่ผ่านประชามติอย่างแน่นอน เพราะนี่คือจุดโหว่ที่ฝ่ายต่อต้านจะออกมาตอกย้ำให้ชาวบ้านเห็น ถ้ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องตกไปเพราะไม่ผ่านประชามติอีกรอบ แล้วจะทำอย่างไรกันต่อไป?
 
                      ว่ากันว่า ความสุดยอดของรัฐธรรมนูญฉบับท่านมีชัยคือการออกแบบมาตรการและกลไกที่จะป้องกันการโกงกิน และปิดโอกาสการเข้ามาแสวงหาประโยชน์ของนักการเมืองไร้คุณภาพอย่างเบ็ดเสร็จ นี่เป็นเรื่องที่ดี แต่จะให้ดีกว่านี้ก็ต้องสร้างพื้นที่ให้ประชาชนได้แสดงออกในสิทธิ เสรีภาพและมีความเป็นประชาธิปไตยไม่น้อยกว่าที่เคยมีมากแล้วในอดีต
 
                      คงยังไม่สายที่คณะกรรมการร่างฯ จะหันมาปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น
 
 
 
 
--------------------
 
(โดยวิธีของเราเอง : มีที่ให้ชาวบ้านบ้าง : โดย...ไพฑูรย์ ธัญญา)
 
 
 
 
logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ