ข่าว

‘ศาลปราบโกง’ฟันทุจริตชนิด‘กรรมติดจรวด’

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

‘ศาลปราบโกง’ฟันทุจริตชนิด‘กรรมติดจรวด’ : โดย เกศินี แตงเขียว สำนักข่าวเนชั่น

            หลังจากเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม คณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไฟเขียว ผ่าน “ร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. ...” ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ตรวจพิจารณาแล้ว นับว่าน่าตื่นตาตื่นใจที่ประเทศไทย เริ่มต้นจัดตั้งศาลเฉพาะพิจารณาพิพากษาคดีทุจริตเป็นครั้งแรก เพื่อเสริมมาตรการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น หลังจากอดีตเคยมีแรงต้านจากฝ่ายการเมือง

            โดยโครงสร้าง “ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ” ตามร่างกฎหมาย ที่มี 20 มาตรานั้น กำหนดให้จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตฯ กลาง ตามมาตรา 5 มีเขตอำนาจกรุงเทพฯ, สมุทรปราการ, สมุทรสาคร, นครปฐม, นนทบุรี และปทุมธานี และมาตรา 6 ก็ให้มีศาลอาญาคดีทุจริตฯ ภาค ขึ้นด้วย การผลักดันจัดตั้งศาลตามกฎหมายนี้ เป็นการยกฐานะ “แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐในศาลอาญา” ที่เพิ่งเปิดใช้เมื่อเดือนสิงหาคม 2558 แยกมาเป็นศาลเฉพาะ จึงเสมือนศาลชำนัญพิเศษ

            ซึ่ง “นายสืบพงษ์ ศรีพงษ์กุล” โฆษกศาลยุติธรรม อธิบายถึงโครงสร้างศาลอาญาคดีทุจริตฯ ตามร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลฯ...ว่า โครงสร้างศาลชั้นต้น ต้องมีศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง 1 แห่ง และศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1-ภาค 9 รวมส่วนกลาง-ภาค จะเป็น 10 แห่ง แต่เมื่อออกกฎหมายจัดตั้ง ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบแล้ว คำถาม...คือ วิธีการพิจารณาคดีต้องเป็นอย่างไร ?? จะเหมือนหรือต่างกับคดีอาญาทั่วไป ??  คำตอบ คือ “ศาลยุติธรรม” ที่ต้องรับมือคดี เตรียมเสนอกฎหมาย “ร่าง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. ...” เพื่อบริหารจัดการคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ให้เสร็จรวดเร็ว และให้สัมฤทธิ์ผลในการบังคับบทลงโทษผู้ทำผิด แบบกรรมติดจรวด ไม่ปล่อยให้พวกฉ้อราษฎร์บังหลวง ลอยนวล อะไร...คือ จุดเด่น เนื้อหา ร่าง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตฯ...นี้

            นายสืบพงษ์ โฆษกศาลยุติธรรม สรุปความให้ฟังว่า “สิ่งที่ดีที่สุดของการพิจารณาคดี ตามร่าง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตฯ คือ ระหว่างการสืบพยาน จำเลยที่ได้รับการประกันตัว มักจะหลบหนีนั้น ต่อไปนี้จะถูกปรามอย่างมาก เพราะร่างกฎหมายในมาตรา 14 เขียนชัดเจนว่า ผู้ต้องหา หรือ จำเลยที่หลบหนีไประหว่างการปล่อยชั่วคราว จะต้องถูกจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และถ้าเป็นการหลบหนีระหว่างการพิจารณาคดี ไม่ว่าศาลจะมีคำสั่งจำหน่ายคดีหรือไม่ก็ตาม ให้อัยการโจทก์รายงานผลการติดตามจับจำเลยทุก 1 เดือน...” ซึ่งแปลว่าต้องเอาตัวผู้นั้นกลับมาสู่กระบวนการยุติธรรมให้ได้ และในวรรคสอง กำหนดว่า ถ้าแม้คดีทุจริตฯ นั้น จะสั่งไม่ฟ้อง หรือยกฟ้อง หรือจำหน่ายคดี หรือถอนฟ้อง การลงโทษความผิดที่จำเลยหลบหนีนั้น ก็จะไม่ระงับไป จึงหมายความว่า ความผิดการหลบหนีระหว่างประกัน เป็นอีกเรื่องที่ต้องโดนดำเนินคดีแยกต่างหาก ดังนั้นจุดเด่นกฎหมายนี้ คือ บรรดาคนที่หลบหนีจะมีโทษทางอาญา ต่างหากจากคดีทุจริตฯ กฎหมายนี้ จึงเป็นการปรามให้กลัวที่จะต้องหลบหนีด้วย

            ส่วนการดำเนินคดีทุจริตฯ ยังบัญญัติไว้ในมาตรา 13 อีกว่า ถึงแม้ผู้นั้นจะหลบหนีระหว่างพิจารณาของศาล ก็ไม่มีการนับเวลาที่หลบหนีมาเป็นอายุความ และเมื่อคดีมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำเลย ก็จะไม่นับอายุความเพื่อรอจับตัวมาลงโทษตาม มาตรา 98 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งแปลว่า จะไม่นับอายุความ จึงต่างจากคดีอาญาทั่วไปที่นับอายุความ นั่น...หมายความว่า ต้องตามจับตัวผู้นั้นมารับโทษตามคำพิพากษาจนได้ โดยไม่มีการนับอายุความ หากจะหนีไป 20 ปีแล้วแต่ถ้าจับตัวได้เมื่อใด ก็ต้องมารับโทษเต็ม ที่ถูกตัดสินไว้ และการที่จำเลยหลบหนีไประหว่างพิจารณา ไม่ทำให้คดีหยุดชะงัก เพราะศาลมีอำนาจพิจารณาคดีต่อไปได้ ที่อาศัยหลักเดียวกับ การพิจารณาคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คือ หากจำเลย ได้มาปรากฏตัวต่อศาลครั้งแรกในชั้นสอบคำให้การแล้ว การหลบหนีของเขา ถือว่าสละสิทธิ์การพิจารณาคดีต่อหน้า ศาลจะดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีต่อจนจบ เรียกว่า กฎหมายเข้มงวดมากในการนำตัวเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดี ไม่ยอมให้พ้นอาญาได้ จนกว่าจะมารับโทษตามคำพิพากษา

            สำหรับการอุทธรณ์-ฎีกาคดี ร่าง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตฯ มาตรา 38 ให้จัดตั้ง “แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบในศาลอุทธรณ์” ซึ่งโฆษกศาลยุติธรรม ขยายความว่า แผนกที่ตั้งเฉพาะนี้ จะมีในศาลอุทธรณ์กลางเพียงศาลเดียวและหลักการยื่นอุทธรณ์ที่สำคัญ คือต้องมีตัวจำเลยด้วย ดังนั้น ไม่ว่าจำเลยจะหนีไปไหน เมื่อถึงเวลาจะอุทธรณ์ ต้องมายื่นด้วยตัวเอง !! ส่งทนายดำเนินการแทนไม่ได้ ถ้าจำเลยไม่มาเท่ากับตัดสิทธิ์ตัวเอง 

            ส่วนผลคดี ตามมาตรา 43 กฎหมายนี้ให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตฯ ถือเป็นที่สุด เว้นแต่จะเข้าหลักเกณฑ์ที่ได้รับอนุญาตให้ฎีกา ดังนั้นการฎีกาคดีทุจริตจะเป็นระบบอนุญาตให้ฎีกา ไม่ใช่ระบบสิทธิฎีกาเหมือนคดีอาญาทั่วไป

            “การจัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ เป็นการยกฐานะแผนกคดีทุจริตฯในศาลอาญาที่เพิ่งตั้ง ให้ออกมาจัดตั้งเป็นศาลเฉพาะที่จะมีอธิบดีผู้พิพากษาศาลมีความอาวุโสเกินหัวหน้าศาล หรือมาจากระดับศาลฎีกา, รองอธิบดี, ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะที่อาวุโสมีประสบการณ์พิจารณาพิพากษามาแล้ว 20 ปี และผู้พิพากษาที่เป็นองค์คณะ ต้องผ่านงานมาแล้ว 10 ปีขึ้นไปจึงมาอยู่ศาลนี้ได้ ซึ่งประสบการณ์ 10 ปีแปลว่า ผ่านงานคดีมาแล้วเป็นหมื่นคดี กระบวนการตามกฎหมายที่กำลังจะเกิดขึ้น จะเป็น Safeguard การันตีให้ประเทศ และประชาชนที่เสียภาษี ได้มั่นใจและไว้วางใจกระบวนการตรวจสอบการทุจริต” เมื่อมีทั้งองค์คณะมากประสบการณ์ และวิธีพิจารณาที่บัญญัติไว้ ก็ให้ใช้ระบบไต่สวนแบบองค์คณะ โดยถือเอาสำนวน ป.ป.ช. หรือ ป.ป.ท. เป็นหลัก ก็จะทำให้กระบวนพิจารณาคดีเป็นไปโดยรวดเร็วขึ้นอย่างแน่นอน ซึ่งแต่ละคดีน่าจะใช้เวลาพิจารณาไม่ถึง 2 ปี เพราะผู้พิพากษาในศาลอาญาคดีทุจริตฯ จะพิจารณาข้อกล่าวหา ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ, ต่อหน้าที่ในการยุติธรรม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147–205 และความผิดตามกฎหมาย ป.ป.ช., กฎหมายการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ(ฮั้วประมูล), กฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการรัฐ, กฎหมาย ป.ป.ง. ตามนิยามคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ที่บัญญัติในร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลฯ พ.ศ. ... เป็นการเฉพาะ ไม่ได้ทำคดีประเภทอื่น หลังจากนี้เชื่อว่าอีกไม่นาน...สนช.-ครม.คงจะได้เร่งผ่านร่างกฎหมายเรื่องการปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ เพื่อเป็นของขวัญ คืนความสุขให้ประเทศไทย จากปัญหาปราบฉ้อราษฎร์บังหลวง ให้เกิดศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบได้ภายในปี 2559

            แต่ประเด็นสำคัญอีกอย่างหนึ่ง ที่ผู้เฝ้ามองการปราบปรามการทุจริต เห็นว่า วันนี้ในร่างกฎหมายยังไม่มี คือ...กระบวนการหลังจากที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ต้องปรับปรุงเรื่องของการพิจารณาลดโทษตามกฎหมายราชทัณฑ์ด้วยหรือไม่...??  ซึ่งกฎหมาย...ควรจะบัญญัติให้อำนาจศาล ที่จะมีคำสั่งในคำพิพากษาว่า ให้ผู้กระทำผิดนั้นต้องรับโทษตามคำพิพากษาก่อนกี่ปี...แล้วจึงให้เข้าสู่กระบวนการลดโทษได้ตามกฎหมายของราชทัณฑ์ เพราะเมื่อรัฐมีนโยบายและเจตนารมณ์ ที่จะป้องกันปราบปรามการทุจริตอย่างจริงจัง ก็น่าจะให้อำนาจศาลที่จะสั่งเช่นนั้น เพื่อให้รู้ว่าคนคนนั้น ต้องถูกปราบอย่างถึงที่สุด เช่น หากมีโทษจำคุก 20 ปี ก็อาจสั่งให้ต้องรับโทษอย่างน้อย 10 ปีก่อน แล้วปีที่ 11 จึงจะเข้าสู่กระบวนการลดโทษ คำพิพากษาควรมีมาตรการเช่นนี้เพื่อให้ศาลใคร่ครวญตรวจสอบ ซึ่งประเทศไทยไม่เคยใช้มาตรการเช่นนี้มาก่อน หากจะสร้างความเชื่อมั่นใจให้คนในประเทศ ร่วมต่อต้านการทุจริต และเสริมมาตรการให้สากลในเวทีโลกยอมรับต่อความจริงจังในการปรามปรามคอร์รัปชั่น จำเป็นอย่างยิ่งต้องสร้างกลไกให้อำนาจศาล เพราะจะเป็นเครื่องการันตีสร้างความมั่นใจในกระบวนการตรวจสอบการทุจริต

            วันนี้....รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ได้แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าการออกกฎหมายปราบปรามการทุจริตแล้ว หลังจากมีความพยายามกันมานับ 10 ปี แต่อีกข้อสังเกต...นั้น รัฐบาลจะก้าวต่อไปหรือไม่ เพื่อให้การบังคับผลตามคำพิพากษานั้นเป็นจริงได้มากกว่าที่สังคมเคยเห็นคดีอาญาในอดีตว่า ตัดสินโทษแล้ว แต่ผู้กระทำผิดกลับเข้าสู่กระบวนการลดโทษได้รวดเร็ว ไม่ทันจะรับโทษ ซึ่งเคยสร้างความเสียหายไว้อย่างมากมาย...!!! จะทำให้กฎหมาย เป็นกฎหมายที่ศักดิ์สิทธิ์ ยุติธรรมทั้งกับคนที่ทำผิด และถูกกระทำหรือไม่...เมื่อประเทศไทยกำลังเข้าสู่การปฏิรูปอย่างจริงจัง

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ