Lifestyle

ประเทศไทยบนทางสองแพร่ง เกษตรอินทรีย์หรือพืชจีเอ็มโอ?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

หลากมิติเวทีทัศน์ : ประเทศไทยบนทางสองแพร่ง เกษตรอินทรีย์หรือพืชจีเอ็มโอ? : โดย...วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ

 
                        ก่อนวันที่ 1 ตุลาคม 2558 ประเทศที่เป็นสมาชิกสหภาพยุโรป(อียู) สามารถยื่นต่อคณะกรรมการของอียู (EU Commission) เพื่อประกาศแบนพืชจีเอ็มโอตามกฎระเบียบใหม่ที่อนุญาตให้แต่ละประเทศสามารถแบนการพืชจีเอ็มโอได้ แม้ว่าจีเอ็มโอบางชนิดได้ผ่านความเห็นชอบจากการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจากหน่วยงานด้านความปลอดภัยทางอาหารของอียู (European Food Safety Authority -EFSA) ก็ตาม
 
                        เป็นที่ทราบกันดีว่าระเบียบใหม่ของอียู ซึ่งผ่านความเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงถล่มทลายเหนือความคาดหมาย (ด้วยคะแนนเสียง 480 ต่อ 159 และงดออกเสียง 58 ในรัฐสภายุโรป) เกิดขึ้นจากกระแสของประชาชนในสหภาพยุโรปที่มีแนวโน้มต่อต้านพืชและอาหารดัดแปลงพันธุกรรมมากขึ้น แทนที่จะลดลงตามความคาดหวังของกลุ่มบริษัทที่ผลักดันพืชจีเอ็มโอ เช่น มอนซานโต้ ดูปองท์ ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในสหรัฐ หรือ ซินเจนทา ยักษ์ใหญ่ด้านเคมีเกษตรที่มีฐานอยู่ในยุโรปเอง
 
                        ภายใต้กฎระเบียบใหม่ กลุ่มประเทศสมาชิกอียู ได้ทยอยประกาศแบนจีเอ็มโอ โดยเริ่มต้นจากคำประกาศของรัฐบาลเยอรมัน ตามด้วยสกอตแลนด์ และเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2558 ที่ผ่านมา กรีซและลัตเวียได้ประกาศใช้สิทธิแบนการปลูกพืชจีเอ็มโอเสนอต่อคณะกรรมการยุโรป คาดการณ์ว่าก่อนวันที่ 1 ตุลาคม 2558 จะมีประเทศสมาชิกอียูอีกหลายประเทศ เช่น ฝรั่งเศส ลักเซมเบิร์ก ออสเตรีย ฮังการี ฯลฯ จะเข้าร่วมยกเลิกการปลูกจีเอ็มโอ
 
 
                        จีเอ็มโอ(GMO)หรือสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม เกิดขึ้นจากการนำเอายีนของสิ่งมีชีวิตที่มีคุณสมบัติเฉพาะตัดต่อพันธุกรรมใส่ในสิ่งมีชีวิต เป้าหมายเพื่อหวังผลบางประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ให้สามารถสร้างสารพิษที่ฆ่าหนอนแมลงที่มากัดกิน และต้านทานสารพิษปราบวัชพืชได้ เป็นต้น เริ่มมีการปลูกพืชจีเอ็มโอเป็นการค้าครั้งแรกในสหรัฐเมื่อปี 1996 แต่ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาได้เกิดกระแสการถกเถียงเกี่ยวกับพืชจีเอ็มโอไปทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทยของเรา โดยการตั้งคำถามเกี่ยวกับจีเอ็มโอรวมศูนย์ เกี่ยวกับความกังวลผลกระทบระยะยาว เกี่ยวกับสุขภาพและสิ่งแวดล้อม และปัญหาการผูกขาดเมล็ดพันธุ์เพราะมีบริษัทยักษ์ใหญ่เพียงบริษัทเดียวครอบครองตลาดเมล็ดพันธุ์จีเอ็มโอถึง 90% ของตลาดทั้งหมด
 
                        สำหรับความกังวลเกี่ยวกับปัญหาด้านสุขภาพนั้น เมื่อเร็วๆ นี้ ศ.เชลดอน คริมสกี้  จากมหาวิทยาลัยทัฟท์ส สหรัฐอเมริกา ได้สำรวจงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารคุณภาพที่ผ่านกระบวนการที่ให้มีคณะผู้เชี่ยวชาญ สำหรับแต่ละสาขา เป็นผู้พิจารณาตรวจสอบก่อน พบว่าระหว่างปี 2008-2014 มีบทความวิจัยทางวิชาการถึง 26 รายงาน ที่ผลการทดลองเชื่อมโยงระหว่างอาหารจีเอ็มโอกับผลกระทบในแง่ลบต่อสุขภาพของสัตว์ทดลอง ทั้งนี้ไม่นับปัญหาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม-สุขภาพเชิงประจักษ์ ที่พบว่าพืชจีเอ็มโอที่ปลูกในสหรัฐนั้น ไม่ได้ทำให้มีการใช้สารเคมีปราบศัตรูพืชลดลงแต่ประการใด เพราะยิ่งปลูกจีเอ็มโอมากยิ่งต้องฉีดสารพิษปราบวัชพืชมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสารไกลโฟเสทซึ่งองค์การอนามัยโลกประกาศเมื่อเร็วๆ นี้ว่า เป็นสารที่น่าจะก่อมะเร็ง
 
                        กระแสการต่อต้านพืชและอาหารจีเอ็มโอจึงเป็นกระแสที่นับวันยิ่งเติบโตมากยิ่งขึ้น แทนที่จะลดลง ตัวอย่างเช่น จากการสำรวจของคณะกรรมการยุโรปพบว่าเมื่อเปรียบเทียบระหว่างปีแรกๆ ที่มีการนำจีเอ็มโอมาปลูกเชิงพาณิชย์ จนมาถึงปีหลังๆ พบว่า คนในสเปนเคยสนับสนุนจีเอ็มโอถึง 66% เมื่อปี 1996 แต่ในปี 2010 กลับลดเหลือเพียง 35% คนเยอรมันเคยสนับสนุนจีเอ็มโอถึง 47% แต่ลดลงเหลือเพียง 22% ไม่จำเป็นต้องพูดถึงในฝรั่งเศสที่เคยสนับสนุน 43% ลดเหลือ 16% เท่านั้น ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นกับประชาชนในประเทศยุโรปตะวันออก เช่น ฮังการี โปแลนด์ ลัตเวีย ฯลฯ ด้วย หากประเทศไทยจะตัดสินใจปลูกพืชจีเอ็มโอก็ควรตระหนักว่า เราจะสูญเสียตลาดการส่งออกในประเทศยุโรปแน่ๆ
 
 
ประเทศไทยบนทางสองแพร่ง เกษตรอินทรีย์หรือพืชจีเอ็มโอ?
 
 
                        ที่น่าสนใจมากที่สุดคือ การต่อต้านอาหารจีเอ็มโอได้ขยายมายังสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นเมืองหลวงและประเทศที่ให้กำเนิดจีเอ็มโอด้วย ประชาชนอเมริกันตื่นขึ้นมาหลังจากที่รัฐบาลของพวกเขาอนุญาตให้ปลูกพืชจีเอ็มโอมานานถึง 18 ปี การสำรวจความเห็นของประชาชนอเมริกันโดยโพลล์หลายสำนักพบว่า คนอเมริกันมากกว่า 90% เรียกร้องให้รัฐบาลตัวเองติดฉลาก และประชาชนมากกว่าครึ่งหนึ่งตอบแบบสอบถามผลการสำรวจว่าถ้ามีทางเลือกหรือทราบจากฉลาก พวกเขาจะไม่เลือกผลิตภัณฑ์ที่มาจากการดัดแปลงพันธุกรรม
 
                        ศิลปินอเมริกันในตำนานอย่าง นีล ยัง ถึงกับทำอัลบั้มใหม่ของตนเองเพื่อต่อต้านจีเอ็มโอเป็นการเฉพาะ ไม่นับดาราฮอลลีวู้ดเป็นจำนวนมาก เช่น กวินเน็ท พัลโทรว, ซูซาน ซาแรนดอน, ดาริล ฮันนาห์, ไมเคิล เจฟอกซ์, อีไลจา วู้ด, วิเวียน เวสต์วูด, แดนนี่ เดอวีโต เป็นต้น ที่ได้ลุกขึ้นมาเรียกร้องให้มีการบังคับติดฉลากจีเอ็มโอ
 
                        กระแสการต่อสู้ระหว่างฝ่ายสนับสนุนจีเอ็มโอและฝ่ายคัดค้านกำลังดำเนินไปอย่างดุเดือด ทั้งในสหรัฐอเมริกา ยุโรป และในประเทศไทย ฝ่ายหนึ่งมาในนามของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี โดยมีบรรษัทยักษ์ใหญ่ที่ขายเมล็ดพันธุ์จีเอ็มโอและสารพิษกำจัดศัตรูพืชอยู่ข้างหลัง ในขณะที่อีกฝ่ายคือผู้บริโภคและประชาชนที่กังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งกังวลกับปัญหาการผูกขาดระบบเกษตรและอาหารระยะยาว
 
                        ประสบการณ์ในสหรัฐนับว่าน่าจับตามองมาก เมื่อประชาชนในรัฐต่างๆ เช่น เมน คอนเนตทิคัท และวอร์มอนต์ ลงมติบังคับให้มีการติดฉลากโดยไม่ต้องรอกฎหมายจากรัฐบาลกลาง กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเมล็ดพันธุ์ตอบโต้โดยร่วมกับกรรมาธิการเกษตรในสภาผู้แทนราษฎรซึ่งมีสมาชิกทั้งพรรคเดโมแครตและรีพับลิกัน (ซึ่งทราบกันโดยทั่วไปว่ากลุ่มเหล่านี้ได้รับเงินสนับสนุนในการหาเสียงจากอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารเป็นจำนวนมาก) ผลักดันกฎหมายฉบับหนึ่งชื่อ The Safe and Accurate Food Labeling Act of 2015 ซึ่งจะมีผลให้รัฐต่างๆ ที่ออกกฎหมายหรือกำลังจะออกกฎหมายบังคับติดฉลากจีเอ็มโอเหมือนกับยุโรปต้องกลายเป็นหมัน กฎหมายนี้ผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรแล้วเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2558 แต่จะออกมาบังคับใช้ได้จะต้องผ่านความเห็นชอบของวุฒิสภา และการลงนามของประธานาธิบดีโอบามาเสียก่อน กลุ่มรณรงค์เพื่อสิทธิผู้บริโภคและประชาชนเรียกกฎหมายนี้ว่า “กฎหมายมืด” DARK Act ซึ่งย่อมาจากคำว่า Deny Americans the Right to Know หรือ "กฎหมายปิดหูปิดตาคนอเมริกันไม่ให้รู้ว่าอาหารมาจากไหน" นั่นเอง
 
                        ท่ามกลางกระแสดังกล่าว ผู้บริโภคในสหรัฐได้หันหลังให้แก่อาหารที่ผลิตจากจีเอ็มโอไปให้การอุดหนุนผลิตภัณฑ์จากเกษตรกรรมอินทรีย์และสินค้าที่ติดฉลากว่าเป็น Non-GMO แทนพวกเขากดดันอย่างหนักให้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นที่รู้จักแพร่หลายของ Cheerios, Similac และ Chipotle ให้เปลี่ยนมาใช้วัตถุดิบที่ปราศจากจีเอ็มโอในการผลิตอาหาร กาแฟสตาร์บัค และอีกหลายยี่ห้อสินค้า กลายเป็นเป้าหมายให้เปลี่ยนมาใช้ผลผลิตที่ไม่ใช่จีเอ็มโอ
 
 
ประเทศไทยบนทางสองแพร่ง เกษตรอินทรีย์หรือพืชจีเอ็มโอ?
 
 
 
                        บรรษัทอาหารอาจชนะพวกเขาได้ชั่วคราวในรัฐสภาสหรัฐ แต่ในสงครามตลาด พวกเขาสามารถใช้สิทธิในฐานะผู้บริโภคเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่เขาต้องการและสั่งสอนพวกบริษัทยักษ์ใหญ่ได้ แบบเดียวกับที่เกิดขึ้นในยุโรป
 
                        ตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ในสหรัฐเติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เช่น ตลาดสินค้าอินทรีย์มียอดขายเพิ่มขึ้นเป็น 35,500 ล้านดอลลาร์ หรือมากกว่า 120,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 11.5% จากปีก่อนหน้านั้น เช่นเดียวกับสินค้าที่ติดตราว่าปลอดจีเอ็มโอที่มีมูลค่า 10,000 ล้านดอลลาร์และมีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็ว
 
                        กลุ่มผลักดันจีเอ็มโอกำลังผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตจีเอ็มโอในภูมิภาค รัฐบาลสหรัฐและบริษัทยักษ์ใหญ่ ร่วมกับกลุ่มสนับสนุนจีเอ็มโอเข้าพบผู้นำของประเทศ สนับสนุนคนไทยไปดูงาน ผลักดันให้มีการออกกฎหมายที่เอื้ออำนวยให้มีการปลูกพืชจีเอ็มโอโดยสะดวก เชิญฝรั่งที่พบว่าส่วนใหญ่มีความสัมพันธ์กับบริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีผลประโยชน์จากจีเอ็มโอมาบรรยาย ฯลฯ ประเทศไทยกำลังอยู่ในทางสองแพร่ง ว่าจะเดินหน้าผลิตสินค้าราคาถูกๆ เดินตามประเทศอย่างอาร์เจนตินา หรือฟิลิปปินส์ ที่โหนขบวนรถไฟจีเอ็มโอตามก้นสหรัฐอเมริกา ซึ่งประชาชนในประเทศของตัวเองกำลังลุกขึ้นมาต่อต้านผลิตภัณฑ์จีเอ็มโอ หรือจะพัฒนาเกษตรกรรมเชิงนิเวศเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงทั้งทางเศรษฐกิจและปัญหาสุขภาพ-สิ่งแวดล้อมที่รออยู่เบื้องหน้า
 
                        ประเทศไทยไม่จำเป็นต้องเดินตามก้นใคร แต่เราสามารถใช้สติปัญญาใช้จุดแข็งของประเทศที่มีฐานของความหลากหลายทางชีวภาพ สร้างระบบเกษตรกรรมและอาหารที่สะอาด ปลอดภัย มั่นคง และยั่งยืน เป็นประโยชน์ทั้งต่อเกษตรกรรายย่อยและผู้บริโภคในประเทศ และสามารถแข่งขันได้ในทุกตลาดสำคัญของโลกไปพร้อมๆ กันได้
 
 
 
 
 
-----------------------
 
(หลากมิติเวทีทัศน์ : ประเทศไทยบนทางสองแพร่ง เกษตรอินทรีย์หรือพืชจีเอ็มโอ? : โดย...วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ)
 
 
 
 
logoline

ข่าวที่น่าสนใจ