ข่าว

‘เกล็น เดวีส์’ผ่านเห็นชอบเป็นทูตประจำไทยแล้ว

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

‘เกล็น เดวีส์’ผ่านเห็นชอบเป็นทูตประจำไทยแล้ว กมธ.ต่างปท.สนช.อัดมะกันคงไทยเทียร์3

           6ส.ค.2558 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 8.00 น. นายแพทริค เมอร์ฟีย์ อุปทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ได้มีข้อความทางทวิตเตอร์ส่วนตัวที่ชื่อว่า @WPatrickMurphy ระบุว่า วุฒิสภาสหรัฐอเมริกาได้ให้การรับรองนายกลิน ทาวเซนด์ เดวีส์ (Glyn Townsend Davies) ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำประเทศไทยคนต่อไปแล้ว และขอแสดงความยินดีกับผู้บังคับบัญชาคนใหม่,นักการทูตที่ยอดเยี่ยม! (U.S. Senate has confirmed Glyn Davies as next U.S. Ambassador to Kingdom of #Thailand. Congrats to my future boss, a terrific diplomat!)

           ต่อจากนั้น นายเกล็น ทาวเซนด์ เดวีส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ คนใหม่ ได้ส่งข้อความทางทวิตเตอร์ส่วนตัวที่ชื่อ @GlynTDavies เพื่อตอบกลับอุปทูตสหรัฐฯ ว่า ตนรู้สึกดีใจและเป็นเกียรติมากที่วุฒิสภาสหรัฐฯ ให้การรับรองตนเพื่อดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทยเป็นคนใหม่ โดยตนและนางแจ็คเกอลีน เอ็ม เดวีส์ ภรรยา ตั้งตารอเดินทางไปประจำการที่กรุงเทพฯ (Happy & honored to be confirmed by US Senate. Jackie & I look forward to our move to Bangkok -- City of Angels!)

           นายเกล็นยังทวิตต่อด้วยว่า แทบจะอดใจไม่ไหวที่จะร่วมงานกับทีมยอดเยี่ยมในไทย ทั้งนี้ ขอขอบคุณนายแพทริค เมอร์ฟีย์ ที่บริหารสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำประเทศไทย อย่างเข้มแข็งและน่าชื่นชมตลอดเกือบ 1 ปี (@WPatrickMurphy thanks for leading #USEmbassyBKK with strength and style for almost a year. Can't wait to join the great team in #Thailand!)

           ผู้สื่อรายงานว่า สหรัฐอเมริกาใช้ระยะเวลากว่า 9 เดือน ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2557 จนถึงเดือนสิงหาคม 2558 ในกระบวนการการพิจารณาและรับรองบุคคลที่จะเดินทางมาดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทยคนใหม่ นับตั้งแต่นางคริสตี้ เคนนีย์ อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย ได้อำลาตำแหน่ง เนื่องจากครบวาระประจำการที่ประเทศไทย ในเดือนตุลาคม 2557 โดยช่วงเวลาระหว่างนั้น มีนายแพริค เมอร์ฟีย์ อุปทูตสหรัฐฯ ปฏิบัติหน้าที่แทนเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ จนกว่าทางการสหรัฐฯ จะอนุมัติและจัดส่งเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ คนใหม่มาประจำการที่ประเทศไทย

           มีรายงานว่า ในกระบวนการพิจารณาผู้ที่มาดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย ต้องผ่านการเสนอรายชื่อต้องผ่านการเห็นชอบจากรัฐสภาสหรัฐฯ โดยขั้นตอนดังกล่าว ได้เริ่มขึ้นในเดือนเมษายน นายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศเจตจำนงเสนอรายชื่อให้นายเกล็น ทาวน์เซนด์ เดวีส์ เพื่อดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย สังกัดกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา จากนั้นได้ส่งยื่นคำร้อง Ageement มายังรัฐบาลไทย เพื่อให้คณะรัฐมนตรีของไทยได้ให้การรับรองนายเกล็น ทาวน์เซนด์ เดวีส์ เป็นเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ อเมริกาและส่งชื่อกลับไปยังสหรัฐฯ เพื่อนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมวุฒิสภาสหรัฐฯ ให้การรับรองคำสั่งแต่งตั้งดังกล่าว

           ในเอกสารเผยแพร่ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ แสดงประวัติของนายเกล็น ทาวน์เซนด์ เดวีส์ จบการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขา Foreign Service จาก Georgetown University และปริญญาโทจาก National Defense University เป็นนักการทูตอาชีพลำดับชั้นอัครราชทูตที่ปรึกษา ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาอาวุโสฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ พ.ศ. 2557 จนถึงปัจจุบัน

           ก่อนหน้านั้น นายเดวีส์ เคยเป็นผู้แทนพิเศษด้านนโยบายเกาหลีเหนือระหว่าง พ.ศ. 2555 - 2557 และปฏิบัติราชการในตำแหน่งผู้แทนสหรัฐอเมริกาประจำสหประชาชาติ ณ กรุงเวียนนา และทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency - IAEA) ระหว่างปี พ.ศ. 2552 - 2555 นายเดวีส์ เคยดำรงตำแหน่งหัวหน้ากลุ่มรองผู้ช่วยรัฐมนตรีและเป็นรองผู้ช่วยรัฐมนตรีฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่าง พ.ศ. 2549 - 2552 ทั้งยังเป็นที่ปรึกษาอาวุโสประจำ Leadership and Management School แห่ง Foreign Service Institute (FSI) เมื่อ พ.ศ. 2548 - 2549 รักษาการผู้ช่วยรัฐมนตรีฝ่ายประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และแรงงาน กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ. 2548 รองผู้ช่วยรัฐมนตรีฝ่ายกิจการยุโรประหว่างปี พ.ศ. 2547 - 2548 และผู้อำนวยการฝ่ายการเมืองในวาระที่สหรัฐอเมริกาเป็นประธานกลุ่ม G-8 ระหว่างปี พ.ศ. 2546 - 2547 และช่วงปี พ.ศ. 2542 - 2546 นายเดวีส์ รับตำแหน่งอัครราชทูตที่ปรึกษาของสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ณ กรุงลอนดอน

           ที่ผ่านมา นายเกล็น ยังเคยเป็นผู้อำนวยการสำนักเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (National Security Council - NSC) ระหว่างปี พ.ศ. 2540 - 2542 รองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา และรองผู้ช่วยรัฐมนตรีฝ่ายกิจการสาธารณะระหว่าง พ.ศ. 2538 - 2540 และผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการ (Operations Center) กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่าง พ.ศ. 2535 - 2537 ขณะที่ก่อนหน้านั้น เคยไปปฏิบัติราชการในหลายประเทศ เช่น ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส และ ซาอีร์


กมธ.ต่างปท.สนช.อัดมะกันคงเทียร์3

           ที่รัฐสภา นางพิไลพรรณ สมบัติศิริ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การต่างประเทศ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แถลงว่า กรณีที่กระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา แถลงรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (Tip Report) ประจำปี 2558 โดยยังคงจัดอันดับประเทศไทยไว้ในบัญชีกลุ่มที่ 3 (Tier3) เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ต่ำสุดในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ โดยกล่าวอ้างว่าไทยมิได้ดำเนินการที่จำเป็นอย่างเพียงพอที่จะบรรลุผลก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหา ซึ่งกมธ.ต่างประเทศ มีความสงสัยในวิธีการพิจารณาเพื่อจัดทำรายงานฉบับนี้ ซึ่งไม่ได้สะท้อนความเป็นจริงที่ไทยได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาในช่วงเวลาที่ผ่านมา และรู้สึกผิดหวังอย่างยิ่งที่มหามิตรอย่างสหรัฐฯมองข้ามความตั้งใจ ในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ของรัฐบาลไทยอย่างจริงจัง และต่อเนื่องมาตลอด เมื่อเทียบกับประเทศอื่น จึงอยากถามว่าสหรัฐฯใช้มาตรฐานใดในการจัดลำดับประเทศไทยเกี่ยวกับเรื่องนี้
 
           “ทราบว่าขณะนี้ วุฒิสภาสหรัฐฯเตรียมเปิดการไต่สวนความไม่ชอบมาพากล ในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ ประจำปี 2558 ซึ่งอาจเกี่ยวโยงทางการเมือง ส่งผลให้การจัดลำดับไม่ชอบธรรม ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ย่อมเป็นการบั่นทอนความน่าเชื่อถือของรายงานดังกล่าว ซึ่งสมาชิกวุฒิสภาสหรัฐฯ บางคนก็แสดงความไม่เห็นด้วย“ ปธ.กมธ.ต่างประเทศ กล่าว
ด้าน คุณหญิงทรงสุดา ยอดมณี ที่ปรึกษากมธ.ต่างประเทศ กล่าวว่า ไทยกับสหรัฐฯ เป็นมหามิตรกันมานาน แต่รายงานดังกล่าวเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับคำว่า มหามิตร เพราะสหรัฐฯทราบดีว่าการค้ามนุษย์มีมาอย่างยาวนาน ซึ่งไทยก็พยายามแก้ไข จับกุมผู้กระทำผิดอย่างจริงจัง แต่สหรัฐฯไม่ได้นำมาพิจารณาในการจัดลำดับเลย ตนในนามนักเรียนเก่าสหรัฐฯ รู้สึกผิดหวังอย่างมาก จึงอยากให้สหรัฐฯพิจารณาตามความจริง ไม่ใช่การเมืองเพื่อที่ไทยกับสหรัฐฯจะได้เป็นมิตรกันอย่างยั่งยืน
 
 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ