คอลัมนิสต์

ประวัติศาสตร์'ลูกหนังพม่า'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ประวัติศาสตร์'ลูกหนังพม่า' : มนุษย์สองหน้า โดยแคน สาริกา

             หลังจบเกมชิงเหรียญทองฟุตบอลชายในกีฬาซีเกมส์ สื่อพม่าอย่าง Irrawaddynews พาดหัวข่าว "Thailand Dashes Burma’s SEA Games Gold Hopes With 3-0 Win" อย่างทันท่วงที

             แม้ชาวพม่าจะผิดหวังจากเหรียญทองลูกหนัง แต่ก็ยังมีแรงใจเชียร์ทีมชาติพม่าต่อไป เนื่องจากซีเกมส์หนก่อน ทีมพม่าตกรอบแรก ผิดกับครั้งนี้ที่ได้เข้ารอบชิงชนะเลิศ

             วันที่ทีมพม่าชนะเวียดนาม ในรอบรองชนะเลิศ สื่อ Irrawaddynews ถึงกับเขียนข่าวว่า 40 กว่าปีที่รอคอยมาถึงแล้ว!

             อันหมายถึงทีมพม่า ไม่ได้สัมผัสเหรียญทองฟุตบอลกีฬาแหลมทอง (เซียพเกมส์) ครั้งสุดท้ายปี 2516 หลังจากเซียพเกมส์ เปลี่ยนมาเป็นซีเกมส์ พม่าก็ทำได้แค่เข้าชิงชนะเลิศ 2 ครั้ง

             ย้อนไปในประวัติศาสตร์ลูกหนังเอเชีย ระหว่างปี 2508 ถึงปี 2516 เป็นทศวรรษแห่งความรุ่งเรืองของฟุตบอลพม่า

             พม่าได้เหรียญทองฟุตบอลกีฬาแหลมทอง (เซียพเกมส์) 5 สมัย (2508, 2510, 2512, 2514, 2516) และชนะเลิศฟุตบอลกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ 2 สมัย (2509-2513)

             นอกจากนั้น พม่ายังเข้ารอบสุดท้ายฟุตบอลโอลิมปิก 1 สมัย (2515) ที่เมืองมิวนิค ประเทศเยอรมันตะวันตก

             สรุปว่า พม่าเป็น "มหาอำนาจลูกหนังอาเซียน" ในยุคแรกๆ ก่อนจะตกมาเป็นของไทย ที่ได้เหรียญทองซีเกมส์ไปแล้ว 15 สมัย

             ความรุ่งเรืองของลูกหนังพม่านั้น เป็นผลพวงจากการเมืองยุคก่อน หลังได้รับอิสรภาพจากอังกฤษ พม่าในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นประเทศที่กำลังพัฒนาไปสู่ความเจริญเป็นลำดับ ด้วยองค์ประกอบสำคัญ 4 ประการ คือ 1.ระบอบประชาธิปไตยที่อังกฤษวางได้วางรากฐานไว้ 2.ประชาชนมีการศึกษาดี พูดภาษาอังกฤษได้ 3.เศรษฐกิจพม่ารุ่งเรือง 4.การลงทุนและค้าขายกับต่างประเทศก็มีความเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง

             กีฬาฟุตบอลก็เช่นเดียวกัน อังกฤษได้ช่วยวางรากฐานให้แก่วงการลูกหนังพม่า

             ปี 2505 นายพลเนวิน ทำรัฐประหาร ได้สถาปนาระบอบอำนาจนาจนิยมโดยสถาบันทหาร และชูระบอบสังคมนิยมแบบพม่าในทางเศรษฐกิจ

             นายพลเน วิน ปิดประเทศไม่คบค้ากับประเทศตะวันตก แต่ไปมาหาสู่กับสหภาพโซเวียต จึงส่งผลให้มีการนำนักฟุตบอลไปฝึกชั้นเชิงการเล่นแบบยุโรปตะวันออกที่โซเวียต

             ที่สำคัญ นักฟุตบอลทีมชาติมาจากกองทัพพม่าเป็นส่วนใหญ่ จึงทำให้มีระเบียบวินัยแบบทหาร

             40 กว่าปีที่แล้ว พวกเขาจึงพาเหรดติดทีมดาราเอเชียเกือบทั้งทีม เช่น ทิน อ่อง (ผู้รักษาประตู), เอ หม่อง หนึ่ง, เอ หม่อง สอง, ฮเล ฮเตย์, เฮือง เคียน, หม่อง หม่อง มยินต์, หม่อง หม่อง ทิน ฯลฯ

             หลังจากปี 2518 ก็เป็น "ยุคเสื่อม" ของวงการฟุตบอลพม่า เนื่องจากขาดช่วงในการพัฒนาของนักฟุตบอลจากรุ่นสู่รุ่น และปัญหาการล้มบอล สมาคมฟุตบอลของพม่าเองถึงกับไม่ยอมส่งทีมชาติออกนอกประเทศกว่า 10 ปี

             ในปีเดียวกันนั้น ทีมนักเตะไทยก็ได้แชมป์ฟุตบอลในกีฬาแหลมทอง ซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายที่ใช้เซียพเกมส์

             5 กุมภาพันธ์ 2520 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ที่ประชุมมนตรีกีฬาแหลมทอง ได้มีมติให้รับรองอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ เข้าเป็นสมาชิกพร้อมทั้งให้เปลี่ยนชื่อการแข่งขันจากกีฬาแหลมทองหรือเซียพเกมส์ เป็น "ซีเกมส์" และให้ใช้ชื่อนี้ตั้งแต่การแข่งขันครั้งที่ 9 ที่มาเลเซียเป็นเจ้าภาพในปี 2520

             นับแต่พม่าเปิดประเทศ ฟุตบอลพม่าได้เริ่มแสดงศักยภาพของอดีตมหาลูกหนังอาเซียน อย่างเช่นปีนี้ นักเตะพม่า ยู20 ได้ผ่านเข้าไปแข่งขันฟุตบอลโลก ยู20 รอบสุดท้ายที่นิวซีแลนด์ รวมถึงนักเตะ ยู23 ได้เข้าชิงชนะเลิศฟุตบอลในกีฬาซีเกมส์

             เกมลูกหนังมีชนะ มีแพ้ มีรุ่งเรือง มีราโรย...ชาติที่เก่งกาจเกมฟุตบอลในอาเซียนต่างก็เคยผ่านวงจรกีฬาเช่นนี้มาแล้ว รวมทั้งประเทศไทย
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ