ข่าว

ไฟเขียวศึกษาแผนท่าเรือเฟอร์รี่ โปรเจกท์เชื่อมอ่าวไทย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ไฟเขียวศึกษาแผนท่าเรือเฟอร์รี่ โปรเจกท์เชื่อมอ่าวไทย : โดย...ทีมข่าวภูมิภาค

 
                       การประชุม "พัฒนาเชื่อมโยงระบบการขนส่งและการท่องเที่ยวพื้นที่อ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก" โดยมี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน เมื่อเดือนเมษายน ที่ผ่านมา ได้มีแผนงานด้านหนึ่งที่กระทรวงคมนาคมให้การสนับสนุน คือ เร่งรัดการศึกษา แผนสร้างท่าเรือเฟอร์รี่ เชื่อมโยง พัทยา (ชลบุรี)-ชะอำ (เพชรบุรี)-หัวหิน (ประจวบคีรีขันธ์) ให้แล้วเสร็จภายในปี 2559 โดยมีเป้าหมายการเชื่อมโยงเส้นทางขนส่งทางทะเลโซนอ่าวไทย 
 
                       การพัฒนาให้เกิดท่าเรือเฟอร์รี่เชื่อมโยงอ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก สิ่งที่กระทรวงคมนาคมให้น้ำหนัก คือ การทบทวนถึงผลการศึกษาก่อนหน้านี้ ทั้งพื้นที่ท่าเรือที่มีอยู่เดิมกับพื้นที่ใหม่ที่จะจัดสร้าง ทั้งนี้ ตามแผนงานการจัดสร้างท่าเรือฝั่งตะวันออก ได้ศึกษาถึงความเป็นไปได้ต่อการที่จะใช้พื้นที่ท่าเรือแหลมบาลีฮาย หรือท่าเรือโอเชียน มารีน่า ที่อยู่ใน จ.ชลบุรี ส่วนฝั่งตะวันตก พื้นที่เป้าหมายจะมีทั้ง หัวหิน ปราณบุรี ใน จ.ประจวบคีรีขันธ์ หาดปึกเตียน และชะอำ ใน จ.เพชรบุรี 
 
                       ดังนั้นการเกิดขึ้นของโครงการดังกล่าวจะมีส่วนช่วยลดทอนการเดินทางด้วยรถยนต์ ระหว่าง ชลบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ สำหรับขั้นตอนดำเนินการ ขณะนี้กรมเจ้าท่าได้ลงนามว่าจ้างบริษัทเอกชนเข้าทำการศึกษา ใช้งบประมาณรวม 30 ล้านบาท และจะแล้วเสร็จภายใน 12 เดือนนับจากนี้ 
 
                       อย่างไรก็ตาม หากประเมินจากแผนการศึกษาในโครงการดังกล่าวที่ทำไว้ในปี 2555 โดยศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่าการพัฒนาระบบบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการเข้าด้วยกัน ด้วยการจัดทำโครงการท่าเรือเฟอร์รี่ เชื่อมเส้นทางการขนส่งทั้งเพื่อการท่องเที่ยวและขนส่งสินค้า พัทยา-ชะอำ-หัวหิน มีความเป็นไปได้ ในแง่ของความคุ้มค่าต่อการลงทุน ที่สำคัญคือ เป็นการเข้าสู่มิติของการเชื่อมต่อจากขนส่งทางบกมาเป็นขนส่งทางน้ำ
 
                       "ได้สั่งการให้กรมเจ้าท่าไปศึกษาแผนการสร้างท่าเรือเฟอร์รี่ให้เสร็จภายในกลางปี 2559 เพราะจากผลศึกษาเดิมที่ทำไว้ พบว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจระหว่าง 2 พื้นที่เข้าด้วยกัน ช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทาง ซึ่ง คสช.ให้ความสนใจโครงการนี้ เพราะเป็นการเชื่อมโยงอ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกเข้าด้วยกัน" พล.อ.อ.ประจิน ให้สัมภาษณ์ถึงโครงการดังกล่าว
 
                       ทั้งนี้ ผลการศึกษาที่ผ่านมาพบว่า การเดินเรือเฟอร์รี่เส้นทาง พัทยา-ชะอำ-หัวหิน มีความเป็นไปได้ทางการตลาด ถือเป็นการสร้างทางเลือกใหม่ในการเดินทางของผู้โดยสารและการขนส่งสินค้าในระยะใกล้ เป็นการคำนึงถึงองค์ประกอบสนับสนุน ได้แก่ โอกาสที่จะเพิ่มสัดส่วนนักท่องเที่ยวให้แก่พัทยา ชะอำ หัวหิน 
 
                       ส่วนประเด็นที่ต้องพิจารณา คือ ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และความห่วงกังวลของชุมชนที่อยู่ในแนวจัดสร้างท่าเรือ 
 
                       สำหรับความเป็นไปได้ทางการลงทุน แบ่งได้เป็น 2 แนวทาง ทางเลือกที่ 1 ภาคเอกชนเป็นผู้ลงทุนพัฒนาท่าเรือและเดินเรือเองทั้งหมด ทางเลือกที่ 2 รัฐเป็นผู้ลงทุนและให้สัมปทานผู้ประกอบการเดินเรือเช่าท่าเรือและพัฒนาการเดินเรือทั้งหมด และผลการประเมินความเหมาะสมทางการเงินสรุป ให้ข้อพิจารณาในช่วงการศึกษาขณะนั้นว่า ทางเลือกที่ 1 จะไม่มีความคุ้มค่าต่อการลงทุน ส่วนทางเลือกที่ 2 มีความคุ้มค่าต่อการลงทุน ภายใต้กรอบระยะเวลาโครงการรวม 10 ปี จะมีอัตราผลตอบร้อยละ 17 ส่วนความเคลื่อนไหวต่อโครงการ ที่มีตัวแปรสำคัญอยู่ที่ผลการศึกษาที่จะแล้วเสร็จในปี 2559 ก็คือ การเสนอตัวของบริษัท สยามอีสเทิร์น โลจิสติกส์ เทอร์มินอล จำกัด 
 
                       ภาคเอกชนนำเสนอแผนการลงทุนระยะ 4 ปี (2559-2562) โดยใช้งบลงทุนกว่า 4,000 ล้านบาท ครอบคลุมทั้งการต่อเรือ การสร้างอาคาร จุดจอดเรือ ในเส้นทางที่เชื่อมโยง โดยประเมินว่าจะเปิดเดินเรือได้ตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นไปใน 3 เส้นทาง ได้แก่ พัทยา-หัวหิน-ปราณบุรี, เส้นทางบางปู(สมุทรปราการ)-หัวหิน-ปราณบุรี และบางปู-พัทยา
 
                       ขณะที่ นายเรวัต โพธิ์เรียง ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค เมืองพัทยา จ.ชลบุรี เปิดเผยว่า ขั้นตอนศึกษาเพิ่มเติมอยู่ระหว่างการหาสถานที่ก่อสร้างท่าเรือเฟอร์รี่แห่งใหม่ เนื่องจากท่าเรือแหลมบาลีฮาย เมืองพัทยา จ.ชลบุรี โครงสร้างของท่าเรือไม่ได้ถูกออกแบบเพื่อการรองรับรถยนต์ที่จะวิ่งเข้า-ออกเพื่อไปลงและขึ้นมาจากเรือเฟอร์รี่ รวมทั้งระดับความลึกของน้ำทะเลยังไม่สามารถรองรับเรือเฟอร์รี่ขนาดกินน้ำลึกเกิน 4 เมตรได้ เพราะเรือประเภทนี้เป็นเรือขนาดใหญ่ หากใช้ท่าเรือแหลมบาลีฮายก็จะต้องออกแบบใหม่ และยังจะต้องขุดลอกทะเลบริเวณที่เรือจะเข้ามาจอดเทียบท่าให้ลึกเกิน 4 เมตร ซึ่งอาจใช้งบประมาณสูง 
 
                       เช่นเดียวกับ นายรณกิจ เอกะสิงห์ รองนายกเมืองพัทยา กล่าวว่า ท่าเทียบเรือแหลมบาลีฮาย เป็นท่าเทียบเรือที่มีกิจกรรมทางทะเลใช้อยู่ตลอดเวลา และปัจจุบันก็ชำรุดอยู่ระหว่างซ่อมบำรุง ความลึกของระดับน้ำทะเลบริเวณรอบท่าเทียบเรือไม่พอสำหรับเรือเฟอร์รี่ที่กินน้ำลึกเกินกว่า 4 เมตร แต่เมืองพัทยาก็มีความพร้อมสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล 
 
                       ส่วนพื้นที่อยู่ในข่ายที่จะเป็นทางเลือกพัฒนาให้เกิดท่าเรือเฟอ์รี่ คือ พื้นที่ในเขตแหลมฉบัง สัตหีบ รวมถึงท่าเรือแหลมบาลีฮาย พัทยา ซึ่งหากการเชื่อมต่อระหว่างชายฝั่งอ่าวไทยทั้ง 2 ฝั่งเข้าด้วยกันเป็นผลสำเร็จก็จะเป็นผลดีต่อการท่องเที่ยว กลุ่มจังหวัดภาคกลางในโซนนี้ทั้งหมด
 
                       ด้านมุมมองธุรกิจท่องเที่ยว นายสินไชย วัฒนศาสตร์สาธร นายกสมาคมนักธุรกิจและการท่องเที่ยวเมืองพัทยา เห็นว่า การที่พัทยาจะมีท่าเรือเฟอร์รี่เพื่อเชื่อมจากพัทยาไปหัวหิน เชื่อว่าภาคการท่องเที่ยวจะได้รับประโยชน์มากยิ่งขึ้น เพราะเป็นการเพิ่มโครงข่ายคมนาคม
 
                       "การเดินทางโดยเรือเฟอร์รี่จะเป็นอีกประสบการณ์เดินทางอีกรูปแบบหนึ่ง ที่เป็นทางเลือกของนักท่องเที่ยว ผลดีก็จะเกิดกับเศรษฐกิจของเมืองพัทยา ส่วนที่จะไปก่อสร้างเพิ่มเติมที่ท่าเทียบเรือแหลมบาลีฮาย มองว่าปัจจุบันท่าเทียบเรือแหลมบาลีฮายมีการจราจรทั้งทางน้ำและทางบกแออัดอยู่แล้ว ถึงแม้จะขยายท่าเทียบเรือก็คงต้องใช้เม็ดเงินจำนวนมากเทียบเท่ากับการก่อสร้างท่าเรือขึ้นมาใหม่ ดังนั้นน่าจะกระจายพื้นที่พัฒนาออกไป" ความเห็นของนายกสมาคม ที่ต้องการให้สร้างท่าเรือในพื้นที่แห่งใหม่เพื่อกระจายการพัฒนา  
 
                       ขณะที่ความเห็นจากอ่าวไทยฝั่งตะวันตก เช่น นายจำนงค์ ตันติรัตนโอภาส ประธานหอการค้าจังหวัดเพชรบุรี กล่าวสนับสนุนให้เกิดการเชื่อมโยงการขนส่งทางทะเลในจังหวัดที่มีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว เพราะเท่ากับว่าจะเกิดการหมุนเวียนนักท่องเที่ยวระหว่างกัน ขณะที่การขนส่งด้วยเรือเฟอร์รี่ก็จะเป็นทางเลือกใหม่ของการเดินทาง 
 
                       "แต่สิ่งที่ต้องระมัดระวังก็คือ การพัฒนาให้เกิดท่าเรือ ที่จะเชื่อมพื้นที่แต่ละส่วนเข้าด้วยกัน การลงทุนในโครงการขนาดใหญ่กับพื้นที่ริมฝั่ง ถือเป็นความละเอียดอ่อน ต้องมีมาตรการที่จะรองรับมือกับผลกระทบที่จะตามมาต่อระบบนิเวศวิทยาของชายฝั่งที่จะเกิดขึ้นไม่มากก็น้อย จากการเข้าไปใช้พื้นที่ สำหรับภาคเอกชนแล้วเห็นด้วยว่า การพัฒนาเศรษฐกิจต้องเป็นไปในลักษณะที่เชื่อมโยงกลุ่มจังหวัดเข้าด้วยกัน จากเดิมที่ให้น้ำหนักกับจังหวัดที่เป็นศูนย์กลางเท่านั้น" ประธานหอการค้าจังหวัดเพชรบุรี ทั้งหนุนและเตือนถึงผลกระทบที่ต้องมีการศึกษารองรับด้วย
 
                       ส่วน นายศุรอัฐ ณรงค์ฤทธิ์ ประธานหอการค้าจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า หากประเมินจากนโยบายรัฐบาล ที่จะพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาระบบขนส่งทางราง หรือการจัดทำโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง จะเห็นได้ว่า แต่ละโครงการต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก และใช้ระยะเวลาพอสมควรกว่าที่โครงการจะแล้วเสร็จ ดังนั้นหากเทียบกับการพัฒนาเพื่อให้เกิดท่าเรือเฟอร์รี่ในพื้นที่ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางทะเล จึงมีความเป็นไปได้มากที่สุด ที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ งบประมาณในการลงทุนอยู่ในระดับที่เอกชนมีความพร้อมจะเข้ามาดำเนินการได้ สามารถแสวงหาแหล่งเงินทุนได้ โครงการนี้จึงมีความเป็นไปได้มากที่สุด และการเกิดขึ้นของโครงการนี้จะเป็นการปรับเปลี่ยนรูปแบบของการขนส่งให้เกิดขึ้นกับจังหวัดในเขตภาคตะวันออกและจังหวัดในโซนที่เป็นประตูลงสู่ภาคใต้
 
                       นอกจากนี้ ตามแผนงานของกรมเจ้าท่า ที่ศึกษาไว้ในปี 2555 ยังมั่นใจด้วยว่า การขนส่งทางทะเล นอกจากจะสร้างมิติใหม่ด้านกิจกรรมพาณิชยนาวี ที่ผสมผสานระหว่างการขนส่งผู้โดยสารและขนส่งสินค้าแล้ว ในระยะยาวยังจะเอื้อต่อภาคการค้าชายแดนของ จ.ประจวบคีรีขันธ์ จากการเปิดช่องทางการค้ากับประเทศพม่า ผ่านด่านสิงขรอีกด้วย 
 
                       จึงนับเป็นโครงการขนาดใหญ่อีกหนึ่งโปรเจกท์ ที่รัฐบาลชุด "คืนความสุขประชาชน" จะเดินหน้าพัฒนาให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพื่อสร้างโอกาสและสร้างรายได้ให้แก่ท้องถิ่น
 
 
 
 
 
---------------------
 
(ไฟเขียวศึกษาแผนท่าเรือเฟอร์รี่ โปรเจกท์เชื่อมอ่าวไทย : โดย...ทีมข่าวภูมิภาค)
 
 
 
 
logoline

ข่าวที่น่าสนใจ