ข่าว

คนชัยภูมิไม่เป็นหนูทดลองยา..ประกาศไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คนชัยภูมิไม่เป็นหนูทดลองยา ..ประกาศไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน : โดย... สุทธิพงษ์ เสฎฐรังสี

 
          เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ประสบความสำเร็จในการเดินหน้าปลุกผีโครงการทำเหมืองแร่โปแตชอาเซียน ในพื้นที่ อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ หลังจากที่ผลักดันเรื่องนี้มาต่อเนื่องยาวนานกว่า 30 ปี โดยมีการจัดงานฉลองใหญ่ปิดอำเภอเลี้ยงปลอบขวัญชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบ ทั้งนี้เพื่อลดกระแสการต่อต้านจากประชาชนในพื้นที่ท่ามกลางสายตาความเป็นห่วงของชาวบ้านและกลุ่มนักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เพราะเกรงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมาในภายหลังทั้งเรืองดิน น้ำและอากาศ
 
          ล่าสุดมีการเตรียมเดินหน้าโครงการเหมืองแร่โปแตชต่อด้วยการขอตั้งโรงงานไฟฟ้าถ่านหิน เพื่อนำเอาพลังงานไฟฟ้าที่ได้ไปแยกแร่ในพื้นที่เพิ่มเติมอีก โดยไม่ได้บอกกล่าวเรื่องนี้กับชาวบ้านมาก่อน จนชาวบ้านบางส่วนทราบข่าวจากตัวแทนผู้นำชุมชนและถูกขอให้ไปร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็น เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคมที่ผ่านมา ที่หอประชุมอาคารเมตตาการกุศล เขต ทต.บ้านเพชร อ.บำเหน็จณรงค์ โดยมีตัวแทนชุมชนละไม่เกิน 10 คนไปร่วมเวทีรับฟังความเห็นดังกล่าว
 
          การเปิดรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้มีการนำเสนอว่าจะมีการดำเนินการโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม โดยไม่ได้บอกว่าเป็นพลังงานความร้อนร่วมชนิดใด แต่เมื่อเปิดเอกสารดูพบว่าเป็นโครงการสร้างโรงงานไฟฟ้าถ่านหินที่จะมีการก่อสร้างในพื้นที่จึงทำให้ชาวบ้านในพื้นที่หวาดกลัวเพราะกรณีโรงไฟฟ้าแม่เมาะที่มีคำพิพากษาออกมาแล้วว่ามีผลกระทบกับประชาชนและชุมชน ทำให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ เมื่อทราบความจริงก็ยิ่งทำให้ชาวบ้านบำเหน็จณรงค์หวาดกลัว จนต้องเคลื่อนไหวด้วยการนำป้ายออกไปติดตั้งตามจุดต่างๆ ทั่วอำเภอ เพื่อคัดค้านและประกาศไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน พร้อมจี้รัฐหากเดินหน้าก่อสร้างชาวบ้านก็เตรียมตัวออกมาเคลื่อนไหวอีก
 
          เปิดเวทีครั้งนี้มีนายนิพนธ์ สาธิตสมิตพงษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ นำหัวหน้าส่วนราชการไปร่วมเวทีเสวนา แต่ไม่ถึง 20 นาที ก็เดินทางกลับและปล่อยเวทีให้บริษัทเหมืองอาเซียนกับผู้นำท้องถิ่นและชาวบ้านคุยกันเอง โดยมีผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ข้าราชการและแพทย์ประจำตำบล ในพื้นที่ตำบลหัวทะเล บ้านตาล และบ้านเพชร ดำเนินการต่อไปถึงช่วงเที่ยงวัน
 
          เรื่องนี้ "ทนง คำพิทักษ์" ในฐานะตัวแทนชาวบ้านเพชรและหัวทะเล อ.บำเหน็จณรงค์ ที่มาร่วมเวที บอกว่า การดำเนินการครั้งนี้จำเป็นต้องให้สื่อมวลชนรับรู้ข้อมูลและฝากผ่านไปถึงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าจากนี้ไปชาวอำเภอบำเหน็จณรงค์จะไม่ยอมเป็นหนูทดลองยาอีกแล้ว ซึ่งการมาดำเนินการเปิดเวทีครั้งนี้อยู่ดีๆ ก็มาเปิด ทั้งที่ก่อนหน้านี้เรื่องการตั้งโครงการเหมืองแร่โปแตชอาเซียน ชาวบ้านก็ยังงงกับเรื่องนี้อยู่ อยู่ดีๆ ก็จะมาตั้งโรงงานไฟฟ้าถ่านหินอีก เหมือนเป็นการซ้ำเติมชาวบ้านมาก
 
          “แล้วปัญหาเรื่องผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม น้ำ ดิน อากาศ ที่จะตามมาภายหลังใครจะเป็นคนดูแล แล้วแบบนี้ใครจะกล้าให้มาดำเนินการในพื้นที่ชาวบำเหน็จณรงค์ไม่ยอมโดยเด็ดขาด หากอยู่ร่วมกันไม่ได้ก็ยกเลิกโครงการเหมืองแร่โปแตชไปเสีย” ทนง กล่าว
 
          ขณะที่บริษัทเหมืองแร่โปแตชอาเซียน จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้ให้ตัวแทนลุกขึ้นชี้แจงกับชาวบ้านว่า หากจะให้เป็นระบบอื่นนอกเหนือจากโรงไฟฟ้าถ่านหินคงทำได้ยาก เรื่องนี้มีการศึกษามาดีแล้ว ซึ่งการเปิดเวทีครั้งนี้เป็นเพียงการรับฟังความคิดเห็นครั้งแรกเท่านั้น ซึ่งชาวบ้านอาจยังไม่เข้าใจดีพอ และพร้อมรับฟังทุกความคิดเห็นซึ่งเหลือเวทีอีกถึง 3 ครั้งก่อนที่จะขออนุมัติโครงการตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินนี้ต่อไปได้
 
          ขณะที่บรรยากาศส่วนใหญ่ชาวบ้านและผู้นำชุมชนที่ร่วมเวทีครั้งนี้กว่า 500 คน ต่างไม่พอใจต่อการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น โดยยืนยันว่าไม่ยอมรับการตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหิน แต่หากจะตั้งก็ต้องใช้พลังงานอย่างอื่นที่ไม่ใช่ถ่านหิน โดยอาจจะเป็นก๊าซหรือพลังงานแสงอาทิตย์แทน หากบริษัทเหมืองแร่อาเซียนไม่ดำเนินการก็พร้อมเดินหน้าร้องเรียนต่อรัฐบาล
 
          สำหรับแผนการดำเนินงานของบริษัทเหมืองแร่โปแตชอาเซียน จำกัด (มหาชน) หลังได้ใบประทานบัตรจากรัฐบาลมาแล้ว ก็เริ่มดำเนินการเดินหน้าโครงการนี้ทันทีในปีนี้ที่จะต้องใช้เวลาจัดหาผู้รับทำเหมืองใต้ดินได้เสร็จสิ้นไม่เกินปี 2558 นี้ และการดำเนินการขุดเจาะในเฟสแรกในระยะเวลาจากนี้ไปอีก 3 ปีจึงจะสามารถนำแร่ขึ้นมาจากใต้ดินได้ ซึ่งเบื้องต้นจะต้องใช้งบประมาณลงทุนทั้งหมดไม่น้อยกว่า 40,000 ล้านบาท แยกเป็นฝ่ายใต้ดิน 20,000 ล้านบาท ฝ่ายบนดินขบวนการจัดคัดแยกแร่ขนส่งอีกกว่า 20,000 ล้านบาท ซึ่งบริษัทมีสถาบันการเงินทั้งในส่วนภาครัฐเอกชนในประเทศไทยเป็นหุ้นส่วนใหญ่เป็นหลักโดยจะไม่ใช่การร่วมทุนในกลุ่มจากประเทศอาเซียนเหมือนที่ผ่านมา
 
          โครงการยืนยันจากนี้ไปโครงการเหมืองแร่โปแตชอาเซียนที่ชัยภูมิ จะใช้เวลาไม่เกิน 3 ปีก็สามารถมีแร่ผลผลิตขึ้นมาเบื้องต้นถึงจะไม่เต็มที่ไปก่อนก็ตาม แต่ไม่ต่ำ 3-4 แสนตันต่อปี และจากนี้ไปไม่น้อยกว่า 6 ปี ก็จะสามารถผลผลิตได้เต็มที่ไม่น้อยกว่าปีละ 1 ล้านตันขึ้นไปได้อย่างต่อเนื่อง จากนี้ไปในระยะเวลาการทำเหมืองทั้งหมดรวม 25 ปีและคาดว่าจะช่วยลดการนำเข้าปุ๋ยของไทยจากต่างประเทศลดลงได้อีกมากว่า 7,000 ล้านบาทต่อปี


 
logoline

ข่าวที่น่าสนใจ