ข่าว

สนช.ปลดล็อก‘พ.ร.บ.สวนป่า’เปลี่ยนโทษทางปกครอง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สนช.ปลดล็อก‘พ.ร.บ.สวนป่า’ ตัดไม้ศก.จากบัญชี-เปลี่ยนโทษทางปกครอง : ประภาศรี โอสถานนท์รายงาน

               ปมปัญหาของ "พ.ร.บ.สวนป่า" ที่กลุ่มเกษตรกรได้เรียกร้องให้มีการแก้ไข เพราะจะเป็นอุปสรรคต่อการดำรงวิถีชีวิตอย่างมาก โดยเฉพาะการควบคุมไม้ทางเศรษฐกิจ อาทิ ไม้ยางพารา ที่กลุ่มเกษตรกรที่ปลูกต้องแจ้งทางราชการถ้าต้องการตัดไม้ อีกทั้งเป็นช่องให้เกิดการเรียก "ค่าน้ำร้อนน้ำชา" ในการดำเนินการตามระเบียบราชการดังกล่าว

               สะท้อนปัญหาได้จากคำพูดของ นางยิ่งลักษณ์ ปฏิภาณเทวา เครือข่ายผู้ปลูกไม้เศรษฐกิจ ในฐานะเกษตรกรผู้ปลูกไม้สัก เคยให้มุมมองว่า ตั้งแต่มี พ.ร.บ.สวนป่า พ.ศ.2535 เกษตรกรประสบความลำบากในขั้นตอนที่ยุ่งยาก บางครั้งต้องจ่ายเงินแก่เจ้าหน้าที่รัฐเพื่อช่วยให้การขอขึ้นทะเบียน ตัดฟัน รวดเร็วขึ้น ทั้งที่ปลูกต้นไม้ในที่ดินเอกสารสิทธิของตัวเอง ดังนั้นเรียกร้องให้การพิจารณาแก้ไข พ.ร.บ.สวนป่า ควรเพื่อส่งเสริมการปลูกไม้เศรษฐกิจ เพื่อเป็นการส่งเสริมอย่างแท้จริง ป้องกันการสวมตอ

               ล่าสุดในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช.เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ที่ประชุมมีมติตัดไม้เศรษฐกิจออกจากบัญชีแนบท้าย ซึ่งเท่ากับช่วยปลดล็อกปมที่เกษตรกรต้องการ !

               พล.อ.ดนัย มีชูเวท ประธานคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.สวนป่า (ฉบับที่)... (แก้ไข พ.ร.บ.สวนป่า พ.ศ.2535) เปิดเผยว่า ที่ประชุม สนช.มีมติเห็นชอบในวาระ 3 ในร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว โดยมีสาระที่สำคัญในมาตรา 3 เรื่อง คือ การนิยามคำว่า "สวนป่า” ซึ่งหมายความว่าที่ดินที่ได้ขึ้นทะเบียน เพื่อทำการปลูกและบำรุงรักษาต้นไม้ตามบัญชีท้าย พ.ร.บ. ซึ่งได้แก้ไขเพิ่มและถอนรายชื่อต้นไม้ออกจากบัญชีแนบท้ายได้ โดยให้ออกเป็นพระราชกฤษฎีกา จากเดิมที่นำเข้าไปแต่ไม่สามารถนำออกได้ ซึ่งจะสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

               ทั้งนี้ ได้ตัดรายชื่อต้นไม้ที่อยู่ในบัญชีแนบท้าย พ.ร.บ.จำนวน 8 รายการ จากที่ ครม.เสนอเข้ามาจำนวน 66 รายการ อาทิ ยางพารา มะฮอกกานี โกงกาง ยูคาลิปตัส กระถิน สนประดิพัทธ์ เสม็ด เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตเกษตรกรและเพื่อความเหมาะสม

               ส่วนผู้ที่ต้องการขึ้นทะเบียนตาม พ.ร.บ.สวนป่า เป็นไปตามความสมัครใจ โดยหากขึ้นทะเบียนแล้วก็จะได้รับสิทธิ์ต่างๆ โดยไม่ต้องเสียค่าทะเบียน สามารถเก็บของป่าได้ สามารถตัดโค่น แปรรูปไม้หรือเคลื่อนย้ายได้ โดยได้รับการยกเว้นไม่เสียค่าบำรุงหรือค่าภาคหลวง ซึ่งจะไม่กระทบประชาชนโดยทั่วไปหรือผู้ทำสวนป่ารายย่อย หรือเกษตรกรชาวสวนที่จะรื้อ โค่น ตัด สวนยางเพื่อปลูกใหม่ แต่จะกระทบผู้ประกอบการรายใหญ่บางรายเท่านั้น

               พล.อ.ดนัย กล่าวอีกว่า สำหรับโทษของผู้ที่ฝ่าฝืนจากเดิมมีทั้งโทษอาญา ทั้งจำคุกและปรับ กรรมาธิการเห็นว่า กฎหมายฉบับนี้เป็นการส่งเสริม ดังนั้นควรจะให้มีบทลงโทษทางปกครองแทน โดยดูเรื่องเจตนาเป็นหลัก หากมีการละเมิดก็ใช้วิธีการตักเตือน และที่สุดคือการถอนการขึ้นทะเบียนสวนป่าสำหรับผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายฉบับนี้ โดยไม่จัดทำบัญชีแสดงชนิดจำนวนไม้ที่ปลูกตามระเบียบที่กำหนด

               "กรรมาธิการได้ตัดโทษจำคุกออก เหลือเพียงโทษปรับ 1 หมื่นบาท หรือหากทำบัญชีเป็นเท็จ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท ส่วนกรณีความผิดจากการค้า มีไว้ในครอบครอง หรือนำไม้มาสวมตอ จะมีความผิดระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือนหรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ" ประธานคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ กล่าว

               ที่ประชุม สนช. ได้เห็นชอบในวาระ 3 ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ประกาศใช้เป็นกฎหมาย ด้วยคะแนน 185 ต่อ 2 งดออกเสียง 5 เสียง โดยได้ถกเถียงกันในประเด็นโทษอาญาและได้ปรับแก้ไขให้มีความเหมาะสม สำหรับสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บฉบับนี้ เป็นการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.สวนป่า พ.ศ.2535 ที่มีบทบัญญัติบางประการที่ไม่เหมาะสมและเป็นอุปสรรคต่อการสนับสนุนส่งเสริมให้มีการปลูกสร้างสวนป่า รวมทั้งเป็นปัญหาอุปสรรคในการแปรรูปไม้และการออกใบรับรองไม้ที่ได้มาจากการทำสวนป่า และความไม่ชัดเจนของสถานะของสัตว์ป่าหรือของป่าในสวนป่า

               ดังนั้น ที่ประชุมเห็นสมควรต้องแก้ไขหลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนสวนป่า และปรับปรุงมาตรการในการกำกับดูแลและแก้ไขเพิ่มเติมบทกำหนดโทษให้เหมาะสมยิ่งขึ้น เพื่อเป็นมาตรการในการส่งเสริมและจูงใจให้มีการปลูกสร้างสวนป่า ควบคู่ไปกับการบริหารจัดการพื้นที่ป่าไม้ของประเทศให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และกำหนดบทนิยามของป่า จากเดิมที่สวนป่ามีแค่ 2 ชนิด แต่ของใหม่ได้เพิ่มขึ้นมาอีก 62 ชนิด เป็น 64 ?ชนิด และที่ผ่านมาความต้องการไม้เพิ่มมากขึ้นหลังจาก 25 ปีที่ปิดป่า และตอบสนองนโยบายรัฐบาลที่ต้องการเพิ่มพื้นป่าเป็น 40 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2567 จากเดิมที่มี 32 เปอร์เซ็นต์

               อีกทั้ง ยังสอดคล้องกับการส่งเสริมการค้าไม้ต่างประเทศ ให้นำไม้ซึ่งมีที่มาที่ไปแปรรูปขายไปยังต่างประเทศ และสอดรับกับการจัดสรรที่ดินให้เอกชน ซึ่งบางพื้นที่ไม่สามารถออกเอกสารสิทธิได้ ก็ให้ทำเป็นรูปแบบสหกรณ์ เพราะบางแปลงเหมาะกับการทำสวนป่า ทั้งนี้ยังมีข้อที่น่าเป็นห่วงและได้พยายามแก้ไขทั้งเรื่องการจัดสรรที่ดิน การเปิดให้สามารถเคลื่อนย้ายไม้ได้ง่ายขึ้น หรือการอนุญาตให้ตั้งโรงเลื่อยไม้ในพื้นที่รายแปลงตามที่กำหนดเพื่ออำนวยความสะดวก
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ