ข่าว

ช่องทางเล็กๆ ช่วยสร้าง สภาพคล่องให้เอสเอ็มอี

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สวัสดีเศรษฐกิจ : ช่องทางเล็กๆ ช่วยสร้าง สภาพคล่องให้เอสเอ็มอี : โดย...สุรพล โอภาสเสถียร

 
                              มีการพูดกันมานานแล้วว่า หากว่าเอสเอ็มอีมีทรัพย์สินประเภทเครื่องจักรที่เคลื่อนที่ได้ หรือถือว่าเป็นสังหาริมทรัพย์แล้วจะสามารถนำไปจำนำเป็นหลักประกันกับสถาบันการเงินเพื่อให้ได้เงินทุนหมุนเวียนได้หรือไม่ แล้วหน่วยงานของทางการที่เกี่ยวข้องจะสนับสนุนช่องทางเล็กๆ ให้เอสเอ็มอีทำได้ มันก็น่าจะช่วยสร้างสภาพคล่องได้พอสมควรในเวลานี้ 
 
                              ในอดีตนั้น ธนาคารจะให้เงินกู้กับเอสเอ็มอี โดยมีการนำเครื่องจักรมาจำนำเป็นประกันหนี้ โดยดำเนินการดังนี้
 
                              1.ทำสัญญาจำนำเครื่องจักรเพื่อเป็นหลักประกันสินเชื่อ
 
                              2.ทำหนังสือส่งมอบเครื่องจักรให้แก่สถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้ เพื่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าการครอบครอง
 
                              3.สถาบันการเงินทำสัญญาแต่งตั้งให้ลูกหนี้เป็นผู้รักษาทรัพย์สินซึ่งก็คือเครื่องจักรนั้น
 
                              4.ลูกหนี้ก็ยังใช้เครื่องจักรนั้นในการผลิตสินค้าเพื่อนำออกจำหน่าย และยังต้องดูแล บำรุงรักษาเครื่องจักรนั้นให้ยังทำงานได้ต่อไป 
 
                              5.การพัฒนาข้อสัญญาในการจำนำเพื่อให้ทรัพย์ที่จำนำ 
 
                              ปัจจุบันนี้ท่านอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้มีแนวทางและสื่อสารออกมาว่าจะเร่งกระตุ้นให้ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม เร่งนำเครื่องจักรของตนเองเข้ามาจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เครื่องจักรกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อนำใบจดทะเบียนกรรมสิทธิ์ไปเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันในการขอสินเชื่อ ลักษณะเช่นเดียวกับโฉนดที่ดิน หรือสมุดจดทะเบียนรถยนต์
 
                              ทั้งนี้ อุตสาหกรรมที่สามารถนำเครื่องจักรจดทะเบียนกรรมสิทธิ์ได้ทุกประเภท เช่น อุตสาหกรรมน้ำแข็ง, อาหารสำหรับสัตว์ ผลิตสุราหรือเบียร์ เครื่องนุ่งห่ม เหล็ก, โลหะที่ไม่ใช่เหล็ก เครื่องยนต์ เครื่องจักรไฟฟ้า เยื่อกระดาษ ลูกกวาด ทอฟฟี ช็อกโกแลต นาฬิกา เครื่องปั้นดินเผา อากาศยาน รถยนต์ การเกษตร เป็นต้น ยกเว้น อุตสาหกรรมก่อสร้าง เนื่องจากไม่มีสถานที่ตั้งชัดเจน
 
                              ขั้นตอนการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เครื่องจักรก็ไม่ได้ยุ่งยากอะไร กล่าวคือ ยื่นคำขอจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เครื่องจักร พร้อมเอกสารหลักฐาน จากนั้นเจ้าหน้าที่จะเข้าไปตรวจเครื่องจักรและเอกสารต่างๆ จะประกาศภายใน 5 วัน หลังจากยื่นและเอกสารครบถ้วน หากทุกอย่างถูกต้องตามกฎเกณฑ์ ผู้ประกอบการก็มาชำระค่าธรรมเนียม เช่น มูลค่าเครื่องจักรไม่เกิน 50,000 บาท เสียค่าธรรมเนียม 50 บาท มูลค่าเกินกว่า 100,000 บาท เสียเครื่องละ 250 บาท หรือถ้าจดทะเบียนหลายเครื่องและมีมูลค่าต่างกันในโรงงานเดียวกัน และครั้งเดียวกันคิดสูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท จากนั้นกรมจะติดแผ่นป้ายหมายเลขทะเบียนให้ และออกหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเครื่องจักร สำหรับผลการดำเนินงานของสำนักงานทะเบียนเครื่องจักรตั้งแต่ปี 2515-2557 มีผู้ประกอบการจดทะเบียนจำนวน 55,670 ราย โดยเครื่องจักรที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว 790,123 เครื่อง
 
                              ท่านผู้ประกอบการลองพิจารณาช่องทางเล็กๆ ที่เล่ามาข้างต้น หากเราทำได้มันจะช่วยสร้างสภาพคล่องให้กับเอสเอ็มอีในเวลานี้ได้บ้างนะครับ
 
 
 
 
 
 
 
-------------------------------
 
(สวัสดีเศรษฐกิจ : ช่องทางเล็กๆ ช่วยสร้าง สภาพคล่องให้เอสเอ็มอี : โดย...สุรพล โอภาสเสถียร)
 
 
 
 
 
 
logoline

ข่าวที่น่าสนใจ