คอลัมนิสต์

‘เพื่อไทย-นปช.’ต้องสมดุล ‘อำนาจ-มวลชน’

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

‘เพื่อไทย-นปช.’ต้องสมดุล ‘อำนาจ-มวลชน’ : ขยายปมร้อน โดยอรรถยุทธ บุตรศรีภูมิ

               ถือว่าไม่เหนือความคาดหมาย ที่พรรคเพื่อไทยและ นปช. ประกาศไม่เข้าร่วมให้ความเห็นต่อกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพราะดูจากท่าทีที่ยื้อไปมาแต่ต้นก็พอจะเดาออกได้เลาๆ

               แต่เหตุใดที่ทำให้พรรคเพื่อไทยและ นปช. ตัดสินใจเช่นนั้น ประการแรกเราต้องเข้าใจก่อนว่า ทั้ง "เพื่อไทย" และ "นปช." ต่างเป็นแขนขาของกันและกัน แม้จะมีความพยายามปฏิเสธว่าทั้งสองไม่ขึ้นตรงต่อกัน แต่รากเหง้าการเกิด การเติบโต และการดำรงอยู่ ต่างก็อาศัยซึ่งกันและกัน ดังนั้นการตัดสินใจจึงแทบจะเป็นไปไม่ได้ที่จะต่างกัน แม้ในวันที่เห็นต่างกันก็ตาม

               ประการต่อมาคือ จุดแข็งของทั้งสองคือ การใช้ประชาธิปไตยแบบเสียงข้างมากเป็นตัวหนุนหลังความชอบธรรมในการดำเนินการ รวมถึงการประกาศตัวปฏิเสธอำนาจนอกระบบในทุกวิถีทาง พวกเขาจะยังได้รับความนิยมจากมวลชนอยู่ตราบใดที่ยังยึดหลักนี้อยู่

               ว่ากันตามจริงแล้ว หลังการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ทั้งพรรคเพื่อไทย และ นปช. ถูกตั้งคำถามจากมวลชนอยู่ไม่น้อย ถึงการสยบยอมต่อการยึดอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นการหยุดความเคลื่อนไหว การไม่ต่อสู้ การยอมเข้าไปรายงานตัว และทำตัวเป็นเด็กดีของ คสช.ในหลายๆ ครั้ง ดังจะเห็นได้จากช่วงแรกมีการยอมไปขึ้นเวทีปรองดองที่จัดขึ้น ท่ามกลางสายตาที่เริ่มมองว่าพวกเขากำลังทำเพื่อตัวเองหรือไม่

               แม้จะบอกว่า ที่จำต้องทำเพราะถูกบีบบังคับ แต่สายสุดขั้วก็ยังตั้งคำถามอยู่ดีว่าอำนาจที่ประชาชนให้ไปในการเลือกตั้งนั้นย่อมต้องมาพร้อมกับความรับผิดชอบในการพิทักษ์อำนาจ

               แต่ขณะที่มวลชนโดยมากแม้จะมองอย่างเข้าใจ แต่ก็ใช่ว่าจะสนิทใจเหมือนอย่างที่ผ่านๆ มา

               ดังนั้นความเคลื่อนไหวในครั้งนี้จึงถูกจับตาเป็นพิเศษว่า "เพื่อไทย - นปช." จะยอมเข้าร่วมกับกระบวนการ "ขอความเห็น" จากกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะหากพวกเขายอมเข้าร่วมก็ยิ่งจะถูกตั้งคำถามหนักกว่าเดิมถึงจุดยืนการไม่เข้าร่วมกระบวนการหลังยึดอำนาจ และอาจจะหมายถึงกระบวนการรับรองความชอบธรรมอีกด้วย

               ในขณะเดียวกันก็ย่อมต้องรักษาความสมดุล เพราะอำนาจ ณ ปัจจุบันก็กำลังมองพวกเขาอย่างหวาดระแวง แต่ครั้นจะกระโดดเข้าร่วมเลยก็จะยิ่งเสียมวลชนหนักเข้าไปอีก

               คำถามคือ ทำไมพวกเขายังต้องรักษามวลชนเอาไว้ ทั้งๆ ที่ผู้มีอำนาจขณะนี้พยายามที่จะสลายมวลชนทางการเมืองทิ้ง คำตอบมีเพียงหนึ่งเดียวคือ วันนี้กลุ่มพวกเขาอยู่ในสถานะ "รอคอย" เพราะเชื่อว่าอำนาจแบบนี้จะไม่อยู่ยั่งยืน และมีความจำเป็นต้องคืนอำนาจโดยการเลือกตั้ง

               เมื่อถึงวันเลือกตั้งพวกเขาก็ยังมั่นใจว่า อย่างไรเสียถ้าโลกไม่ถล่มดินไม่ทลายพวกเขาก็จะกลับเข้าสู่อำนาจ ดังนั้นวันนี้ทุกองคาพยพในขั้วดังกล่าวจึงอยู่ในภาวะหยุดนิ่ง รอว่า คสช.จะทำตาม "สัญญา" หรือไม่

               ถ้าทุกอย่างไม่เป็นไปตามนั้น 1 ปี ผ่านไปแล้วไม่มีเลือกตั้ง คสช.ยังอยู่ในอำนาจ นี่ก็เป็นเวลาที่ต้องใช้มวลชนเข้ากดดัน จริงอยู่ที่หากถึงเวลานั้นแล้วฝ่ายการเมืองเองอาจจะไม่ต้องลงทุนลงแรงปลุกม็อบ เพราะมีความเป็นไปได้สูงว่า คนในสังคมย่อมขยับด้วยตัวของตัวเอง โดยมิต้องรอพรรคการเมือง หรือขั้วอำนาจมาสนับสนุน

               แต่หากเลือกที่ปล่อยไปเรื่อยๆ ไม่รักษามวลชน และถึงวันที่ว่าขึ้นมาจริงๆ พวกเขาเองต่างหากที่จะเป็นฝ่ายตกขบวน และเมื่อนั้นสิ่งที่แน่ก็อาจจะไม่แน่อีกต่อไป

               งานนี้พวกเขาจึงต้องรักษาสมดุลให้ดี "อำนาจรัฐก็ต้องเอาใจ มวลชนก็ต้องจัดไปอย่าให้เสีย" นี่คือภาวะที่ "เพื่อไทย-นปช." ต้องรักษาสมดุลไปเรื่อยๆ จนกว่าจะครบ 1 ปี
                 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ