Lifestyle

จุฬาฯเผยโฉม‘ตะขาบม่วง-ไส้เดือนยักษ์พันธุ์ไทย’

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

จุฬาฯ ร่วม สกว. เผย ‘ตะขาบม่วงสิมิลัน-ไส้เดือนยักษ์พันธุ์ไทย’ กว่า 50 ชนิด

 
                  7 ต.ค.57 ศาสตราจารย์ นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (จุฬาฯ) และ ศาสตราจารย์ นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ หารหนองบัว คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ศาสตราจารย์ ดร.สมศักดิ์ ปัญหา หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยซิสเทมาติกส์ของสัตว์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมกันเปิดแถลงข่าว “เลื้อยสนั่นโลก!!! ที่สุดของการค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ของโลก” ที่ห้องประชุมดีภัก ซี เจน อาคารศศนิเวศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 
                  ศาสตราจารย์ ดร.สมศักดิ์ ปัญหา อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา รองคณบดี คณะวิทยาศาสตร์ ในฐานะหัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยซิสเทมาติกส์ของสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังในดิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า วันนี้เป็นการเปิดตัวไส้เดือนสายพันธุ์ของไทยกว่า 50 สายพันธุ์ และไส้เดือนชนิดใหม่ 20 สายพันธุ์ ที่พบในระบบนิเวศที่หลากหลายของไทย การค้นพบนี้เป็นผลมาจากการสนับสนุนของจุฬาฯ และสกว. เพื่อพัฒนางานวิจัยด้านอนุกรมวิธานและซิสเทมาติกส์ของสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังในดิน ได้แก่ หอยทาก กิ้งกือ ตะขาบ และไส้เดือนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะตะขาบม่วงสิมิลัน ตะขาบชนิดใหม่ของโลก ซึ่งตะขาบเป็นสัตว์ผู้ล่าในระบบนิเวศป่าไม้โดยมีเขี้ยวพิษและน้ำพิษที่ถูกพัฒนาเพื่อใช้ในการล่าเหยื่อ ด้วยบทบาทดังกล่าวในระบบนิเวศ ทำให้ตะขาบถูกจัดเป็นตัวควบคุมประชากรของสิ่งมีชีวิตอื่นๆ และสามารถใช้ชี้วัดสมดุลในระบบนิเวศตามธรรมชาติได้
 
                  “อาจกล่าวได้ว่าตะขาบเป็น “ฟอสซิลที่ยังมีชีวิต” ทำให้สามารถใช้เป็นสิ่งมีชีวิตต้นแบบที่สำคัญเพื่อการศึกษาเกี่ยวกับกระบวนการพัฒนาและการปรับตัวของสิ่งมีชีวิตให้เข้ากับสภาพแวดล้อม และภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว” ดร.สมศักดิ์ กล่าว
 
                  ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ ดร.สมศักดิ์ และคณะนักวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำการศึกษาวิจัยสายพันธุ์ของตะขาบที่มีอยู่ในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ ลาว พม่า และมาเลเซีย ตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ. 2554 และได้ค้นพบตะขาบชนิดใหม่ของโลกในประเทศไทย จากหมู่เกาะสิมิลัน จังหวัดพังงา ภายใต้โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชสมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดาสยามบรมราชกุมารี โดยตะขาบชนิดใหม่ของโลกนี้ได้รับพระราชทานชื่อวิทยาศาสตร์จากพระองค์ท่านว่า Sterropristes violaceus Muadsub and Panha, 2012 โดยคำว่า “violaceus” ในชื่อวิทยาศาสตร์หมายถึงสีม่วงของลำตัวตะขาบซึ่งตรงกับสีวันพระราชสมภพของพระองค์ท่าน
 
                  โดยการค้นพบครั้งนี้ได้รับตีพิมพ์ลงในวารสารวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติ ตะขาบม่วงสิมิลันนี้พบอาศัยอยู่บนหมู่เกาะในทะเลอันดามันเท่านั้น ซึ่งข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับหลักฐานทางธรณีวิทยาเกี่ยวกับการกำเนิดของเกาะ ที่ถูกตัดขาดจากแผ่นดินใหญ่เมื่อน้ำทะเลขึ้นสูงเมื่อหลายพันปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดลักษณะและสภาพแวดล้อมที่จำเพาะต่อตะขาบชนิดนี้ และจากการค้นพบในครั้งนี้ทำให้ “ตะขาบม่วงสิมิลัน” กลายเป็นทรัพยากรทางพันธุกรรมที่สำคัญและมีมูลค่าของชาติ
 
                  นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ ดร.สมศักดิ์ ปัญหา ยังได้นำเสนองานวิจัยเกี่ยวกับไส้เดือนสายพันธุ์ไทยที่มีการเก็บตัวอย่างและศึกษาไส้เดือนทั่วประเทศไทยพบว่าจนถึงปัจจุบันประเทศไทยมีการค้นพบ และยืนยันแล้วกว่า 50 สายพันธุ์ และคาดว่าน่าจะมีมากกว่า 100 สายพันธุ์ ไส้เดือนชนิดที่โดดเด่นได้แก่ ไส้เดือนยักษ์แม่น้ำโขง Amynthas maekongianus พบที่ริมชายหาดแม่น้ำโขงหลายพื้นที่สองฝั่งโขงของไทยและลาว มีบทบาททำให้ดินบริเวณแม่น้ำโขงอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การทำการเกษตร ไส้เดือนขี้ตาแร่ Metaphire peguana พบทั่วไปในแทบทุกพื้นที่ในประเทศไทย ขี้คู้ Metaphire posthuma ไส้เดือนแดง Perionyx excavatus ไส้เดือนคันนาสกุล Drawida ที่พบในระบบนิเวศป่าแบบต่างๆ รวมถึงระบบนิเวศทางการเกษตร เกษตรกรนำไส้เดือนบางสายพันธุ์มาทำฟาร์มเพาะเลี้ยงเพื่อใช้ประโยชน์อย่างหลากหลาย เป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดี
 
                  “ทั้งนี้จากการศึกษาวิจัยของตนและทีมวิจัยพบว่าไส้เดือนแต่ละสายพันธุ์มีความจำเพาะต่ออาหาร ดินและถิ่นอาศัยที่แตกต่างกัน บางชนิดพบเฉพาะป่าดิบชื้น เขาหินปูน ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ หรือแม้แต่ในนาข้าว บางชนิดดำรงชีวิตได้ดีในดินทราย ดินร่วนปนทราย หรือดินเหนียว และบางชนิดสามารถย่อยใบไม้แห้งได้ดี บางชนิดชอบย่อยซากพืชผักผลไม้ที่เน่าเปื่อย หรือบางชนิดชอบย่อยมูลสัตว์ เป็นต้น ไส้เดือนจึงเหมาะที่จะใช้เป็นดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของสิ่งแวดล้อม ลดความเป็นพิษของสารตกค้างได้ ปรับปรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์กำจัดสารเคมีปนเปื้อนในดิน ความสัมพันธ์เชิงนิเวศระหว่างไส้เดือนกับอาหาร ดิน และบทบาทในเชิงโลจิสติกส์ สามารถนำมาประยุกต์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพของชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด และยั่งยืน ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง และในวิถีเกษตรอินทรีย์ของไทยที่กลายเป็นความต้องการของคนทั้งโลกไปแล้ว”
 
 
 
 
 
logoline

ข่าวที่น่าสนใจ