ข่าว

ทำไมต้องเป็น'พล.อ.ประยุทธ์'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ทำไมต้องเป็น'พล.อ.ประยุทธ์' : ทีมข่าวความมั่นคง

                ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของประเทศไทย วันที่ 21 สิงหาคม 2557 วันประกาศรับรอง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่จะขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ของเมืองไทย

                เหลือแต่เพียงการโหวตลงมติในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เท่านั้น โดยนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ได้บรรจุวาระการเลือกนายกรัฐมนตรีไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

                แต่การก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 คงหนีไม่พ้นเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาภายหลัง แม้ว่าในช่วงแรกๆ จะมีเสียงสนับสนุนค่อนประเทศก็ตาม

                เมื่อสถานการณ์บ้านเมืองไม่เป็นปกติแบบนี้ หลายคนก็มองว่าคงต้องปล่อยให้ พล.อ.ประยุทธ์ ขึ้นมาสานต่อนโยบายเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย “โรดแม็พ” ตามที่ คสช.ได้ตั้งเป้าไว้ว่าภายในปี 2558 จะปฏิรูปประเทศไทยให้สมบูรณ์ เพื่อเดินหน้าสู่ระบอบประชาธิปไตยด้วยการจัดให้มีเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับถาวร

                ถึงแม้ว่าชื่อของ พล.อ.ประยุทธ์ จะถูกเรียกร้องให้ขึ้นนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีตั้งแต่ก่อนหน้านี้ แต่ก็ยังคงมีคำถามว่า เหตุใดถึงต้องเป็น พล.อ.ประยุทธ์ ผู้ที่นำกำลังทหารยึดอำนาจ แล้วกลับก้าวขึ้นรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

                อาจจะเป็นเพราะว่า ด้วยสถานการณ์ที่ไม่ปกติ บ้านเมืองต้องการผู้ที่มีอำนาจทั้งในด้านการบริหารประเทศและด้านความมั่นคง ที่ฝ่ายความมั่นคง โดยเฉพาะคนในกองทัพยอมรับ

                เหตุผลถัดมาก็คือ บทเรียนจากการยึดอำนาจเมื่อปี 2549 ที่เมื่อกองทัพยึดอำนาจแล้ว เชิญ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ มารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ส่วน พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้นำในการยึดอำนาจนั้น ถึงจะรับผิดชอบด้านความมั่นคง แต่ด้วยสถานการณ์การเมืองและภาวะเศรษฐกิจในขณะนั้น ทำให้ พล.อ.สนธิ ไม่กล้าที่จะเอ่ยปากเรียกร้องให้ผู้นำรัฐบาลซึ่งเป็น "รุ่นพี่" ที่ "ธรรมเนียมทหาร" ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่จะต้องยึดเป็นประเพณีปฏิบัติ

                เหตุผลที่ว่านั้น ก็ต้องรวมไปถึงคำถามที่ว่า เหตุใดจึงไม่เลือก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พี่ใหญ่แห่งบูรพาพยัคฆ์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยเช่นกัน เพราะหากพี่ขึ้นไปรับตำแหน่งนั้น น้องๆ ที่ดูแลงานด้านความมั่นคงซึ่งแยกจากการบริหารราชการแผ่นดินแทบไม่ออก จะทำอย่างไรหากต้องตกอยู่ในภาวะเดียวกับ พล.อ.สนธิ

                แล้วทำไมไม่เป็นคนนอก คำถามนี้ ภายใน คสช.คงจะมีการถกเถียงกัน และน่าจะได้คำตอบเรียบร้อยไปนานแล้ว เพราะขนาดพี่น้องร่วมกองทัพกันมายังสร้างความอึดอัดได้ขนาดนี้ "คนนอก" ที่ไหนจะเข้ามาเป็นแก่นแกนให้ คสช.ครอบเอาไว้อีกที

                บททดสอบในการขับเคลื่อนประเทศในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา คงจะเพียงพอต่อการบริหารประเทศไทย ประเด็นนี้ในส่วนของ ผบ.เหล่าทัพ อันได้แก่ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผู้บัญชาการทหารเรือ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ และ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ตัดสินใจร่วมกันแล้วที่จะ “เปลี่ยนแปลงประเทศ” ก็จะต้องเดินให้เต็มที่

                ถึงแม้ทุกคนจะรับรู้ว่า วันที่ก้าวขึ้นรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จะเป็นวันที่ "คลื่นใต้น้ำ" จะเริ่มเคลื่อนไหว

                ซึ่งจุดนี้ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ผู้ช่วย ผบ.ทบ. เคยพูดไว้ว่า "พวกเราเป็นหน่วยรบ ก่อนที่เราจะรบ เรารู้หมด เรื่องเคลื่อนไหว ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ถ้าสงบไม่เคลื่อนไหวอะไรเลยสิเรื่องแปลก"

                แต่นั่นก็เป็นการพูดไว้ก่อนหน้านี้ สถานการณ์ในวันที่โพลล์สำนักต่างๆ ชี้ให้เห็นว่า ประเทศไทยต้องการผู้นำที่เด็ดขาด มีอำนาจมากพอที่จะสั่งการให้องคาพยพต่างๆ ขับเคลื่อนไปในทันทีที่ได้บทสรุปว่า "จำเป็นต้องทำ"

                แม้ว่าภาพลักษณ์ของ "ทหาร" นั้นจะเสียดแทงใจอยู่บ้างกับหลักการประชาธิปไตย แต่ภาพลักษณ์ของทหารในยุคที่ พล.อ.ประยุทธ์ ขึ้นเป็นผู้นำสูงสุดของกองทัพบก แม้จะยาวนานถึง 4 ปี แต่ก็ทำให้ทหารค่อยๆ ซึมเข้าไปอยู่ในความรู้สึกของประชาชน

                โดยเฉพาะช่วงที่เกิดวิกฤติการณ์น้ำท่วมใหญ่ กองทัพกลับพลิกวิกฤติเป็นโอกาส สร้างศรัทธาให้แก่ประชาชนคนไทยทั้งประเทศ

                ทหารกลับเข้ามาอยู่ในหัวใจของคนไทย จากการเสียสละทั้งกำลังใจและกำลังกายเข้าช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากน้ำท่วมขังมานานนับเดือน

                ช่วงชิงคะแนนนิยมจากรัฐบาลที่พยายามตั้งศูนย์ช่วยเหลือน้ำท่วมไปชนิดไม่เห็นฝุ่น

                อย่างไรก็ตาม 3 เดือนที่ผ่านมาถือว่าเป็นห้วงเวลาแห่งการเรียนรู้ และยังใช้อำนาจพิเศษในการบริหารประเทศ บรรยากาศการชี้แจง "ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณแผ่นดิน" อันเต็มไปด้วยเสียงชื่นชม ซึ่งต้องยอมรับว่า เป็นเพราะ เป็นการแถลงในนาม "หัวหน้า คสช." หาใช่ตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี ไม่

                นับจากนี้ไปยังมีสิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะต้องพิสูจน์อีกหลายสิ่ง นอกเหนือจาก "โรดแม็พ" ที่วางเอาไว้ว่าต้องทำอยู่แล้ว
 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ