ข่าว

เลขาฯป.ป.ท.ลั่น!'ขรก.ทุจริตคือขยะส่วนราชการ'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เลขาฯป.ป.ท.คนใหม่กับภารกิจปราบทุจริตระยะเร่งด่วน 'ข้าราชการทุจริตคือขยะของส่วนราชการ' : สัมภาษณ์พิเศษ 'ประยงค์ ปรียาจิตต์' โดยปิยะนุช ทำนุเกษตรไชย

                เปิดใจ “ประยงค์ ปรียาจิตต์” หลังได้รับความไว้วางใจจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้คุมงานปราบทุจริต ในตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) โดย “เลขาฯ ประยงค์” ออกตัวว่า ตำแหน่งนี้ไม่ใช่ได้มาเพราะสนิทกับ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา หัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม แต่เคยทำงานยาเสพติดร่วมกับทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง รู้จักกันด้วยหน้าที่การงาน และมีโอกาสพบปะพูดคุยกับ พล.อ.ไพบูลย์ ในช่วงที่เรียกประชุมหัวหน้าส่วนราชการ แล้ว พ.ต.อ.ประเวศน์ มูลประมุข อดีตเลขาธิการ ป.ป.ท.ไม่อยู่

-มีแนวทางการอย่างไรในการปราบปรามการทุจริตเพื่อให้เป็นไปตามคำสั่งของคสช.

                คำสั่งที่ 69 เป็นคำสั่งที่ตรงจุดที่สุด เพราะการปราบทุจริตนั้น เดิมเราเอาไปผูกไว้กับคดีอาญา ซึ่งการต่อสู้คดีใช้เวลายาวนาน ทำให้คนกล้าทำผิด ตลอด 10 ปีที่ผ่านมากระบวนการทางอาญาไม่เกิดผล แทบจะไม่ได้ตัวคนผิดมาลงโทษ คำสั่งที่ 69 จึงกำหนดให้หัวหน้าส่วนราชการต้องขับเคลื่อนตาม โดยตรวจสอบและดำเนินการทางวินัยกับข้าราชการในสังกัดที่ถูกร้องเรียนว่าเกี่ยวพันกับการทุจริตให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน ในกรณีที่สั่งลงโทษทางวินัยร้ายแรงและมีความผิดอาญาต้องสรุปความเห็นส่งให้ ป.ป.ท.หรือป.ป.ช.ไต่สวน หากทำไม่เสร็จภายในกรอบเวลา หรือผลสอบออกมาในทางตรงกันข้ามกับข้อเท็จจริงแล้ว ป.ป.ท.เข้าตรวจสอบซ้ำหัวหน้าส่วนราชการจะมีความผิดวินัยเสียเอง คำสั่งที่ 69 จึงเป็นการตัดไฟแต่ต้นลม

                "ข้าราชการทุจริตคือขยะของส่วนราชการ ป.ป.ท.มีหน้าที่เข้าไปกำจัดขยะ ปัญหาทุจริตในขณะนี้ไม่ใช่แค่การหาเศษหาเลยจากงบประมาณ แต่ลงลึกไปปรับเปลี่ยนทัศนคติของคนในชาติว่าโกงไม่เป็นไร ผลของการทุจริตยังกระทบต่อโครงสร้างของประเทศ ในด้านเศรษฐกิจเห็นได้ชัดจากการทุจริตข้าว กลุ่มการค้าและนักธุรกิจวิ่งเข้าหากลุ่มอำนาจเพื่อหาความได้เปรียบ โครงสร้างทางการเมือง การเลือกตั้งเป็นเครื่องมือการเข้าสู่อำนาจของคนบางกลุ่ม หนักที่สุดคือการเข้าแทรกแซงระบบราชการ ใช้ข้าราชการเป็นเครื่องมือ ซึ่งส่งผลกระทบอย่างหนัก เพราะประเทศเราออกแบบมาให้ข้าราชการเป็นผู้รักษากฎหมาย รักษาความสงบ และพัฒนาประเทศ ปัญหาในขณะนี้รุนแรงกว่ากลไกปกติจะแก้ไข"

-คสช.ให้เวลาพิสูจน์ผลงานกี่เดือน

                คสช.ไม่ได้ขีดเส้นหรือตีกรอบอะไร แต่ขอให้เร่งรัดทุกเรื่อง ผมมีเวลาอีก 3 ปี จะครบเกษียณอายุราชการ ตั้งใจจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด โดยในระยะเร่งด่วนผมตั้งเป้าพิสูจน์ผลงานให้เห็นภายใน 3 เดือน โดยเรื่องที่สามารถผลักดันให้เห็นผลทางปฏิบัติแบ่งเป็น 5 ด้าน 1.ปัญหาบุกรุกแผ้วถางป่าสงวนและเขตอุทยานแห่งชาติ ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ระดับพื้นที่เข้าดำเนินการแต่ไม่มีคืบหน้า ดังนั้น ป.ป.ท.จะเข้าไปกระชับพร้อมกับคำสั่งคสช. 2. กรณีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุจริตงบประมาณ แม้วงเงินจะไม่มากเพียง 1 แสนบาท แต่ 3-4 เดือนรัฐต้องจ่าย 1 แสนบาท แล้วทำกันทั่วประเทศกว่า 1 หมื่นแห่ง ความเสียหายจึงแผ่เป็นวงกว้าง เพราะมีทั้งการของบซ่อมถนน ขุดคลอง ขุดบ่อน้ำ การบำบัดขยะ

                3.กรณีใช้งบเยียวยาภัยพิบัติ ป.ป.ท.มีแนวคิดทำสถิติการประกาศภัยพิบัติและการใช้งบเยียวยาในรอบปีว่าแต่ละจังหวัดมีภัยพิบัติเกิดขึ้นจริงหรือไม่ ที่ผ่านมา ป.ป.ท.เคยเข้าตรวจสอบปัญหาเพลี้ยกระโดดในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากการติดตามข้อมูลพบว่า สำนักงานการตรวจแผ่นดิน (สตง.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เข้าไปดำเนินการแล้ว นอกจากนี้กรมบัญชีกลางได้สั่งปรับลดวงเงินจาก 50 ล้านบาท เหลือ 25 ล้านบาท ขณะที่ จ.บึงกาฬ ถูกสั่งเรียกเงินเยียวยาภัยพิบัติเพลี้ยกระโดดคืนทั้งหมด ซึ่งป.ป.ท.จะเข้าไปตรวจสอบซ้ำว่า หัวหน้าส่วนราชการได้ดำเนินการทางวินัยกับเจ้าหน้าที่หรือไม่

                4.กรณีสวมบัตรประชาชนและการจัดทำบัตรประชาชนอันเป็นเท็จ ซึ่งในอดีตเป็นเพียงการออกบัตรประชาชนให้คนต่างด้าว แต่ปัจจุบันลุกลามไปถึงการสวมบัตรประชาชนให้ผู้กระทำผิดคดีอาญาและผู้ต้องหาหลบหนีหมายจับ นอกจากนี้จะต้องตรวจสอบไปถึงปัญหาแรงงานเถื่อนและการค้ามนุษย์ ซึ่งน่าจะเชื่อมโยงกับการสวมบัตรประชาชนด้วย ซึ่งกรณีเหล่านี้หากเจ้าหน้าที่รัฐไม่เข้าไปเกี่ยวข้องจะทำได้ยากมาก เพราะต้องผิดกฎหมายหลายฉบับ ทั้งกฎหมายตรวจคนเข้าเมืองไปจนถึงกฎหมายแรงงาน และ 5.กรณีทุจริตงบประมาณของรัฐ ซึ่งป.ป.ท.จะทำงานให้บรรลุผลโดยเร็ว

-พล.อ.ไพบูลย์ เป็นห่วงคดีค้างเก่าของป.ป.ท.ที่มีมากกว่า 4,000 เรื่อง

                ผมได้ประชุมร่วมกับบอร์ด ป.ป.ท.และข้าราชการในสำนักงาน พูดกันชัดๆ เลยว่าพายุกำลังจะมา เราต้องพร่องน้ำออกจากเขื่อนให้มากที่สุด โดยบอร์ดป.ป.ท.พร้อมที่จะเร่งรัดการไต่สวนคดีค้างเก่าทั้งหมดให้เสร็จโดยเร็ว เพื่อให้มีความพร้อมในการรับไต่สวนคดีที่จะเกิดขึ้นใหม่ แต่ต้องเข้าใจว่า การไต่สวนคดีต้องใช้เวลา คดีที่คั่งค้างจำนวนมากสะท้อนว่าเรามีปัญหาใหญ่ แต่มีกลไกเล็กๆ ในการจัดการกับปัญหา จึงจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากหัวหน้าส่วนราชการในการสอดส่องดูแล ซึ่งเป็นหน้าที่ต้องปฏิบัติอยู่แล้ว เพียงแต่ที่ผ่านมาเราไม่ได้ทำ ในยุคที่ประเทศต้องการการปฏิรูป ข้าราชการก็ต้องปฏิรูป เชื่อว่าทุกคนมองเห็นตรงกันว่าปัญหาการทุจริตครั้งนี้ถ้าไม่แก้ไขประเทศจะไม่เหลืออะไร

                “ผมไม่กลัวและไม่ยอมให้ใครของ่ายๆ ที่ผ่านมาคนยอมมีเยอะ การทุจริตถึงได้ระเบิดเถิดเทิง จึงต้องอาศัยสถานการณ์ตรงนี้แก้ไขให้ได้มากที่สุด เรื่องการเข้ามาแทรกแซงสั่งการต้องไม่เกิดขึ้นอีกมีอีกแล้วสำหรับการโกงง่ายๆ รวดเร็ว และปลอดภัย”

-นโยบายที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา รวมถึงการเปลี่ยนตัวเลขาธิการ ป.ป.ท.หลายครั้ง ส่งผลต่องานปราบปรามทุจริตอย่างไร

                ยอมรับว่ามีผลกระทบมาก ป.ป.ท.ก่อตั้งมา 6 ปี มีเลขาธิการ 7 คน รัฐบาลที่ผ่านมาจัดตั้งศูนย์ประสานงานป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ศปท.) ขึ้นในทุกกระทรวง แต่ 2 ปีที่ผ่านมา บางหน่วยงานยังหาบุคลากรเข้ามาทำงานไม่ได้ หลังจากนี้จะติดตามเรื่องที่ ป.ป.ท.เคยส่งหนังสือให้หัวหน้าส่วนราชการตรวจสอบและตั้งกรรมการวินัย คดีค้างเก่าต่างๆ เช่น การทุจริตจัดซื้อยาปราบศัตรูพืช (ภัยเพลี้ยกระโดด) ในภาคอีสาน คดีสำแดงราคานำเข้ารถยนต์ต่ำกว่าราคาจริง (เกรย์มาร์เก็ต) ซึ่งอดีตเลขาธิการ ป.ป.ท.เคยเสนอให้กรมศุลกากรตั้งกรรมการสอบวินัยข้าราชการ 108 คน

-มีช่องทางให้ประชาชนแจ้งเบาะแสหรือร้องเรียนปัญหาทุจริตอย่างไรบ้าง?

                ผมมีแนวคิดสร้างเครือข่ายสายลับประชาชน เพื่อเปิดช่องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแจ้งเบาะแสผ่านเว็บไซต์ ไลน์ หรือสร้างกลุ่มในโซเชียลมีเดียต่างๆ ที่เข้าถึงง่าย ซึ่งเป็นการขยายช่องทางรับแจ้งเบาะแสข้อมูลจากเดิมที่มีการเปิดสายด่วน 1206 วางเป้าหมายต้องมีเครือข่ายในทุกตำบล 9,000 ตำบล รวมเข้ากับเครือข่ายคนรุ่นใหม่ในมหาวิทยาลัยต่างๆ จะทำให้มีสายลับในการตรวจสอบและเฝ้าระวังการทุจริตคอร์รัปชั่นครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ เช่น กรณีจังหวัดประกาศเขตภัยพิบัติจะสามารถตรวจสอบผ่านสายลับได้ทันทีว่ามีภัยพิบัติเกิดขึ้นจริงหรือไม่

.................................

(หมายเหตุ : เลขาฯป.ป.ท.คนใหม่กับภารกิจปราบทุจริตระยะเร่งด่วน 'ข้าราชการทุจริตคือขยะของส่วนราชการ' : สัมภาษณ์พิเศษ 'ประยงค์ ปรียาจิตต์' โดยปิยะนุช ทำนุเกษตรไชย)

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ