ข่าว

ดำเนินคดี'วีระ'ยึดสนามบินตามปกติ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

'ยธ.' ชี้ 'วีระ' ไม่ต้องรับโทษที่ไทยอีก แต่คดียึดสนามบินต้องดำเนินการต่อ พร้อมโอนตัว 14 นักโทษตามคำร้องขอกัมพูชา เร่งเครื่องตามแผนหยุดยั้งการแพร่ระบาดยาเสพติด

 
                         2 ก.ค. 57  เมื่อเวลา 11.30 น.  นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม รักษาการปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า กรณีของนายวีระ สมความคิด นั้นได้มีการดำเนิน 2 ทางจากฝ่ายไทย คือ การขอโอนตัว และขอรับพระราชทานอภัยโทษ แต่การปล่อยตัวครี้งนี้ ไม่ได้เป็นการขอแลกเปลี่ยนนักโทษ แต่เป็นการรับพระราชทานอภัยโทษตามปกติ และเมื่อได้รับพระราชทานอภัยโทษมา ก็ไม่ต้องกลับมารับโทษต่อแต่อย่างใด ส่วนคดียึดสนามบินที่นายวีระเป็นผู้ต้องหาด้วย ก็ยังคงถูกดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรมตามปกติ
 
                         เมื่อถามถึงกรณีการนำตัวนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ และนายจักรภพ เพ็ญแข ที่หลบหนีอยู่ต่างประเทศ นายชาญเชาวน์ กล่าวว่า หน่วยงานต่างๆ รับทราบแนวปฏิบัติเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้กำลังประสานทำงานกันอยู่ระหว่างกระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานอัยการสูงสุด ส่วนกรณีของโรส ลอนดอน หรือนางสาวฉัตรวดี อมรพัฒน์ นั้น ก็ใช้กระบวนการเดียวกันที่ต้องหาช่องทางของกฎหมายที่เป็นไปได้
 
 
 
พร้อมโอนตัว 14 นักโทษตามคำร้องขอกัมพูชา  
 
 
                         นายชาญเชาวน์ เปิดเผย หลังจากรัฐบาลกัมพูชาให้อภัยโทษนายนายวีระ และขอให้มีการส่งกลับนักโทษชาวกัมพูชา จำนวน 14 ราย ว่า ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศที่เรียกว่า “สนธิสัญญาโอนนักโทษ” จะมีลักษณะเป็นข้อตกลงสองฝ่ายที่จัดทำขึ้น โดยอยู่บนพื้นฐานของหลักการถ้อยทีถ้อยอาศัย (reciprocity) จึงไม่ถือว่าเป็นการแลกเปลี่ยนนักโทษ อย่างไรก็ตาม ตนยังไม่ทราบว่าทางสถานเอกอัครราชทูตกัมพูชา ได้ประสานรายชื่อนักโทษที่ต้องการให้ส่งตัวกลับมายังกระทรวงการต่างประเทศของไทยแล้วหรือไม่ หากราชทัณฑ์ได้รับรายชื่อมาแล้ว ก็สามารถปล่อยตัวกลับประเทศได้ทันที
 
                         ด้านนายกอบเกียรติ กสิวิวัฒน์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า กรมราชทัณฑ์ได้ตรวจสอบข่าวที่นำเสนอผ่านหนังสือพิมพ์พนมเปญโพสต์ ซึ่งระบุว่า กัมพูชาขอโอนตัวนักโทษ 14 รายนั้น เบื้องต้นพบว่า ใน จ.สระแก้ว มีผู้ต้องขังชาวกัมพูชา จำนวน 13 ราย ถูกส่งเข้าเรือนจำ เพื่อควบคุมตัวระหว่างการสอบสวน โดยทั้งหมดถูกดำเนินคดีในข้อหาปลอมแปลงเอกสาร และคดีความผิดเล็กน้อยอื่นๆ แต่เนื่องจากขณะนี้พบว่าตัวเลขยังไม่ตรงกันว่าจะเป็น 13 หรือ14 คน จึงสั่งการให้มีการตรวจสอบ โดยให้เจ้าหน้าที่ประสานไปยังสถานทูตกัมพูชา ประจำประเทศไทย เพื่อตรวจสอบข้อมูลให้ชัดเจนว่า มีชาวกัมพูชาถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำของประเทศไทยกี่ราย 
 
                         "กรมราชทัณฑ์ต้องตรวจสอบรายชื่อว่าจำนวนที่กัมพูชาร้องขอนั้นมี 13 หรือ 14 คน และเป็นนักโทษตรงกับรายชื่อนักโทษทั้ง 13 คน ที่ จ.สระแก้วหรือไม่ หากต้องการโอนตัวนักโทษ 14 คน จะต้องไปตรวจสอบว่านักโทษรายที่ 14 เป็นใคร ถูกคุมขังอยู่ที่ใด และหากเป็นผู้ต้องขัง 13 คน ใน จ.สระแก้ว ซึ่งเรือนจำมีข้อมูลอยู่แล้วว่าเป็นผู้ต้องขังระหว่างการสอบสวน คดียังไม่แล้วเสร็จ จึงยังไม่เข้าเงื่อนไขการโอนตัว แต่สามารถใช้วิธีทางรัฐศาสตร์ คือ ให้ตำรวจทำความเห็นสั่งไม่ฟ้อง ปล่อยตัวกลับประเทศได้ทันที"
 
 
 
เร่งเครื่องตามแผนหยุดยั้งการแพร่ระบาดยาเสพติด
 
 
                         นายชาญเชาวน์ กล่าวถึงความคืบหน้าการทำงานตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 41/2557 เรื่องการปราบปรามและหยุดยั้งการแพร่ระบาดของยาเสพติด โดยคสช.กำหนดให้เร่งทำงานให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่รับมอบนโยบายจาก พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ผู้ช่วยผู้บัญชาการกองทัพบก ในฐานะหัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมว่า หลังรับมอบนโยบายทำให้มีการบูรณาการทำงานร่วมกันมากขึ้น รวมถึงบูรณาการงบประมาณในการจัดการเรื่องยาเสพติดทั้งระบบ เน้นงานป้องกันและติดตามผลหลังการบำบัด โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ถูกบังคับบำบัดที่มีหมุนเวียนประมาณ 400,000-500,000 ราย จากผู้ติดยาทั้งหมดทั่วประเทศกว่า 1,200,000 คน ซึ่งการติดตามผลหลังจะมีกระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อบต.) จะมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังและติดตามพฤติกรรมของผู้ที่ผ่านการบำบัดแล้ว นอกจากนี้จะพิจารณามาตรการบังคับบำบัดเดิมที่จะอยู่ในค่ายเป็นการให้บำบัดแบบไปเช้าเย็นกลับ เพื่อให้คนเหล่านี้เข้าสู่การบำบัดแบบสมัครใจต่อไป 
 
                         นายชาญเชาวน์ กล่าวต่อว่า งานด้านการป้องกันจะมีการหารือไปยังกระทรวงแรงงาน เพื่อป้องกันกลุ่มพนักงานในโรงงาน โดยจะเชิญผู้ประกอบมาหารือเพื่อกำหนดมาตรการในการดูแลร่วมกัน ซึ่งจะมีทบทวนข้อบังคับของกฎหมายบางประเด็น ส่วนปัญหายาเสพติดในเรือนจำ ยังอยู่ระหว่างดำเนินการ ยังไม่มีการประเมินผลอย่างเป็นทางการ ซึ่งการจัดการกับปัญหายาเสพติดในเรือนจำไม่เน้นเฉพาะผู้ต้องขังแต่รวมถึงเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ด้วย ทั้งนี้ ยืนยันการแก้ปัญหายาเสพติดในเรือนจำต้องศูนย์เปอร์เซ็นต์ตามคำสั่งที่ 41 ของคสช.ซึ่งหลังจากนี้เหลือเวลาอีกประมาณ 2 สัปดาห์ก็จะครบกำหนดที่คสช.ให้เวลากรมราชทัณฑ์แก้ปัญหาดังกล่าว ซึ่งขณะนี้ทราบว่าเรือนจำทำการจู่โจมตรวจค้นสิ่งของต้องห้ามอย่างเข้มข้น อย่างไรก็ตาม ปัญหายาเสพติดหลังจากนี้ประชาชนต้องเปลี่ยนวิธีคิดว่าการแก้ปัญหาเป็นหน้าที่ของหน่วยงานรัฐ แต่ทุกชุมชนต้องเข้ามามีส่วนร่วมช่วยดูแลด้วย
 
 
 
 
 
 
logoline

ข่าวที่น่าสนใจ