ข่าว

ถึงวันนี้แล้ว'คสช'ต้องเดินหน้าตรงอย่าวอกแวก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ถึงวันนี้แล้ว'คสช'ต้องเดินหน้าตรงอย่าวอกแวก : ต่อปากต่อคำ โดยดร.อมร วาณิชวิวัฒน์

             การวางเส้นทางการดำเนินงานของ คสช. ที่ตั้งใจจะเดินหน้าสู่การปฏิรูปประเทศเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่แทบไม่มีขวากหนามใดๆ มาสร้างปัญหาในการทำงานของ คสช. จะมีบ้างประปรายเป็นสีสันในช่วงเวลาต้นๆ ของการเปลี่ยนแปลง นี่ คือ นิมิตหมายที่ดีที่น่าจะเป็นแรงสนับสนุนส่งเสริมให้การปฏิรูปสามารถเดินหน้าได้อย่างมั่นคง รวมทั้งความสามารถของ คสช. ในการใช้ข้าราชการให้ปฏิบัติหน้าที่ตามกรอบแผนงานโครงการต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ย่อมจะมีส่วนผลักดันให้สิ่งที่ คสช. และประชาชนมีความคาดหวังร่วมกันสามารถบรรลุเป้าประสงค์ได้อย่างเป็นรูปธรรมในเร็ววัน

             ผลจากความคาดหวังดังกล่าว จึงเป็นที่มาของ “ความคาดหมาย” ในหลายเรื่อง ตั้งแต่องค์ประกอบของคณะรัฐมนตรี สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาปฏิรูป รวมทั้งคณะกรรมการยกร่างธรรมนูญฉบับชั่วคราวเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงปฏิรูปการเมืองและเตรียมความพร้อมสำหรับการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรเสมือนพี่เลี้ยงให้ทั้งสองสภาที่คาดกันว่าจะมีการจัดตั้งขึ้นในไม่ช้าไม่นานนี้

             ทั้งความคาดหมายและคาดหวังจึงเกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน เพราะหาก คสช.มุ่งมั่นจะให้มีองคาพยพในการบริหารจัดการประเทศในลักษณะของ คณะบุคคลเช่นเดียวกับรัฐบาลในอดีตและยังต้องการให้มีองค์ประกอบของรัฐสภาที่คล้ายคลึงกับสิ่งที่เคยดำเนินการต่อเนื่องกันมาก็จะต้องไม่กระทำการที่รัฐบาลก่อนๆ เคยเดินผิดร่องน้ำมาแล้วทำให้เฉไฉออกทะเลไปก็มากหรือบางเรื่องกลายเป็นหนามยอกอกรัฐบาลทั้งในยามปกติและรัฐบาล คมช. เมื่อปี 2549 ก็คงเคยทราบๆ กัน หากถามถึงเหตุและผลว่าทำไมต้องยึดตัวแบบที่เคยกระทำมา ก็อาจคาดเดาได้ว่า น่าจะเกิดจากความจำเป็นในการคงวัฒนธรรมประเพณีทางการเมืองการปกครองเอาไว้เพื่อให้สังคมภายในและภายนอกเชื่อมั่นว่า ประเทศของเราจะยังคงเดินหน้าในรูปแบบการปกครองแนวทางก่อนหน้าการเข้าควบคุมอำนาจการปกครองโดย คสช. และสถานการณ์ในขณะนี้ถือเป็นการ “ควบคุมชั่วคราว” เพื่อแก้ไขปัญหาและจะดำเนินการผลักดันให้เข้าสู่ภาวะปกติเช่นเดิมในวาระโอกาสที่เหมาะสมต่อไป

             อีกประการหนึ่งอาจเกิดขึ้น ด้วยความเชื่อของทีมยกร่างกฎหมายของ คสช. ที่อาจยึดถือ “ตัวแบบ” ของการรัฐประหารในปี พ.ศ.2549 เป็นเกณฑ์ เพราะบุคคลหลายต่อหลายท่านที่เข้ามาเกี่ยวข้องดำเนินการในหลายภาคส่วนของ คสช. ในปัจจุบัน อาจเป็นที่รู้จักคุ้นเคยกันดี ไม่ว่าจะทีมงานโฆษกของ คสช. อย่างคุณหมอยงยุทธ มัยลาภ รวมทั้งบุคคลที่มีชื่อประกาศให้ทราบอย่างเป็นทางการก่อนหน้านี้ ทำให้เชื่อได้ว่าโครงสร้างการบริหารจัดการในรูปลักษณะที่เคยได้รับการประกาศเป็นแผนผังการทำงานโดย หัวหน้า คสช. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในบางส่วนอาจได้รับการเสนอแนะหรือการให้คำปรึกษาโดยทีมงานที่เคยมีประสบการณ์ในอดีตอยู่ไม่น้อยทีเดียว ซึ่งโครงสร้างดังกล่าวผู้เขียนได้เคยนำเสนอมาก่อนหน้านี้ว่าได้ เคยสร้างปัญหาในการบริหารจัดการอย่างมาก โดยในส่วนของคณะรัฐมนตรีจะมีปัญหาค่อนข้างน้อยเพราะเป็นสิทธิขาดของ คสช. ในการพิจารณาตัวบุคคลโดยตรง

             แต่ในส่วนของที่มาของสมาชิกในส่วนอื่นๆ เคยเกิดปัญหาขึ้นนั้น เพราะจำได้ดีว่าในยุคของ คมช. เมื่อปี พ.ศ.2549 มีความพยายามจะตะแกรงร่อนบุคคลที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามแต่ในที่สุด ส่วนสัมผัสของบุคคลในประเทศที่มีประชากรรวมกันราวๆ 65 ล้านคน ที่เป็นคนไทยด้วยกันแท้ๆ ยากที่จะบอกได้ว่า นั่น “เขา” นั่น “เรา” เพราะทัศนคติในเชิง us and them attitude ที่ฝรั่งให้คำจำกัดความไว้นั้น คือ ที่มาของความขัดแย้งต่างๆ ในห้วงเวลาที่ผ่านมาอย่างเห็นได้ชัด หากการคัดเลือกบุคคลทาง คสช. ยังคงรับฟังข้อมูลด้านใดด้านหนึ่ง ซึ่งอาจไม่ถูกต้องหรือถูกเจือสีตีไข่ของบุคคลบางส่วนที่ คสช. ให้ความไว้วางใจ ก็อาจได้ข้อมูลที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนและอาจนำไปสู่ความขัดแย้งรอบใหม่ เนื่องด้วย ทราบจากหลายแหล่งข่าวค่อนข้างชัดเจนว่า มีความเคลื่อนไหวของผู้ที่อยากเข้าไปมีตำแหน่งหน้าที่จำนวนมาก มีทั้งเข้าไปด้วยความปรารถนาดีและมีทั้งนำข้อมูลต่างๆ มากมาย ซึ่งยังไม่ถูกคัดกรองไปมอบให้ คสช. ผ่านช่องทางต่างๆ จึงอยากให้ คสช.มีความหนักแน่นในการวิเคราะห์พิจารณาเรื่องราวต่างๆ อย่างละเอียดถี่ถ้วน ที่สำคัญขอให้ได้คนที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาทำงานจริงๆ จังๆ เราไม่ต้องการใครที่ขอเข้ามามีตำแหน่งแห่งหนเพื่อเกียรติยศและด้วยระบบอุปถัมภ์ที่รังแต่จะสร้างปัญหาให้เป็นที่ติฉินนินทาและไม่สามารถผลักดันอะไรให้เป็นมรรคผลได้อย่างที่แล้วๆ มาอีกต่อไป

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ