คอลัมนิสต์

'สมเด็จฮุนเซ็น'สุดยอดรัฎฐาธิปัตย์แห่งโลกกัมพูชา

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

'สมเด็จฮุนเซ็น'สุดยอดรัฎฐาธิปัตย์แห่งโลกกัมพูชา : กระดานความคิด โดย ดุลยภาค ปรีชารัชช สาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

               ในบรรดาชนชั้นนำผู้ทรงอำนาจบนหน้าประวัติศาสตร์อาเซียนยุคใหม่ อย่าง มาร์กอสของฟิลิปปินส์ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ของไทย นายพลอาวุโสตานฉ่วยของพม่า องค์สุลต่านโบลเกียห์ของบรูไน หรือแม้แต่ ลีกวนยูของสิงคโปร์ และมหาเธร์ของมาเลเซีย ฯลฯ ดูเหมือนว่า บุรุษเหล็กนาม 'ฮุนเซ็น' จะกลายมาเป็นองค์อธิปัตย์ที่ทรงอิทธิพลต่อการวิเคราะห์ฐานอำนาจชนชั้นนำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่น่าสนใจอยู่มิใช่น้อย

               ทั้งนี้เนื่องจากฮุนเซ็นมีคุณสมบัติเป็นทั้งนักการเมือง นักธุรกิจและนักการทหารที่เชี่ยวชาญช่ำชองในกุศโลบายการใช้อำนาจอย่างลึกซึ้งจนมีลักษณะใกล้เคียงกับแมคเคียอาเวลลีหรือซุนวูแห่งกัมพูชา

               นอกจากนั้น ฮุนเซ็นยังถือเป็นผู้นำที่ครองอำนาจยาวนานที่สุดในโลกการเมืองเอเชียอาคเนย์สมัยใหม่ พร้อมแผ่แสนยานุภาพเข้าคุมเขตปริมณฑลทหาร-พลเรือน-ประชาชน ตลอดจนสามารถขยายอิทธิพลแทรกซึมเข้าไปยังโซนบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ซึ่งถือเป็นสามเสาหลักแห่งอำนาจอธิปไตยของรัฐสมัยใหม่

               สำหรับความละเมียดละไมของศิลปะการใช้อำนาจ ฮุนเซ็นได้ย้อนกลับไปหาจารีตการใช้อำนาจแบบเก่าในสังคมเขมรโบราณซึ่งยังคงหลงเหลืออยู่ในโลกทรรศน์ความรับรู้ของคนเขมรปัจจุบัน อาทิ หลักการที่ว่าอำนาจ (omnaich) จะต้องเกิดจากการประกอบเข้าด้วยกันของสิ่งมงคลอย่างเช่นบุญญาบารมีและยศถาบรรดาศักดิ์ ซึ่งก็ทำให้ฮุนเซ็นได้รับการยอมรับจากชาวเขมรบางกลุ่มว่าเป็นองค์อธิปัตย์ที่ทรงบารมีมาแต่ชาติปางก่อน

               ซึ่งก็มีคนเขมรอีกจำนวนมิน้อยที่เชื่อว่าเขาคือร่างอวตารของ 'เสด็จกอน' (Sdech Korn/Kon/Kan) กษัตริย์เขมรในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 ซึ่งมีพื้นเพมาจากสามัญชนหากแต่ได้ทำการโค่นบัลลังก์อดีตกษัตริย์ผู้ไร้ทศพิธราชธรรม พร้อมปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่แห่งกัมพุชประเทศ

               โดยฮุนเซ็นเองก็ได้แสดงท่าทียกย่องเสด็จกอนค่อนข้างชัดเจน ดั่งเห็นได้จาก การสนับสนุนให้ตีพิมพ์หนังสือพระราชประวัติของกษัตริย์องค์ดังกล่าวเป็นจำนวน 5,000 เล่ม พร้อมทั้งเขียนคำนิยมยอพระเกียรติเสด็จกอนในฐานะมหาวีรบุรุษผู้ทรงวางรากฐานปฏิรูปบ้านเมืองให้กับรัฐกัมพูชาอย่างมั่นคง

               ขณะเดียวกัน เขายังประกาศใช้ราชทินนามเพื่อสำแดงยศถาบรรดาศักดิ์อันเกรียงไกร อย่าง 'สมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุนเซ็น 'ម្តេចអគ្គមហាសេនាបតីតេជោ ហ៊ុន សែន' เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงอานุภาพอันยิ่งใหญ่ที่แผ่ปกคลุมไปทั่วงานบริหารราชการแผ่นดินทุกระดับ รวมถึงสำแดงพละกำลังอันฮึกห้าวในการควบคุมบังคับบัญชากองทัพแห่งราชอาณาจักร

               นอกจากอำนาจในโลกจารีตประเพณีแบบเก่า ฮุนเซ็นยังวางวิสัยทัศน์เพื่อหนุนเสริมให้ตนได้เป็นองค์รัฎฐาธิปัตย์บนแผ่นดินกัมพูชาออกไปอีกราว 10 ปี หรือจนกว่าที่ตนจะมีอายุประมาณ 74 ปี ซึ่งก็ทำให้ฮุนเซ็นยังคงต้องทุ่มความพยายามเพื่อยึดกุมกลไกอำนาจรัฐสืบต่อไป พร้อมเตรียมสะสมเครือวานธุรกิจการเมืองเพื่อดันให้คนในตระกูลตนสามารถปกครองประเทศได้ยาวนานที่สุดโดยปราศจากผู้ท้าทายทางการเมือง

               ต่อวิสัยทัศน์ดังกล่าว ฮุนเซ็นได้ผลักดัน 'ฮุนมาเนต' บุตรชายหัวแก้วหัวแหวนขึ้นเป็นพลโทพร้อมมีอิทธิพลควบคุมกองกำลังพิทักษ์องครักษ์ (ซึ่งถือเป็นกองทหารส่วนตัวของฮุนเซ็น) รวมถึงกองกำลังต่อต้านการก่อการร้ายที่ได้ชื่อว่าเป็นหน่วยรบพิเศษระดับแนวหน้าของกองทัพกัมพูชา ประกอบกับดัน 'ฮุนมานา' บุตรสาวขึ้นคุมสถานีโทรทัศน์บายนซึ่งถือเป็นสื่อกระแสหลักของรัฐบาล

               ในอีกทางหนึ่ง ฮุนเซ็นยังได้สร้างเครือข่ายธุรกิจขนาดใหญ่เพื่อเปิดคลังทรัพยากรทางเศรษฐกิจอย่างน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ป่าไม้และอัญมณีนานาชนิดให้กับกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศ โดยเขาได้ควบคุมบริหารสำนักปิโตรเลียมแห่งชาติกัมพูชา (Cambodian National Petroleum Authority/CNPA) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบกิจการน้ำมันของประเทศโดยตรง พร้อมสนับสนุนให้พวกพ้องเข้าคุมสัมปทานธุรกิจตามเขตจังหวัดต่างๆ อาทิ พระตะบอง ศรีโสภณ รัตนคีรี สีหนุวิลล์ และแม้แต่กลุ่มจังหวัดรอบทะเลสาบเขมรซึ่งเริ่มมีการสำรวจน้ำมันที่ทับถมอยู่ใต้ตะกอนโคลนตม (คล้ายคลึงกับทะเลสาบแคสเปียนในเอเชียกลาง)

               นอกเหนือจากนั้น โครงสร้างอำนาจนิติบัญญัติหรือการบริหารราชการแผ่นดินในทุกระดับ ก็ล้วนแล้วแต่ตกอยู่ใต้การควบคุมของนักการเมืองจากพรรคประชาชนกัมพูชา (Cambodian People Party/CPP) โดยเห็นได้จาก จำนวน ส.ส. และ ส.ว. ในสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนเป็นบุคลากรจากพรรคซีพีพีของฮุนเซ็น

               ขณะที่แผงอำนาจระดับสูงในกระทรวง ทบวง กรม ต่างๆ แม้จะมีการแตกกระจายออกเป็นมุ้งการเมืองยิบย่อย เช่น กลุ่มของประธานวุฒิสภาและรัฐมนตรีมหาดไทย หรือธรรมเนียมการกันโควต้ารัฐมนตรีบางส่วนไปให้กับพรรคฝ่ายค้านอย่างฟุนซินเปค (FUNCINPEC) แต่กระนั้น จำนวนสมาชิกของพรรคการเมืองฮุนเซ็นก็ยังคงมีสัดส่วนที่มากพอที่จะกระชับอำนาจในสภาและคณะรัฐบาลได้อย่างมั่นคงต่อไป

               ขณะเดียวกัน การปกครองแบบรัฐเดี่ยวที่ถ่ายระดับจากจังหวัด ลงมายังอำเภอ คอมมูน (หน่วยปกครองท้องถิ่นใกล้เคียงกับตำบล) และหมู่บ้าน ก็ยังคงมีลักษณะที่ตกอยู่ใต้อิทธิพลของเครือข่ายอำนาจฮุนเซ็น

               โดยรากฐานวัฒนธรรมการเมืองแบบอุปถัมภ์และความจำเป็นในการพัฒนาชนบทได้นำพาให้ผู้นำท้องถิ่นอย่างกำนันหรือผู้ใหญ่บ้าน จำเป็นต้องกระชับสายสัมพันธ์ร่วมกับเครือข่ายชนชั้นนำที่ถูกส่งมาจากส่วนกลางและส่วนภูมิภาค อย่าง ผู้ว่าราชการจังหวัด ข้าราชการพลเรือน ตลอดจนกองกำลังตำรวจและกองทหารประจำกองทัพภาคต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว ก็ล้วนเป็นกลุ่มบุคคลที่มีสายสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการเมืองร่วมกับพรรคซีพีพีและเครือข่ายวงศ์วานของฮุนเซ็นแทบทั้งสิ้น

               ท้ายที่สุด คงมิเกินเลยนัก หากจะกล่าวว่า "สมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุนเซ็น" คือสุดยอดรัฏฐาธิปัตย์ที่ทรงอานุภาพแห่งโลกการเมืองกัมพูชา ซึ่งนอกจากจะแผ่ปริมณฑลแห่งอำนาจครอบคลุมแทบทุกองคาพยพของสังคมการเมืองกัมพูชาแล้ว บุรุษเหล็กผู้นี้ยังอาจจะมีบทบาทในม่านละครการเมืองกัมพุชประเทศสืบต่อไป ไม่เว้นแม้แต่เรื่องการเมืองในราชสำนักและการเมืองระหว่างประเทศอันสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านอย่างไทย!


..............................................

(หมายเหตุ : 'สมเด็จฮุนเซ็น'สุดยอดรัฎฐาธิปัตย์แห่งโลกกัมพูชา : กระดานความคิด โดย ดุลยภาค ปรีชารัชช สาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ http://blogazine.in.th/blogs/dulyapak/post/4716)

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ