ข่าว

เลือกตั้งที่ใหญ่ที่สุดในโลก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เลือกตั้งที่ใหญ่ที่สุดในโลก : มองมุมยุทธศาสตร์ โดยเรือรบ เมืองมั่น Facebook :Ruarob Joe Muangman

           เริ่มเดินเครื่องกันแล้ว สำหรับมหกรรมเลือกตั้งที่ใหญ่ที่สุดในโลก คือ การเลือกตั้ง ส.ส.ของอินเดียที่จะมี 543 ที่นั่ง พร้อมตำแหน่งผู้บริหารประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลกเป็นเดิมพัน งานนี้ว่ากันว่าแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลคือคองเกรสแห่งอินเดีย ที่ชู ราหุล คานธี สายเลือดแห่งตระกูลนักการเมืองอันดับหนึ่งของประเทศ ลูกชายราจีฟ คานธี น่าจะพ่ายแพ้แก่แกนนำพรรคฝ่ายค้านคือพรรคบีเจพี และ นเรนทรา โมดิ หัวหน้าพรรคซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของแคว้นคุชราตอยู่ด้วย คงได้เป็นนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลกลางอินเดียต่อไปแต่ต้องรอผลประกาศ 16 พฤษภาคม

           ได้มีโอกาสคุยกับท่าน วี.เอส.สมพัท ประธาน กกต.อินเดีย ซึ่งไม่ได้เป็นญาติอะไรกับคุณสมชัย เมืองไทย รับรู้ได้เลยถึงความตื่นเต้นและภูมิใจของท่านในการที่จะจัดการเลือกตั้งครั้งนี้ให้ลุล่วงด้วยดี ตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญฉบับแรกและฉบับเดียวเมื่อปี 1950 อินเดียจัดการเลือกตั้งทั่วไป หรือโลกสภา มาแล้ว 15 ครั้ง โดยตามกฎหมายต้องเลือก ส.ส.ทุกๆ 5 ปี ไม่เคยเลือกตั้งไม่สำเร็จ แม้จะเคยมีเรื่องวุ่นวายอยากแยกแผ่นดินที่ปัญจาปสมัยยุคยายของราหุล หรือช่วงกบฏคอมมิวนิสต์แรงๆ ในหลายรัฐเมื่อตั้งห้าปีก่อน ก็ไม่เคยพลาด กกต.อินเดีย พยายามทุกทางที่จะเปิดคูหาและขนส่งหีบบัตรมานับกันให้ได้โดยไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคใดๆ ท่านสมพัทคุยว่าบางแห่งต้องลุยหิมะถึง 45 กม. ไปเอาผลจากคูหาที่มีโหวตแค่ 37 คนมาให้ได้ การขนส่งนั้นใช้ทั้งช้าง อูฐ เรือ จักรยาน เฮลิคอปเตอร์ รถไฟ

           ปีนี้คนที่มีสิทธิเลือกตั้งสูงกว่าปีก่อนถึงร้อยล้านคน ทั้งประเทศอยู่ที่ 814 ล้านคนจากประชากรพันสองร้อยล้าน มีกฎหมายมากมายเพื่อให้จัดการเลือกตั้งอย่างยุติธรรม เช่น ห้ามสร้างความเกลียดชังระหว่างกลุ่มชน ห้ามโหนสถาบันหรือศาสนาใดๆ มาหาเสียง ใครแทรกแซงการเลือกตั้งจะโดนลงโทษ ข้าราชการที่โดนร้องเรียนจะโดนย้าย เรื่องนี้ทำเอาเพื่อนผมที่กำลังเรียน วปอ.อยู่ด้วยกันดีๆ ส้มหล่นได้เลื่อนจากรองผู้ว่าฯ ไปเป็นผู้ว่าฯ แคว้นสิกขิม เพื่อจัดการเลือกตั้งโดยเฉพาะ

           การส่งเสริมการเลือกตั้งเป็นไปอย่างแข็งแรง เช่น สงวนที่นั่งให้ชนกลุ่มน้อย มีหลากหลายภาษาในคูหา มีการแยกคิวหญิง คนพิการ และอื่นๆ มีการใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย เช่นอิเล็กทรอนิกส์โหวตในบางรัฐ แต่เทคนิคดั้งเดิมคือใช้หมึกที่ลบไม่ออกจนกว่าจะหนึ่งเดือนผ่านไปแต้มที่หัวแม่มือคนไปเลือกตั้งเพื่อป้องกันการเวียนเทียนก็ยังใช้อยู่ หมึกนี้แขกเคยเสนอขายให้ไทยเมื่อยี่สิบปีก่อน แต่ไทยไม่สนใจใช้ คงคิดว่าตลก มือเลอะ แต่มันได้ผลดีจริงๆ

           ก่อนเลือกตั้ง กกต.จะเดินทางไปรับฟังเสียงผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ปรึกษาเรื่องการจัดการต่างๆ และตั้งกติกามารยาทให้พรรคการเมือง ให้ทุกฝ่ายได้มีโอกาสหาเสียงอย่างเท่าเทียม คนคุมคูหาก็มาจากหลายฝ่าย กระนั้นก็ตาม ยังมีเรื่องอีกมากที่ต้องปวดหัวโดยเฉพาะการรณรงค์หาเสียงโดยใช้เงินผิดกฎหมาย แต่เท่าที่สังเกตการณ์การเลือกตั้งวันแรกๆ อย่างเช่น นิวเดลีวันที่ 10 เมษายน ก็เรียบร้อยดี เจอใครก็บอกแต่ไปเลือกตั้งมาแล้ว หรืออยากไปเลือกตั้ง มีความสุขที่ได้ใช้สิทธิของตนเอง ยิ่งมีเลือกตั้งอย่างต่อเนื่อง ประเทศจะยิ่งได้คนดีเข้ามาบริหารประเทศ

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ