ข่าว

ศาลรธน.รับวินิจฉัยปม'ปู'ย้าย'ถวิล'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ศาล รธน.มีมติเอกฉันท์รับวินิจฉัยคำร้อง ส.ว.ปม 'ยิ่งลักษณ์' ใช้อำนาจแทรกแซงย้าย 'ถวิล' ไม่เป็นธรรม สั่งให้ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายใน 15 วัน

 
                         2 เม.ย. 57  ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  จากกรณีที่ นายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกวุฒิสภา และคณะ 28 คน ได้ยื่นคำร้องต่อประธานวุฒิสภา เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัวหรือไม่ เนื่องจากศาลปกครองสูงสุด ได้มีคำพิพากษาคดีระหว่างนายถวิล เปลี่ยนศรี และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม ในการโอนนายถวิล จากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ให้มาดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ฝ่ายข้าราชการประจำ เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 54 ซึ่งเป็นการดำเนินการโดยมิได้คำนึงถึงวัตถุประสงค์ของกฎหมาย และไม่ได้อยู่ในขอบเขตกฎหมาย ไม่มีเหตุผลรองรับที่มีอยู่จริงและอธิบายได้ จึงถือเป็นการใช้ดุลยพินิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และมีคำพิพากษาให้เพิกถอนประกาศสำนักนายกฯ มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ประกาศดังกล่าวมีผลบังคับใช้ คือ วันที่ 30 ก.ย. 54 โดยมีข้อสังเกตเกี่ยวกับแนวทาง หรือวิธีการดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษาตามมาตรา 69 และให้นายถวิล กลับคืนสู่ตำแหน่งภายใน 45 วัน
 
                         ฝ่ายผู้ร้องเห็นว่า ปัจจัยสำคัญในการโอนนายถวิล พ้นจากตำแหน่งเลขาฯสมช. เชื่อได้ว่า เป็นความประสงค์ที่จะให้ตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติที่ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ดำรงอยู่ในขณะนั้นว่างลง เพื่อแต่งตั้งบุคคลอื่นให้ดำรงตำแหน่งแทน โดยปรากฏพฤติการณ์ที่ไม่ได้เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ หรือประชาชน แต่เป็นไปเพื่อประโยชน์ตนเอง และเครือญาติ ตลอดจนพรรคเพื่อไทยที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ สังกัดอยู่ จึงเห็นว่าการกระทำของ น.ส ยิ่งลักษณ์ เป็นการใช้สถานะ หรือตำแหน่งการเป็นนายกรัฐมนตรี เข้าไปแทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตนเอง ของผู้อื่น หรือของพรรคการเมือง ในการแต่งตั้ง หรือโอนย้ายข้าราชการประจำ ซึ่งมีตำแหน่ง หรือเงินเดือนประจำ และมิใช่ข้าราชการการเมือง และเป็นการให้ข้าราชการ ซึ่งมีตำแหน่ง หรือเงินเดือนประจำ และมิใช่ข้าราชการการเมือง พ้นจากตำแหน่ง โดยมิใช่เป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่ในการบริหารราชการตามนโยบายที่ได้แถลงต่อรัฐสภา กฎหมายบัญญัติ อันเป็นการกระทำต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 268 ประกอบมาตรา 266 (2) และ (3) อย่างชัดแจ้ง มีผลทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 182 วรรคหนึ่ง (7)
 
                         ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาแล้ว กรณีตามคำร้อง เป็นการขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 ประกอบมาตรา 182 วรรคสาม ที่บัญญัติให้สมาชิกวุฒิสภาจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา มีสิทธิ์เข้าชื่อต่อประธานสภาแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิกว่า สมาชิกภาพของสมาชิกคนหนึ่งคนใดแห่งสภานั้นสิ้นสุดลง และให้ประธานสภาฯ ที่ได้รับคำร้องส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพผู้นั้นสิ้นสุดหรือไม่ โดยให้นำบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 และมาตรา 92 มาใช้บังคับกับการสิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรี ว่ามีการกระทำอันต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 182 วรรคหนึ่ง (7) หรือไม่ เมื่อคำร้องนี้มีสมาชิกวุฒิสภาจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบ ยื่นคำร้องต่อประธานวุฒิสภา และได้มีการส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย กรณีนี้จึงอยู่ในอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะรับไว้พิจารณาวินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีมติเอกฉันท์ ให้รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย และให้นายกรัฐมนตรี ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายใน 15 วัน นับแต่วันรับสำเนาคำร้อง
 
 
                         ส่วนกรณีที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ผอ.ศรส. ร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตาม ม.68 ว่า นายสุเทพ เทือกสุบรรณ กับพวกรวม 54 คน กระทำการเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยคำร้องนี้ ร.ต.อ.เฉลิม ร้องว่ากลุ่ม กปปส.ได้จัดให้มีการชุมนุมเพื่อคัดค้างร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แม้ต่อมาร่างกฎหมายไม่ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภา แต่ กปปส.ไม่ได้ยุติการชุมนุม ยังคงสร้างเงื่อนไขบิดเบือนข้อเท็จจริง เพื่อให้ประชาชนเข้าร่วมชุมนุมต่อไป และยกระดับการชุมนุมขับไล่ระบอบทักษิณ ล้มล้างอำนาจฝ่ายบริหาร โดยจัดชุมนุมขับไล่โค่นล้มรัฐบาลเพื่อปฏิรูปการปกครองประเทศใหม่ จัดตั้งรัฐบาลประชาชน สภาประชาชน ศาลประชาชน ปิดเส้นทางการจราจร บุกยึดปิดล้อมสถานที่ต่างๆ ขัดขวางการเลือกตั้ง ปิดกรุงเทพฯ ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และใช้กำลังประทุษร้าย โดย ศรส. เห็นว่า แม้รัฐธรรมนูญ ม.63 วรรค 1 จะบัญญัติให้บุคคลต้องมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ แต่การชุมนุมต้องไม่กระทบสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น รวมถึงไม่กระทบกับความสงบเรียบร้อยกับคนในประเทศ เพราะกฎหมายที่ตราออกมาใช้บังคับ ย่อมมีจุดประสงค์เพื่อจัดระเบียบ และรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ดังนั้น การอ้างว่ามีเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ แต่กระทำละเมิดกฎหมาย จึงไม่ถือเป็นการชุมนุมโดยสงบ
 
                         ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคำร้องดังกล่าวแล้ว เห็นว่าการที่ ศรส.กล่าวอ้างการกระทำเกี่ยวกับการปิดเส้นทางจราจร การชุมนุมลักษณะดาวกระจายเข้ายึดพื้นที่หน่วยงานราชการ ปิดล้อมสถานที่เลือกตั้ง รวมถึงการสะสมอาวุธปืน วัตถุระเบิด และอาวุธอื่นๆ ศาลเห็นว่า เป็นการกล่าวอ้างว่ากลุ่ม กปปส. กระทำผิดทางอาญา และกฎหมายฉบับต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องรับผิดชอบในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา และที่ผ่านมา ได้มีการดำเนินการจนกระทั่งศาลอาญาได้ออกหมายจับผู้ต้องหาไว้จำนวนหนึ่งแล้ว คำร้องของ ศรส.จึงไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของรัฐธรรมนูญ ม.68 วรรค 1 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย
 

 
 
 
เก็บตัวที่สป.กห.เรียกถกหน่วยความมั่นคง
 
 
                         ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวของน.ส.ยิ่งลักษณ์ว่าได้เดินทางมายังสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ถนนแจ้งวัฒนะ ในเวลา 11.00 น. เพื่อปฏิบัติภารกิจและหารือข้อราชการต่างๆ รวมทั้งประชุมร่วมกับหน่วยงานความมั่นคง อาทิ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการความมั่นคงแห่งชาติ พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ปลัดกระทรวงกลาโหม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อวางมาตรการในการดูแลการชุมนุมของกลุ่มนปช. ในวันที่ 5 เม.ย. โดยไม่มีการปรากฏตัวต่อสื่อมวลชน และให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์การเมืองแต่อย่างใด เเม้วันนี้ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องกรณีนายกฯโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรีไว้พิจารณา โดยศาลให้เวลานายกฯชี้เเจง15วัน
 
 
 
 
 
 
 
logoline

ข่าวที่น่าสนใจ