ข่าว

ความคับแค้นความเกลียดชังและสันติภาพ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ความคับแค้นความเกลียดชังและสันติภาพ : ต่อปากต่อคำ โดยดร.อมร วาณิชวิวัฒน์ [email protected]/ twitter@DoctorAmorn

               เมื่อสัปดาห์ก่อนได้เห็นภาพนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สวมเครื่องประดับเครื่องหมาย “สันติภาพ” ซึ่งพวกเรามักจะคุ้นเคยกับสัญลักษณ์ที่ว่านี้ของ กลุ่มต่อต้านอาวุธนิวเคลียร์ รวมไปถึงกลุ่มรณรงค์สิ่งแวดล้อมอย่างกรีนพีซ (Green Peace) มักนำมาใช้อย่างชินตา โดยข้อเท็จจริงเป็นรูปการบ่งบอกเครื่องหมาย “สัญญาณธง" ดังที่เห็นเป็นลายเส้นไขว้กันในกรอบวงกลมทั้งในแนวตั้งและแนวนอน ซึ่งถ้าเป็นประชาชนคนทั่วไปสวมใส่สัญลักษณ์ดังกล่าวคงไม่อยู่ในความสนใจ แต่เมื่อผู้สวมใส่เป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการ ซึ่งกำลังอยู่ในวงล้อมของคดีความและแรงกดดันรอบด้าน จึงทำให้หลายฝ่ายใคร่รู้ถึงที่มาที่ไป ซึ่งตัวนายกรัฐมนตรีได้เปิดเผยความในใจผ่านทางสื่อต่างๆ อยู่พอสมควรแล้ว


               สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในวันนี้ เป็นเรื่องน่าขบคิดว่า เส้นทางบนถนนการเมืองของใครหลายคนจะต้องแปรเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง ภายหลังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ รวมไปถึงศาลสถิตยุติธรรมในเร็วๆ นี้ เพราะหลายคดีมีการฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องหลายต่อหลายฝ่าย ทั้งตัวรัฐบาลเองและฝ่ายตรงข้าม ทั้งในทางแพ่งและทางอาญาควบคู่กันไปด้วย

               สำหรับคดี “จำนำข้าว” มีการแจ้งข้อกล่าวหาอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และรัฐมนตรีช่วยว่าการ 2 คน คือ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ และ นายภูมิ สาระผล ก่อนหน้าที่นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในฐานะประธานโครงการรับจำนำข้าว ที่ไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบในฐานะหัวหน้าคณะรัฐบาลและมีส่วนในการควบคุมดูแลโครงการดังกล่าวด้วยตนเองจะถูกแจ้งข้อกล่าวหาในเวลาต่อมา การแจ้งข้อกล่าวหานายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ กับพวก เป็นสิ่งที่ไม่เกินความคาดหมายของผู้ติดตามเรื่องที่เกิดขึ้นมาแต่ต้น เพราะโครงการรับจำนำข้าวในครั้งนี้ นอกจากความพยายามของ กปปส.จะดึงเอาชาวนาหลายภูมิภาคเข้าร่วมขบวนการเรียกร้องรับเงินค่างวดที่ชาวนาจะต้องได้รับจากรัฐบาล ยังถือได้ว่า โครงการที่เข้าข่าย “ประชานิยม” นี้ ได้ส่งผลให้เกิดปัญหาสลับซับซ้อนทั้งการทุจริตคอร์รัปชั่น และการบริหารจัดการที่สร้างปัญหามากมาย

               การเลื่อนขอเวลาชี้แจงออกไปอีก 15 วัน ของนายกรัฐมนตรี ได้รับการตอบสนองและให้โอกาสจาก ป.ป.ช. ด้วยการยินยอมให้มีการเลื่อนได้อีกหนึ่งครั้ง ซึ่งระยะเวลาทางการเมืองทุกชั่วโมงนาทีย่อมมีความหมาย เพราะเหตุการณ์ที่ก่อนหน้านี้ดูจะเขม็งเกลียวก็ผ่อนคลาย เมื่อ คุณสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. จัดชุมนุมรวมทุกเวทีไปที่สวนลุมพินี ทำให้บรรยากาศการเผชิญหน้ากันระหว่างแกนนำ กปปส. ที่เคยคิดจะไล่ล่าผู้นำรัฐบาลได้เปลี่ยนยุทธวิธีการเฝ้าคอยจังหวะเวลา ซึ่งอาจไปตรงกับแนวคิด “ผลมะม่วง” ที่รอวันสุกงอมของนักวิชาการอย่าง ธีรยุทธ บุญมี เคยนำเสนอมาก่อนหน้านี้

               ในขณะเดียวกันหลายฝ่ายไม่เชื่อว่า ท่ามกลางคลื่นลมที่แลดูสงบอยู่นี้จะไม่มีคลื่นใต้น้ำ หรือ “มือไม้ของผู้ไม่หวังดี” ที่รอจังหวะเวลาในการกระทำการหรือดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อตอบโต้หรือสร้างสถานการณ์ที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้น เราจึงยังเห็นบังเกอร์ของกองทัพอยู่ในที่ชุมชน ซึ่งมีคนคิดไปได้ในทุกกรณี ทั้งการเฝ้าระวังหรือคิดเลยไปถึงการตระเตรียมการเพื่อกิจกรรมบางอย่างเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม ทั้งนี้เรื่องทั้งหมดล้วนเป็นการคาดเดาที่อาจจะนำไปสู่การยุติปัญหาคาราคาซังและยืดเยื้อมากกว่า 3 เดือน นอกจากจะสร้างความแตกแยกวุ่นวายทางสังคม ยังบั่นทอนเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวมอย่างเห็นได้ชัด เพราะเริ่มมีหลายธุรกิจที่ได้รับผลกระทบและกิจการหลายกิจการเตรียมย้ายฐานการผลิตออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน

               ทำให้มองได้ว่า “สันติภาพ” จะเกิดขึ้นได้ ทุกฝ่ายจะต้องแก้ปัญหาที่โน้มนำไปสู่ความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความคับแค้นใจ และความเกลียดชัง ที่จะเป็น “ชนวน” หรือ “เชื้อไฟ” ที่จะโหมให้การปะทะกันเกิดขึ้น นั่นคือ หากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ หรือองคาพยพในส่วนของศาลยุติธรรมส่วนใดส่วนหนึ่งไม่เป็นที่พึงพอใจของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด มีความเชื่อกันว่า จะเกิดการลุกฮือขึ้นของฝ่ายที่ได้รับผลกระทบนั้นๆ และน่าจะลุกลามบานปลายไปถึงการเสียเลือดเนื้อและชีวิตของผู้คนอีกจำนวนมาก ดังนั้นหากมีวิธีการใดๆ ทั้งการเจรจาที่เดินหน้าอยู่ทั้งในที่ลับและที่แจ้ง รวมไปถึง “ข้อต่อรอง” ทางการเมืองหลายๆ อย่างถึงกระทั่งให้พรรคการเมืองคู่กรณีมีการเว้นวรรคหรือการสรรหาบุคคลเข้ามาทำหน้าที่ขัดตาทัพเหมือนตัวอย่างของหลายประเทศที่เลือกสรรเอาบุคคลที่มีตำแหน่งทางสังคมเป็นที่ยอมรับเข้ามาบริหารจัดการปัญหาให้เรียบร้อยก่อนการเดินหน้าสู่การเลือกตั้งทั่วไป ก็ยังคงเป็นข้อเสนอที่ไม่อาจหาทางออกที่ลงตัวได้ หนทางที่เป็นไปได้มากที่สุดในขณะนี้อาจต้องฝากความหวังไว้กับกระบวนการยุติธรรมที่ต้องมี “คำอธิบายอย่างสะเด็ดน้ำ” ในทุกกรณีของคำพิพากษา ทั้งการอธิบายใน “ข้อเท็จจริง” และ “ข้อกฎหมาย” ทั้งนี้เพื่อเป็นการรักษาองค์กรและประเทศชาติเป็นส่วนรวม

.................................

(หมายเหตุ  : ความคับแค้นความเกลียดชังและสันติภาพ : ต่อปากต่อคำ  โดยดร.อมร วาณิชวิวัฒน์ [email protected]/ twitter@DoctorAmorn)

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ