ข่าว

มวลมหาประชาเด็ก'เรียน-เล่น'ใต้ร่มม็อบ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

มวลมหาประชาเด็ก 'เรียน-เล่น'ใต้ร่มม็อบ : ทีมข่าวรายงานพิเศษ

               "รู้สึกดี มีเพื่อนไม่เหงา วันนี้ก็เรียนตามปกติตั้งแต่เช้า เรียนหลายๆ อย่าง มีดนตรี ศิลปะ แล้วก็ผีเสื้ออันนี้ค่ะ หนูชอบทำผีเสื้อ ระบายสีเอง เอาหลอดใส่ แล้วก็เป่ามันจะลอยขึ้น" น้องเมย์ วัย 9 ขวบ บอกพร้อมอวดผีเสื้อกระดาษแสนสวยและบินได้

               ขณะที่ หลายฝ่ายมีความกังวลและเป็นห่วงเด็กๆ ที่ติดตามผู้ปกครองมาร่วมชุมนุมทางการเมือง อาจทำให้เด็กๆ ซึมซับความรุนแรง แต่ภายในสวมลุมพินีแห่งนี้ มี "โรงเรียนใต้ต้นไม้" มุมเล็กๆ ที่สร้างสรรค์และปลอดภัย สำหรับ "น้องเมย์" และเพื่อนๆ เกือบ 60 ชีวิต แม้ว่าอากาศภายในสวนลุมพินีจะร้อนอบอ้าว แต่ที่นี่อบอวลไปด้วยเสียงหัวเราะ เสียงพูดคุย และรอยยิ้มที่สดใสของเด็กๆ หลังจากพวกเขามาร่วมกิจกรรมต่างๆ อาทิ เกม กีฬา ดนตรี และศิลปะ เสริมด้วยเมนูขนม นมกล่อง และน้ำดื่มเย็นฉ่ำดับร้อน

               "หนูชอบฟังนิทาน มากกว่าฟังลุงกำนัน หนูไม่ค่อยได้มา แต่แม่มาคนเดียวเกือบทุกวัน บางวันหนูไปเรียน มาที่นี่ก็สนุกดี แม่พาไปทำกิจกรรมอื่นๆ ด้วย" น้องแบม วัย 9 ขวบ บอกขณะฟังครูอาสาเล่านิทานให้ฟัง

               "น้องแบมชอบเพ้นท์ธงชาติที่ใบหน้า วันนี้ก็ขอมาเพ้นท์หน้าอีก..." ยิ่งลักษณ์ พุ่มเฉลา วัย 39 ปี แซวลูกสาววัย 9 ขวบ

               คุณแม่น้องแบม ยอมรับว่า พาลูกสาวมาที่โรงเรียนใต้ต้นไม้ 2 วันแล้ว มาตั้งแต่ 10 โมงเช้า วันแรกน้องยังไม่คุ้นเคยกับเพื่อนๆ แต่วันนี้ เริ่มคุยกับเพื่อนๆ มากขึ้น ทำกิจกรรมตั้งแต่เช้า มีวาดภาพ ระบายสี ส่วนใหญ่จะพาลูกสาวมาร่วมกิจกรรมตลอด ตั้งแต่งานวันเด็กที่เวทีราชดำเนิน บางครั้งมาร่วมชุมนุมลูกสาวก็ขอตามมาด้วย เห็นแม่มาทุกวันเลยอยากรู้ว่ามีอะไร (ฮา) ถ้าลูกมาที่ชุมนุมแล้ว มีคำพูดที่ไม่เพราะ จะบอกเขาว่าอย่าจำนะลูก มันไม่ดี ส่วนเรื่องความปลอดภัย มั่นใจการ์ดที่นี่ดูแลเป็นอย่างดี

               ไม่ต่างจาก “ภัชรี ซื้อจ้าง” วัย 38 ปี เดินทางมาจาก จ.กระบี่ พร้อมสามีและ "น้องเบนซ์" ลูกชายวัย 6 ขวบ บอกว่า พื้นที่ชุมนุมมีความปลอดภัยดี แต่ก็รู้สึกกังวลบ้าง สามีคอยกำชับไม่ให้ออกนอกพื้นที่ พอมีโรงเรียนยิ่งรู้สึกปลอดภัยเพราะมีการ์ดคอยดูแลอยู่อย่างใกล้ชิด

               "ช่วงแรกๆ น้องเบนซ์อยากกลับบ้าน คิดถึงบ้าน แต่พอมีกิจกรรม มีครูมาสอน น้องก็กระตือรือร้น ไม่อยากกลับบ้านแล้ว อยากมาอยู่ที่นี่" ภัชรี บอกด้วยรอยยิ้ม

               เช่นเดียวกับ "น้องไบเบิ้ล" วัย 7 ขวบ บอกว่า "ชอบเล่นบอล.." โดยมี “จวบ สีดำ” ยายวัย 60 ปี  มานั่งเฝ้าหลานระหว่างเรียน เล่าว่า เดินทางมาจาก จ.นครศรีธรรมราช ตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม หลานปิดเทอมเลยขึ้นมาร่วมชุมนุม เขาอยากมากับยาย และที่บ้านไม่มีใครอยู่เลยพามาด้วย

               "พาน้องไบเบิ้ลมาโรงเรียน 2 วันแล้ว อยากให้หลานอยู่แบบนี้ดี รู้สึกดีใจ หลานมีเพื่อน อยู่ที่บ้านก็มีเพื่อน แต่บ้านอยู่ไกลกัน ปล่อยให้อยู่บ้านก็กลัวรถชน มาอยู่นี่รู้สึกปลอดภัยดี" ยายจวบ บอกด้วยรอยยิ้ม

               ด้าน "ตั๊น" จิตภัสร์ กฤดากร ครูใหญ่โรงเรียนใต้ต้นไม้ เผยถึงจุดเริ่มต้นของพื้นที่เล็กๆ เพื่อเด็กในที่ชุมนุมว่า ด้วยความเป็นห่วงความปลอดภัยของเด็กๆ ที่ผ่านมา เด็กตกเป็นเหยื่อความรุนแรงทางการเมือง บางทีการที่เด็กมาร่วมชุมนุม คุณพ่อคุณแม่อาจไม่มีทางเลือกอื่น เชื่อว่าทุกคนไม่อยากให้ลูกมาตกอยู่ในสภาวะที่อันตรายหรือไม่ปลอดภัย แต่ว่าผู้ปกครองอาจไม่มีทางเลือกอื่น จึงต้องหาพื้นที่ที่น่าจะปลอดภัยให้พวกเขา และตั้งแต่ย้ายมาที่สวนลุมพินี พื้นที่กว้าง เลยมีโอกาสได้เปิดโรงเรียนเหมือนศูนย์เด็กเล็ก เริ่มตั้งแต่ 10 โมงเช้า-บ่าย 3 โมง ผ่านมากว่า 1 สัปดาห์แล้วมีเสียงตอบรับที่ดีมาก จากวันแรกมีนักเรียนเพียง 5 คน แล้วก็เพิ่มจำนวนขึ้นทุกวัน

               "จิตภัสร์" บอกถึงความตั้งใจว่า อยากจะเห็นการดูแลซึ่งกันและกัน น้องๆ เหล่านี้ เป็นอนาคตของชาติ เป็นบุคลากรของประเทศในอนาคต เขาได้เรียนรู้ที่จะดูแลซึ่งกันและกัน และต้องเห็นแก่ส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว นั่นเป็นสิ่งที่จะปลูกฝัง โดยไม่ได้มีนโยบายเรื่องการเมืองอะไรทั้งสิ้น เป็นพื้นที่ของเด็กจริงๆ ที่มาเรียนรู้และพัฒนาตนเอง

               "ดีใจที่เห็นบรรยากาศที่สร้างสรรค์ ได้เห็นน้องๆ เป็นเสมือนกำลังใจให้เราสู้ต่อไป..."  ครูใหญ่สาวสวย บอกทิ้งท้าย ก่อนขอตัวไปดูแลลูกศิษย์วัยซนเกือบ 60 ชีวิต

               ราวบ่าย 3 โมง มีผู้ปกครองทยอยมารับลูกหลานกลับ แต่เด็กบางส่วนยังนั่งเล่นกันอยู่ "ธิติยา ครุธทามาส" อายุ 33 ปี จึงอาสาอ่านนิทานให้เด็กๆ ฟัง โดยมีเด็กราว 10 คนมานั่งล้อมวงฟังนิทานกันอย่างตั้งใจ

               "ธิติยา" บอกถึงความตั้งใจว่า การอ่านสำคัญมากในเด็กช่วงปฐมวัย แรกเกิดจนถึง 5 ปี ถ้าเขาสนใจรักการอ่านตั้งแต่เล็ก โตไปเขาจะเป็นคนดี เราสอนให้ลูกเราเก่งคนเดียวไม่ได้ ถ้าสังคมรอบข้างมีแต่คนเลวๆ จึงมาสอนแบ่งปันถึงลูกคนอื่นด้วย พยายามจะเอานิทานมาสอนเด็ก เพื่อเป็นไอเดียให้คุณพ่อคุณแม่ไปต่อยอด

               "ฉันมีลูกอายุ 20 เดือน ตอนแรกที่มาร่วมชุมนุมจะเอาเสื้อผ้าลูกที่เหลือใช้ ตุ๊กตา มาแจกเด็กตามเต็นท์อยู่แล้ว พอมีโรงเรียนก็ดีใจ เขารวบรวมเด็กไว้ที่นี่ จึงนำแป้งโดว์มาบริจาค และนำนิทานที่เคยเล่าให้ลูกฟังมาเล่าให้น้องๆ ฟัง เมื่อวานมาโรงเรียนเลิกไปก่อน แต่ยังมีน้องๆ ที่ยังเล่นอยู่แถวนี้ เลยเรียกให้เขามาฟังนิทาน เหมือนเป็นครูสอนพิเศษหลังเลิกเรียน"

               "ธิติยา" ยอมรับว่า เคยพาลูกมาร่วมชุมนุม แต่ก่อนจะพามา ประเมินสถานการณ์รอบด้านแล้วว่า "ปลอดภัย" ทั้งนี้ "ประชาธิปไตย" จะรอไปสอนตอนประถมไม่ได้ เคยอ่านนิทานเกี่ยวกับประชาธิปไตยให้ลูกฟังตั้งแต่อายุ 4 เดือน ซึ่ง "ประชาธิปไตย" ไม่ใช่การเลือกตั้งอย่างเดียว มันคือการรู้จักหน้าที่ของตัวเอง การเคารพสิทธิของคนอื่น ขณะที่บางคนมีวิกฤติจำเป็นต้องพาลูกมากินนอนในที่ชุมนุม อยากให้มองวิกฤติเป็นโอกาสที่จะสอนลูกในเรื่องประชาธิปไตย อย่างการเข้าแถวรอกินข้าว การแบ่งปัน อยากให้สังคมเข้าใจว่า บริบทแต่ละคนไม่เหมือนกัน อย่าไปโทษเขาที่พาเด็กมาร่วมชุมนุม อยากให้เปิดใจ ช่วยอะไรได้ก็ช่วยแบ่งปันกันดีกว่า !!

...................

(หมายเหตุ : มวลมหาประชาเด็ก 'เรียน-เล่น'ใต้ร่มม็อบ : ทีมข่าวรายงานพิเศษ)

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ