ข่าว

'เต้น'โผล่!ทำชาวนาถกรบ.วงแตก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

'เต้น'โผล่!ทำชาวนาถกรบ.ที่สำนักงานปลัดกห.วงแตก ไม่เหตุไม่ข้อสรุป 'นิวัฒน์ธำรง' อัดมีขบวนการขวางการกู้เงิน

              เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 10 ก.พ. 2556 กลุ่มชาวนาที่ได้รับผลกระทบจากการจ่ายเงินล่าช้าของโครงการรับจำนำข้าวจากภาคกลางและภาคตะวันตกประมาณ 1,000คน ได้เคลื่อนจากกระทรวงยุติธรรม มาถึงบริเวณหน้าสำนักปลัดกระทรวงกลาโหม ซึ่งเป็นสถานที่ทำงานชั่วคราวของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีเพื่อทวงถามความคืบหน้าในการดำเนินการของรัฐบาล

              โดยงสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ได้มอบหมายให้ พ.อ.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ รองเลขานุการสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมเป็นตัวแทนในการเจรจาในเบื้องต้น และได้เชิญตัวแทนชาวนา 20 คน เข้าเจรจากับตัวแทนรัฐบาล ได้แก่ นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ นายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและรมช.เกษตรและสหกรณ์ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.พาณิชย์ นายเสริมศักดิ์ พงษ์พาณิชย์ และพลเอกนิพัทธ์ ทองเล็ก ปลัดกระทรวงกลาโหม ที่ห้องกองเบี้ยหวัดบำเหน็จบำนาญ กรมการเงินกลาโหม ภายในอาคารสำนักงานปลัดฯ โดยใชัเวลาในการเจรจาประมาณ 30 นาที ซึ่งไม่ได้ข้อยุติ

              การเจรจาเริ่มขึ้นในเวลา 14.00 น. ซึ่งก่อนเริ่มเจรจามีนายวิม รุ่งวัฒนะจินดา คณะทำงานของนายกรัฐมนตรี ลงมาชี้แจงว่าจะมีมรัฐมนตรีคนไหนลงมาเจรจาบ้าง ขอให้พี่น้องใจเย็นๆ ปรากฏว่ามีตัวแทนชาวนาตะโกนสวนกลับว่าจะให้ใจเย็นได้อย่างไร เย็นมา 9 เดือนแล้วนะ

              และเมื่อเริ่มการเจรจานายระวี รุ่งเรือง แกนนำชาวนาภาคตะวันตก กล่าวว่า ชาวนาทั้งประเทศต้องการเงินจำนำข้าวจากรัฐบาลอย่างเร่งด่วน ซึ่งชาวนาได้มีการติดตามการดำเนินการของรัฐบาลมาตลอด แต่ก็ยังไม่ได้รับเงินจึงต้องมาร่วมชุมนุมกันตั้งแต่วันที่ 6 ก.พ.ที่ผ่านมา แต่รัฐบาลก็ยังคงเพิกเฉย ส่งเพียงปลัดกระทรวงมาคุยกับตัวแทนชาวนาเท่านั้น วันนี้จึงต้องเดินทางมาพบกับนายกรัฐมนตรี และยืนยันว่าหากวันนี้ชาวนาทั้งประเทศไม่ได้เงินก็จะไม่กลับ เพราะ ทุกวันนี้ชาวนามีความเดือดร้อนมาก และหากรัฐบาลยังไม่จ่ายเงินชาวนา และยังไม่เร่งระบายข้าวจะยิ่งทำให้ราคาข้าวตกต่ำและเป็นการซ้ำเติมชาวนาขึ้นไปอีก เพราะอีกเพียง 4 เดือนก็จะถึงฤดูการเก็บเกี่ยวข้าวนาปรังแล้ว

              ทั้งนี้ได้เสนอขอให้รัฐบาลระบายข้าว แม้ว่าจะราคาเท่าไหร่ก็ตาม เพื่อมาจ่ายให้กับชาวนาในโครงการรับจำนำข้าว อย่างไรก็ตามตนไม่อยากให้นำการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งชาวนาเข้าใจว่ารัฐบาลป็นเพียงรัฐบาลรักษาการณ์ไม่มีอำนาจเต็ม ตนจึงขอให้รัฐบาลทำอย่างไรก็ได้ให้กลับมามีอำนาจเต็ม เพื่อที่จะได้แก้ไขปัญหาได้เร็วขึ้น หลังจากพูดจบ นายระวีได้ยกมือไหว้และรัฐมนตรีทั้ง 4 คน

              ขณะที่ตัวแทนชาวนาที่เข้าร่วมเจรจาคนหนึ่งระบุว่า "ถ้ารัฐบาลสงสารชาวนาจริงๆ ถ้าไม่มีกฎหมายหรือไม่มีสิทธิทำอะไรได้ ผมว่ารัฐบาลควรจะลาออกและให้รัฐบาลใหม่เข้ามาจัดการแทน"

              นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ประธานชาวนาภาคเหนือ กล่าวว่า รัฐบาลไม่ได้จ่ายเงินในโครงการรับจำนำข้าวตั้งแต่เดือน ต.ค. ฤดูกาล 55/56 ขณะเดียวกันข้าวในฤดูกาล 56/57 ก็ยังไม่ได้จ่ายเช่นเดียวกัน วันนี้จึงต้องการความชัดเจนว่ารัฐบาลจะสามารถจะสามารถจ่ายได้ครบจำนวนเมื่อใด รัฐบาลมาบอกชาวนาว่าธนาคารไม่ให้กู้เงิน ซึ่งตนก็รู้ว่าการเป็นรัฐบาลรักษาการณ์นั้นไม่สามารถกู้เงินได้ ซึ่งอยากรัฐบาลพูดความจริง ไม่ใช่โกหกชาวนา เพราะจะยิ่งทำให้ชาวนาเดือดร้อนเพิ่มไปอีก ในวันนี้การเจรจาถือว่าไม่ข้อสรุปใดๆ

              ชาวนารายหนึ่งลุกขึ้นระหว่างการเจรจา กล่าวว่า "ผมเป็นเสื้อแดง เลือกท่านณัฐวุฒิมา ทุกเช้าต้องทะเลาะกับลูกเมียเพราะไม่มีเงิน ผมได้ยินข่าวว่า รัฐบาลจะคืนข้าว ซึ่งผมยินดีรับคืนทั้งหมด 21 เกวียน ในเมื่อรัฐบาลพึ่งไม่ได้ พี่น้องก็จะแย่แล้ว ผมจะเลือกพวกคุณมาทำไม ถ้าให้คืนผมพร้อมเอาตราชั่งมาชั่งทันที"

              นายนิวัฒน์ธำรง กล่าวว่า ชาวนาที่ยังไม่ได้รับเงินในโครงการรับจำนำข้าวฤดูกาล 55/56 ขณะนี้คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ได้พิจารณาวงเงินที่จะใช้จ่ายเพิ่มเติม 712 ล้านบาท ซึ่งมีชาวนาได้รับประโยชน์ประมาณ 3,900 ราย ซึ่งวงเงินดังกล่าวจะเสนอในการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 11 ก.พ.นี้ ซึ่งจะต้องเสนอให้คณะกรรมการเลือกตั้งพิจารณาอนุมัติต่อไป

              "ส่วนเงินก้อนใหม่ที่ใช้จ่ายในปี 56/57 นั้น รมว.คลังมีความพร้อมในการลงนามกู้เงินมากว่า 2 สัปดาห์แล้ว แต่มีขบวนการในการขัดขวางไม่ให้มีการกู้เงิน จึงขอให้ชาวนาร่วมกับรัฐบาลเพื่อให้สถาบันการเงินปล่อยเงินกู้ให้กับรัฐบาล ซึ่งทำให้ชาวนาตอบกลับว่า เป็นหน้าที่ของรัฐบาลไม่ใช่ชาวนาที่จะต้องไปกู้เงินจากสถาบันการเงินต่างๆ"รองนายกฯ กล่าว

              อย่างไรก็ตาม นายนิวัฒน์ธำรง ยืนยันว่า รัฐบาลได้จ่ายเงินจำนวนหนึ่งไปให้ชาวนาเรียบร้อยแล้ว จะขาดเพียงเดือน พ.ย. 2556 จนถึงขณะนี้ ส่วนชาวนาคนใดที่นำข้าวเข้าโครงการในช่วงต้นและยังไม่ได้รับเงินก็ขอให้รวบรวมรายชื่อมายังตน เนื่องจากโครงการดังกล่าวยึดหลักมาก่อนได้ก่อน ส่วนเรื่องการคืนข้าวนั้นเป็นเพียงข้อเสนอของตัวแทนเกษตรกรแต่หากเกษตรกรต้องการคืนข้าว รัฐบาลก็ยินดี

              ด้านนายวราเทพ กล่าวว่า ตอนนี้ยังตอบไม่ได้ว่ารัฐบาลจะนำเงินมาคืนชาวนาได้เมื่อไหร่ และสถาบันการเงินที่รัฐบาลติดต่อขอกู้ก็ไม่ยอมปล่อยกู้ เนื่องจากขาดความเชื่อมั่นเพราะเป็นรัฐบาลรักษาการณ์ ตนอยากให้ชาวนาส่งตัวแทนมาเจรจา เพราะหากคุยกันเป็นวงใหญ่ก็จะคุยกันไม่รู้เรื่อง

              ผู้สื่อข่าวรายงานว่ามีช่วงหนึ่งที่นายณัฐวุฒิพยายามอธิบายการดำเนินการของรัฐบาล ปรากฏว่าตัวแทนชาวนาบางส่วนไดัลุกออกจากวงเจรจา โดยระบุว่า มีการคุยกันมามากพอแล้ว พี่น้องชาวนาอยู่ข้างนอก ต้องการคำตอบเพียงว่า ชาวนาจะได้รับเงินหรือไม่เท่านั้น ยืนยันว่าไม่ได้เป็นชาวนาตัวปลอม เป็นคนไทย และไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง ที่คุยกันมารัฐบาลมีแต่โยนปัญหากันไปมา ไม่ได้ข้อสรุปเสียที  และต่อจากนั้นไม่นานแกนนำและตัวแทนชาวนาทุกคนก็ลุกเดินออกจากห้องเจรจากลับไปยังด้านหน้าสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมทันที

              และจากนั้นนายกิตติศักดิ์แกนนำชาวนา ขึ้นรถปราศัยตอนหนึ่งว่า ต่อจากนี้เราจะทำในสิ่งที่ถนัด ขอให้ชาวนาทั่วประเทศเข้าล้อมโกดังเก็บข้าวของรัฐบาลที่มีอยู่ทั่วประเทศ เพื่อไม่ให้รัฐบาลเข้ามายุ่งกับข้าวของพวกเราอีกแล้ว ดังนั้นขอเชิญชวนให้พี่น้องชาวนาทั่วประเทศออกมาช่วยกัน" ขณะที่แกนนำคนอื่นได้เล่าผลของการเจรจากับตัวแทนรัฐบาล ซึ่งชาวนาที่ฟังคำปราศัยต่างพากันตะโกนโห่และตะโกนขับไล่รัฐบาล และจากนั้นเวลา 15.00น. กลุ่มชาวนาก็เคลื่อนขบวนกลับไปยังด้านหน้ากระทรวงพาณิชย์เพื่อประชุมหามาตรการเพิ่มเติมเพื่อยกระดับการชุมนุมต่อไป
 

 

ประธานสภาเกษตรกรชง2แนวทางปฏิรูป

               นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวในงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2557 เรื่องอนาคตประเทศไทยสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จัดโดยสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ว่าสภาเกษตรกรเตรียมที่จะเสนอแนวทางปฏิรูปประเทศอย่างเป็นรูปธรรมให้รัฐบาลใหม่พิจารณา โดยแบ่งแนวทางการแก้ปัญหา เป็น 2 ระดับ คือ นโยบายระดับเศรษฐกิจมหภาคที่จะใช้แข่งขันกับนานาประเทศ และนโยบายเศรษฐกิจรากหญ้าที่แก้ปัญหาในระดับชนบท ให้สามารถพึงพาตนเองได้ ควบคู่กับการจัดสรรทรัพยากรที่เหมาะสม และต้องนำไปบรรจุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ขณะเดียวกันยังต้องแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างเป็นระบบ ทั้งการจัดสรรที่ดินทำกินให้เกษตรกร การจัดตั้งกองทุนธนาคารที่ดิน และแก้ไขกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมกับคนชนบท รวมถึงการแก้ปัญหาทางการคลังที่สมดุลมากขึ้นด้วย

               สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหาการขาดสภาพคล่องของโครงการรับจำนำข้าว มองว่ารัฐบาลควรประสานงานไปยังธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จัดสรรสินเชื่อเพิ่มเติมให้กับชาวนา โดยรัฐบาลรับผิดชอบในการอุดหนุนอัตราดอกเบี้ยให้กับชาวนา ขณะเดียวกันอาจต้องใช้งบกลางภายใต้อำนาจของนายกรัฐมนตรี เข้ามาเยียวยาวชาวนา เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อน เนื่องจากตอนนี้ชาวนาที่ไม่ได้รับเงินทั้งหมดกำลังได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักที่เกิดจากความผิดพลาดของรัฐบาลเอง ทั้งนี้ยังเชื่อว่าหากรัฐบาลยังเพิกเฉยกับปัญหาดังกล่าวอยู่ กระแสการต่อต้านจากชาวนาจะมีมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งท้ายที่สุดจะไม่ส่งผลดีกับประเทศชาติแต่อย่างใด
    
               เขากล่าวด้วยว่าขณะนี้สภาเกษตรกรมีความเป็นห่วงว่าเกษตรกรไทยโดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อย อาจเผชิญกับการล่มสลายทางอาชีพหลังจากเปิดประชาคมอาเซียนในปี 2558 เพราะเกษตรกรกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ยังไม่รับรู้ข้อมูลว่าประชาคมอาเซียนคืออะไร จะปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะการวางแผนปลูกพืชผลทางการเกษตร อาจมีประเทศคู่แข่งที่มีศีกยภาพมากกว่าในการแข่งขันทั้งเรื่องการผลิตและเรื่องราคาจนในที่สุดเกษตรกรรายย่อยของไทยไม่สามารถแข่งขันได้
    
               “ตอนนี้ต้องให้เกษตรกรรู้ข้อมูลในปีหน้าจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าไม่ปรับตัวจะเป็นอย่างไร เพื่อให้เกษตรกรกลุ่มนี้ไม่ล่มสลาย ต้องรู้ว่าปลูกอะไรแล้วขายได้ เช่น ปลูกมะม่วงพันธุ์ดีที่มีราคาแพงไม่มีประเทศไหนเป็นคู่แข่ง ปลูกข้าวพันธุ์ที่ประเทศอื่นไม่มี ไม่ใช่ไปปลูกเหมือนคู่แข่ง หรือส่งเสริมการทำปศุสัตว์ที่ไทยมีความเชี่ยวชาญกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งแนวทางนี้เป็นตัวอย่างที่เกษตรกรควรจะรู้แล้วปรับตัวให้รับกับการเปลี่ยนแปลงของโลก เพื่อทำให้เศรษฐกิจกลับมาดี และรวมย่างมีเหตุผล”
    
               ด้านนายประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส และประธานคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป กล่าวว่าการเติบโตของประเทศไทยในอนาคตไม่ใช่โตเพียงแค่ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี)เพียงอย่างเดียว แต่ต้องให้ความสำคัญกับปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นด้วยว่าได้รับการปรับแก้ไขให้ลดลงไปจากประเทศไทยจริงหรือไม่ เพราะหากการเติบโตทางเศรษฐกิจขยายตัว แต่ประชากรกว่า 99% ของประเทศไม่มีความกินดีอยู่ดีขึ้นก็ถือว่าไม่เป็นการเติบโตที่ยั่งยืน โดยแนวทางในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างยั่งยืนของไทย คือการคืนอำนาจลงสู่ท้องถิ่น ให้ประชาชนปกครองกันเอง ชุมชนจัดการบริหารกันเอง ซึ่งมองว่าเป็นแนวทางที่ดีกว่าการรวมอำนาจไว้ที่ส่วนกลางเพียงอย่างเดียวเช่นในปัจจุบัน ที่ทำให้เกิดปัญหาการคอร์รัปชั่นจากคนที่มีอำนาจจนเป็นปัญหาสำคัญของประเทศในขณะนี้

            “เป็นเพียงการเสนอแนะความเห็นแต่จะไม่ขอรับตำแหน่งใด ๆ ทางการเมือง โดยเฉพาะตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนกลาง แม้จะเป็นบุคคลที่มีหลายฝ่ายเสนอรายชื่อผมว่ามีความเหมาะสม แต่ผมมีอายุมากแล้วและยังไม่ได้รับการติดต่อทาบทามจากฝ่ายใดเลย ที่จริงแล้วการปฏิรูปประเทศไทยจริง ๆ แล้วสามารถทำได้ทันที โดยไม่จำเป็นต้องรอเงื่อนไขทางการเมือง โดยการปฏิรูปการเมืองและระบบข้าราชการ ที่เป็นสาเหตุสำคัญในการทำให้ประเทศไทยเกิดปัญหาความขัดแย้ง อันเนื่องมาจากความเหลื่อมล้ำของคนในสังคม ขณะที่ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับกลุ่ม กปปส. นั้น ทางออกที่ดีที่สุดควรจะหันหน้ามาเจรจากันเพื่อให้ประเทศชาติเดินหน้าต่อไปได้ เพราะถ้าไม่คุยกันปัญหาการต่อสู้ทางการเมืองอาจจะรุนแรงมากขึ้นกว่านี้”นายประเวศกล่าว
    
               สำหรับปัญหาเรื่องของโครงการรับจำนำข้าวรัฐบาลต้องรีบแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวนาที่ยังไม่ได้รับเงิน โดยมองว่าปัญหาทั้งหมดเกิดจากความเหลื่อมล้ำ ดังนั้นแนวทางแก้ไขเฉพาะหน้า คือ ต้องเร่งรักษาสุขภาพจิตใจของชาวนาด้วยการให้กระทรวงสาธารณสุขเข้าไปเยียวยา จากนั้นควรนำกองทุนที่มีอยู่ในแต่ละชุมชนมาช่วยเหลือเกษตรกร เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนเงินทุนในเบื้องต้น ก่อนที่รัฐบาลต้องเร่งหาเงินมาชดใช้ให้กับเกษตรกรโดยเร็วที่สุด
    
               ส่วนแนวทางในการแก้ไขปัญหาในระยะยาว เห็นว่ารัฐบาลต้องเร่งปฏิรูปการบริหารประเทศ โดยในเรื่องที่ดินทำกินต้องมีการจัดสรรที่ดีและโอนให้กับชุมชนเป็นผู้จัดสรรให้กับคนในชุมชนเอง อย่างน้อยครอบครัวละ1-2 ไร่ ซึ่งน่าจะเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาความยากจนของเกษตรกรได้อย่างยั่งยืน


เกษตรฯเตรียมปัจจัยการผลิตช่วย

               นายุคล ลิ้มแหลมทอง รองนาฃยกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารกระทรวงเกษตรฯ ว่า จากกรณีชาวนาที่ได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากไม่ได้รับเงินจากโครงการรับจำนำข้าว ในขณะนี้เป็นปัญหาที่กระทรวงพาณิชย์จะต้องแก้ไข ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะได้รับเงินทันการลงทุนเพาะปลูกในปี 57/58 ที่จะเริ่มต้นตั้งแต่เดือน พ.ค. นี้หรือไม่ ดังนั้นเพื่อเตรียมการรับมือและช่วยเหลือเกษตรกรในเบื้องต้น กระทรวงเกษตรฯจะจัดหาปัจจัยการผลิตเพื่อช่วยเหลือชาวนาสามารถทำนาได้ไปก่อน ส่วนหนึ่งเพื่อไม่ให้เกษตรกรมีหนี้สินเพิ่ม
    
               โดยที่ประชุมได้สั่งให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ สำรวจเกษตรกรที่มีใบประทวนค้างอยู่กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส. ) ให้ชัดเจนเพื่อจัดทำรายชื่อในการช่วยเหลือ คาดว่าจะมีประมาณ 1ล้านครอบครัว การทำนาครั้งใหม่จะใช้พันธุ์ข้าวประมาณ 5 หมื่นตัน ซึ่งในส่วนนี้ กรมการข้าวจะสามารถจัดหาได้เพียง 1 หมื่นตันเท่านั้น กรมส่งเสริมสหกรณ์ให้สหกรณ์การเกษตรรวบรวมได้ อีกประมาณ 1,000 ตัน ที่เหลือกรมาการข้าวจะหารือกับภาคเอกชนเพื่อรวบรวมต่อไป
    
               สำหรับปุ๋ย ที่ประชุมได้สั่งการให้องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร(อ.ต.ก.) ที่ปัจจุบันจำหน่ายปุ๋ยเคมีอยู่แล้ว ให้จำหน่ายกับเกษตรกรในราคาถูก ลดอัตรากำไรลง และขยายสินเชื่อจาก 1 เดือน เป็น 4 เดือน เพื่อรอให้เกษตรกรจำหน่ายข้าวก่อนนำเงินมาชำระหนี้
    
               “ วิธีการเหล่านี้เป็นการเตรียมรับมือการเพาะปลูกรอบใหม่ ที่จะมาถึงอีก 3 เดือนเท่านั้น ซึ่งไม่แน่ใจว่า ชาวนาจะมีเงินลงทุนหรือไม่ หากต้องรอรัฐบาลชุดใหม่ มาแก้ปัญหาจะไม่ทันกับสถานการณ์ อย่างไรก็ตาม แนวทางการช่วยเหลือดังกล่าว จะต้องใช้งบประมาณบางส่วนในการรวบรวมพันธุ์ข้าว ดังนั้นต้องเสนอให้ครม. ผ่าน กกต. พิจารณา ดังนั้นอาจจะต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร “ นายยุคล กล่าว
    
               สำหรับผลผลิตข้าวนาปรังที่จะออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือน มี.ค. นี้เป็นต้นไป รัฐบาลชุดปัจจุบันคงไม่สามารถดำเนินโครงการรับจำนำต่อไปได้อีก ดังนั้นจึงต้องปล่อยให้ราคาเป็นไปตามกลไกการตลาด ซึ่งกระทรวงเกษตรฯได้ส่งสัญญาณนี้ให้ชาวนารับทราบเบื้อต้นแล้ว ในขณะเดียวกันการทำนาปรังรอบที่ 2 จะต้องไม่เกิดขึ้นเพราะน้ำในอ่าง มีเหลือน้อยมาก และขณะนี้ปริมาณน้ำเค็มได้ขึ้นสูงมาก ซึ่งจากการพยากรณ์ปริมาณน้ำฝนที่จะใช้เพาะปลูกตั้งแต่เดือน พ.ค. นี้เป็นต้นไป ยังพบว่าจะล่าช้าจากปกติ ไปประมาณ 2 สัปดาห์
    
               ดังนั้นปัญหาภัยแล้งในปีนี้ถือว่ารุนแรงและจะกระทบกับภาคการเกษตรในภาพรวม ดังนั้นจึงอยากให้ชาวนารับฟังปัญหาและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หากยังฝืนปลูกนาปรังรอบที่ 2 จะเสี่ยงค่อความเสียหาย และรัฐบาลจะไม่สามารถเข้ามารับผิดชอบหรือช่วยเหลือ เยียวยาได้ อีก
    
               นายเชิดชัย พรหมแก้ว ผู้อำนวยการสนักพัฒนาธุรกิจสหกรณ์ กรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า จากการประชุมผู้บริหารที่เตรียมพร้อมรับมือปัญหาข้าวในปีเพาะปลูก2557/58 นั้น มีความเป็นไปได้ที่จะให้สหกรณ์เข้าไปมีส่วนร่วม จากเดิมที่โครงการรับจำนำข้าว สหการณ์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ อย่างไรก็ตามหากรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหาร ซึ่งคาดว่าคงหนีไม่พ้นจะเป็นบุคคลเดิมเดิมในรัฐบาชุดที่ผ่านมา และคาดว่าจะใช้นโยบายรับจำนำข้าวอีกครั้ง กรมส่งเสริมสหกรณ์ พร้อมที่จะดำเนินการตามมาตรการรับจำนำของรัฐบาล แต่ต้องเป็นไปไปตามวิธีการของสหกรณ์เท่านั้น โดยสหกรณ์มีโรงสีที่จะใช้เป็นแหล่งรวบรวมข้าวเปลือกเฉพาะที่เป็นของสมาชิก ซึ่งจะทำให้สามารถแยกชั้นคุณภาพข้าวได้ หลังจากนั้นจะแปรรูปจำหน่าย ในตลาดของสหกรณ์เอง ที่บางสหกรณ์สามารถเชื่อมโยงตลาดต่างประเทศได้โดยตรง
    
               “วิธีการนี้ รัฐบาลจะต้องแบ่งเงินบางส่วนมาให้สหกรร์เพื่อใช้ดำเนินการตามโครงการที่กำหนดไว้ เพราะสหกรณ์ไม่สามารถเสี่ยงที่จะดำเนินการตามนโยบายหลักได้ โดยชาวนาทั้งประเทศ พบว่าที่เป็นสมาชิกสหกรณ์มีมากถึง 52 % ถือครองพื้นที่ทำนาอยู่ 32 % ของประเทศ หากนโยบายหลักไม่ได้ผลหรือมีปัญหาเกิดขึ้น คนของสหกรณ์ที่เป็นจำนวนมากจะได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก “ นายเชิดชัย กล่าว
    
               นายเชิดชัย กล่าวว่า ตามวิธีการของสหกรณ์ในธุรกิจข้าวดังกล่าว ที่ผ่านมาสหกรณ์หลายแห่งเคยทำมาแล้ว และได้ผลจากโรงสี 200 แห่ง ที่เป็นสมาชิกสามารถรับซื้อข้าวเปลือกได้ประมาณ 30 % ของผลผลิตทั้งประเทศ ในจำนวนนี้ ข้าว 11 % จะแปรรูปจำหน่ายทันทีในช่องทางตลาดทั้งในและต่างประเทศ ที่เหลือจะเก็บไว้ในรูปข้าวเปลือกเพื่อรอจำหน่าย ซึ่งจากราคาที่รัฐบาลตั้งไว้ข้าวขาว ตันละ 15,000 บาทขณะนี้สหกรณ์ยังพอมีกำไร แต่ต้องเป็นไปตามวิธีการของสหกรณ์เท่านั้น
    
               “ โชคดีที่โครงการรับจำนำข้าวรอบที่ผ่านมาสหกรณ์ ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่มีสมาชิกจำนวนมากที่ยังถือใบประทวนค้างอยู่ ซึ่งสหกรณ์บางแห่งมีแนวทางให้การช่วยเหลือ เพื่อให้มีเงินลงทุนในการเพาะปลูกครั้งต่อไป แต่ก็ต้องเป็นหนี้ แม้ว่าจะเป็นอัตราดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งรัฐบาลควรเมาแก้ไขปัญหาโดยด่วน “ นายเชิดชัย กล่าว
    
               นายชูชาติ อินสว่าง ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรศรีประจันต์ จำกัด กล่าวว่า จากสมาชิก 4,000 ครอบครัว ของสหกรณ์ฯมีการเข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าว 1,000 ครอบครัว ส่วนใหญ่ได้เงินเงินไปแล้วเหลืออีก 345 ครอบครัวที่ยังไม่ได้รับเงิน ซึ่งสหกรณ์ฯหารือคณะกรรมการดำเนินการ และมีความเห็นชอบร่วมกันว่า จะขยายวงเงินกู้ให้กับสมาชิกที่มีปัญหาเหล่านี้ จากที่กู้ได้รายละ 1.5 ล้านแสนบาทเพิ่มเป็น 1.8 ล้านบาท โดยจะขยายหลักประกัน ทั้งอสังหาริมทรัพย์ กำหนดชำระเงินคืนภายใน 1 ปี อัตราดอกเบีย 3.25% ต่อปี เท่ากับดอกเบี้ยเงินฝาก ทั้งนี้เพื่อไม่ให้สมาชิกมีปัญหามีหนี้สินเพิ่ม จากเงินดอกเบี้ยเงินกู้ ดังกล่าวจะสูงประมาณ 8.25 %
    
               สหกรณ์ยอมขาดทุนเฉพาะค่าบริหารจัดการเท่านั้น ในกรณีที่สมาชิกไม่มีหลักทรัพย์ จะใช้สมาชิกด้วยกันค้ำประกันอย่างน้อย 2 คน ซึ่งต้องเป็นผู้มีหลักทรัพย์ หากเป็นผู้ไม่มีหลักทรัพย์ จะพิจารณาปล่อยเงินตามเงื่อนไขที่สหกรณ์กำหนด ทั้งหมดนี้สหกรณ์ฯ กำหนดกรอบสวงเงินไว้ ที่ 35 ล้านบาท หากสมาชิกต้องการเงินมากกว่านี้ สหกรณ์ฯยังมีวงเงินที่สามารถกู้ได้จากธ.ก.ส. อีก 400 ล้านบาท คาดว่าจะบรรเทาความเดือดร้อนของสมาชิกได้
    
               “ทางสหกรณ์ พร้อมที่จะช่วยเหลือสมาชิก แต่ทางรัฐบาลต้องหาวิธีการคืนเงินให้กับชาวนาภายใน 1 ปีด้วย เพื่อที่จะนำเงินเหล่านั้นมาชำระหนี้ของสหกรณ์ฯได้ทัน ซึ่งสหกรณ์ต้องการให้สมาชิกทุกคนเข้าสู่ระบบปกติ ไม่อยากใหม่เป็นหนี้ดังกล่าวนานเกินไป จะกลายเป็นภาระซ้ำซ้อนกับสามชิก การขยายวงเงินกู้ครั้งนี้เป็นการเยียวยาเบื้องต้นเท่านั้น ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทั้งหมด เมื่อรัฐบาลไม่คิดพึ่งระบบสหกรณ์ในโครงการรับจำนำข้าวตั้งแต่ต้น จนเป็นปัญหา ก็ต้องหาแนวทางแก้ไขกันเอาเอง “ นายชูชาติ กล่าว
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ