ข่าว

ความรับผิดของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ความรับผิดของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง : ต่อปากต่อคำ โดยดร.อมร วาณิชวิวัฒน์ [email protected]/ twitter@DoctorAmorn

              เมื่อมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในกรณีบรรดา ส.ส. ส.ว. และคนในคณะรัฐมนตรีซึ่งเกี่ยวข้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตรา 190 ว่าบุคคลเหล่านี้กระทำผิดมาตรา 86 (1) เข้าข่ายจงใจให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่ไม่เป็นไปตามวิถีทางประชาธิปไตย ทำให้มีคำถามเกิดขึ้นว่าแล้วจะอย่างไรต่อไป จะมีใครบ้างถูกดำเนินคดีทางอาญา ใครบ้างจะต้องถูกห้ามเล่นการเมืองเป็นเวลา 5 ปี

              จึงน่าจะให้ความรู้ต่อท่านทั้งหลายเกี่ยวกับปรากฏการณ์นี้ว่า ความรับผิดของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีสาระสำคัญที่คนจำนวนมากยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อน เพราะการกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ จงใจผิดรัฐธรรมนูญ เป็นบทบัญญัติเฉพาะของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่เข้านิยาม มาตรา 157 ตามประมวลกฎหมายอาญา แต่ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ หรือ พ.ร.บ.ป.ป.ช. มีการแก้ไขในปี 2554 บัญญัติการกระทำผิดของเจ้าหน้าที่รัฐ ให้รวม ส.ส. ส.ว. ด้วย ซึ่งคล้ายประมวลกฎหมายอาญา ในมาตรา 157 จึงต้องไปดูในรายละเอียดของข้อเท็จจริงในการลงมติในสภาว่ามี รัฐมนตรีรวมทั้งนายกรัฐมนตรี ได้ร่วมลงมติซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมายดังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่

              รวมทั้งต้องเข้าใจอีกด้วยว่าในแง่ "ความรับผิดของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง" มีอยู่ด้วยกัน 4 ด้าน เพราะสังคมให้เกียรติและเห็นความสำคัญของคนเหล่านี้ โดยมาตรฐานความรับผิดน่าจะแยกแยะได้ดังนี้ 1.ความรับผิดทางการเมือง เช่นในบางสังคม ผู้กระทำผิดต่อพันธสัญญาต่อปวงชนส่วนใหญ่อาจต้องลาออกหรือหนีหายจากวงการการเมืองไปเลยก็มี 2.ความรับผิดทางปกครอง คือ การที่บุคคลผู้มีอำนาจได้ออกคำสั่งหรือออกกฎเกณฑ์ต่างๆ และมีผลกระทบต่อบุคคลอื่นทำให้ผู้ได้รับผลกระทบสามารถนำคดีความขึ้นสู่การพิจารณาในชั้นศาลเพื่อแก้ไขหรือให้ยกเลิกคำสั่งนั้นๆ ได้ 3.ความรับผิดทางอาญา คนที่ร่ำเรียนกฎหมายมาจะทราบดีว่าการดำเนินคดีอาญากับใครก็ตามจะต้องครบองค์ประกอบความผิด เฉพาะอย่างยิ่งเจตนาในการดำเนินการ และ 4.ความรับผิดทางแพ่ง หากเป็นการกระทำการประมาทเลินเล่อหรือกระทำการที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้อื่น จำเป็นต้องเยียวยาชดใช้ให้บุคคลผู้ได้รับผลกระทบดังกล่าว

              เมื่อตรวจสอบดูเห็นว่า การชี้ขาดในคดีที่คนของพรรคประชาธิปัตย์นำผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไปฟ้อง ป.ป.ช. เพื่อดำเนินคดีเป็นดาบสองไม่น่าจะแรงขนาดมีการดำเนินคดีอาญา เพราะศาลอาจเห็นว่าเจตนาพิเศษซึ่งส่งผลต่อกลไกการปกครองว่ามีการรับคำสั่งใครหรือมีผลประโยช์อย่างไรด้วยไหม จึงไม่น่าจะต้องยุบพรรคกันอีกหรือจะแรงกระทั่งมีการทำให้ใครต้องติดคุกตาราง

              ความน่าสนใจเพิ่มเติมอยู่ตรงการชี้แจงข้อกล่าวหาซึ่งถือเป็นสิทธิของบุคคล ถ้าไม่มา ชี้แจงโดยเฉพาะนักการเมือง ทาง ป.ป.ช. จะถือว่า เขาสละสิทธิ์ที่จะชี้แจง และสามารถส่งฟ้องได้เลยไม่ต้องส่งตัวไปที่ศาล (คือสามารถส่งให้อัยการเป็นคนฟ้องโดยไม่ต้องคุมตัวมาศาลเหมือนในคดีอาญา) ปกติในทางคดีอาญา กระบวนการพิจารณาคดีอาญาต้องทำต่อหน้าจำเลย ในทางปฏิบัติ ศาลจะมีหมายเรียกตัวจำเลยมาศาลเพื่อให้มาสู้คดีโดยเปิดเผย ในนัดแรก หากไม่มา ศาลจะออกหมายจับ ศาลจะตีความเคร่งครัดว่าต้องมีจำเลย ในคดีอาญาทั่วๆ ไป คือ ครั้งแรก ถ้าไม่มาจะออกหมายจับค้างไว้เพราะในทางอาญา ต้องมีการพิสูจน์ในการกระทำด้วย

              นี่คือสิ่งที่อาจเรียกได้ว่าเป็นตุลาการภิวัฒน์หรือสภาวะพิเศษที่นำมาใช้ในการดำเนินการกับผู้กระทำผิดที่ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จึงอยากให้สังคมทำความเข้าใจและให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายก่อนจะวิพากษ์วิจารณ์หรือตำหนิใดๆ ด้วยอารมณ์ขุ่นเคือง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ