ข่าว

อ่านความคิด'แสงธรรม'คนคุม'กระบอกเสียงกปปส.'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

อ่านความคิด'แสงธรรม'ลูก'กบฏรธน.' คนคุม'กระบอกเสียง กปปส.' ขอจุดตะเกียงกลางดงม็อบ : หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณรายงาน

               หนังสือพิมพ์ “ราชดำเนินรายวัน” จงใจเกิดขึ้นในวันแรกหลังผ่านปรากฏการณ์ “ปิดกรุงเทพฯ” 22 ธันวาคม ของ “มวลมหาประชาชน” นำโดย “สุเทพ เทือกสุบรรณ” เลขาธิการคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) เพื่อแสดงพลังกดดันให้เกิดการปฏิรูปการเมืองก่อนการเลือกตั้ง

               นั่นทำให้ “ภารกิจแรก” ของสื่อน้องใหม่ คือการบันทึกประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของการเมืองไทยเริ่มต้นขึ้น

               ภาพเวทีใหญ่-ย่อยรวม 18 จุดถูกฉายซ้ำ คำพูดแกนนำคนสำคัญถูกรวบรวม เรียบเรียง แล้วตีพิมพ์ออกมาในรูปแบบหนังสือพิมพ์ 4 สี 4 หน้า หมายเป็น “หลักฐานอ้างอิงทางประวัติศาสตร์” รวมถึงให้ “ผู้ร่วมขบวนการ” ได้เก็บไว้เป็นที่ระลึกในวันข้างหน้า

               ทว่า "ภารกิจหลัก” คือการสื่อสารทางตรงกับผู้ชุมนุมตามสโลแกน “โค่นระบอบทักษิณ ปฏิรูปประเทศไทย เพื่อประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” จึงปรากฏชื่อ “เอกนัฏ พร้อมพันธุ์” โฆษก กปปส. เป็นผู้อำนวยการผลิต และปรากฏข้อเขียนของ “แสงธรรม ชุนชฎาธาร” ในฐานะบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ราชดำเนินรายวัน

               ปัจจุบัน แสงธรรม เป็นบรรณาธิการวารสารเดโมเครซี่ (DemoCrazy) ผู้ดำเนินรายการทางสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี และยังเป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนสาธิตมัฆวานแห่งมหาวิทยาลัยราชดำเนิน ในระหว่างการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเมื่อปี 2551

               แสงธรรม เล่าว่า มีโอกาสตั้งวงคุยกับแกนนำ กปปส.ไม่กี่วันก่อนถึงวัน ว. เวลา น. เป่านกหวีดเรียกมวลชนครั้งล่าสุด เพราะมองว่าความสำเร็จในการต่อสู้ของขบวนการนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ส่วนหนึ่งมาจากการมีปากกาเป็นอาวุธ แม้ขณะนี้ “สงครามข้อมูลข่าวสาร” จะย้ายสมรภูมิไปรบกันที่หน้าจอ โดยอาศัยแป้นคีย์บอร์ดเป็นอาวุธหลัก แต่หนุ่มวัย 31 ปี ยังเห็นว่า กระดาษคงมีความคลาสสิกเสมอ

               “เราคุยกันว่า น่าจะออกหนังสือพิมพ์สักฉบับ เพราะการถ่ายทอดสดทางทีวีมาแล้วก็หายไป ไหนๆ ทาง กปปส.จะนัดชุมนุมใหญ่ในวันที่ 22 ธันวาคม อยู่แล้ว ก็น่าจะเอาเสียเลย เพื่อจะได้บันทึกประวัติศาสตร์” แสงธรรมกล่าว

               เมื่อ “หลักใหญ่” ที่จะใช้สื่อสารบรรลุความตกลง แสงธรรม จึงลงมือจัดทำรายละเอียด-ยกร่างเลย์เอาท์หนังสือพิมพ์เสนอต่อโฆษก กปปส. ก่อนประเดิมตีพิมพ์ฉบับปฐมฤกษ์ในวันที่ 23 ธันวาคม

               “จริงๆ เราคิดกันหลายชื่อนะ กว่าจะสรุปให้ใช้ชื่อนี้ โดยมี 2 ชื่อที่เข้ารอบสุดท้าย ชื่อแรกคือ “นกหวีดรายวัน” เพราะเห็นว่านกหวีดคือสัญลักษณ์ที่สำคัญในการแสดงออกเพื่อต่อสู้และต่อต้านรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่ก็คิดกันว่ามันฟังดูไม่ขลังหรือเปล่า ที่สุดแล้วจึงเลือกชื่อ “ราชดำเนินรายวัน” เพราะเป็นชื่อถนนประวัติศาสตร์แห่งการต่อสู้ และเวทีหลักของ กปปส.ก็อยู่ตรงนี้” เขาเผยเบื้องหลัง

               หนังสือพิมพ์ที่มี 4 หน้า ถูกผลิตโดยกอง บก. ซึ่งมีสมาชิกเพียง 5-6 คน โดยทุกคนล้วนเป็นอาสาสมัคร มีหน้าที่การงานประจำให้รับผิดชอบอยู่แล้ว เป็นผลให้หนังสือพิมพ์เล่มแรกๆ ของพวกเขาต้องอาศัยความเอื้อเฟื้อภาพข่าวจากเครือข่ายสื่อที่รู้จัก และใช้ข้อมูลจากทีมโฆษก กปปส.เป็นหลัก ร่วมกับการมอนิเตอร์ข่าวสารตามเว็บไซต์และดูบลูสกายทีวีในระหว่างวัน ก่อนที่ แสงธรรม จะเรียกประชุมทีมงานช่วงหัวค่ำ เพื่อคัดเลือก 3-4 ประเด็นที่จะปรากฏบนหน้า 1 ของหนังสือพิมพ์

               เมื่อให้นิยามคำว่า “สื่อมวลชน” ในทัศนะของ บก.ราชดำเนินรายวัน เขาคิดพักหนึ่งก่อนตอบว่า คือคนที่ทำหน้าที่สื่อสารข้อเท็จจริงไปสู่คนหมู่มาก และแสดงความคิดเห็นของตนด้วยความสุจริตใจ หน้าที่สื่อ ณ ปัจจุบันคงไม่ใช่แค่ให้ข้อมูลข่าวสาร แต่ต้องกลั่นกรองสิ่งที่เป็นประโยชน์โดยไม่บิดเบือน และกล้าชี้ถูกชี้ผิดให้สังคมได้

               “แต่ก่อนสื่ออาจเป็นเหมือนกระจกสะท้อนปรากฏการณ์ความเป็นไปของสังคม แต่เดี๋ยวนี้ต้องเป็นตะเกียงด้วย เพราะถ้าเราอยู่ในความมืด ต่อให้มีกระจกก็ไม่อาจเห็นสิ่งที่ส่องได้ แม้กระทั่งหน้าตัวเอง นี่คือคำพูดของคุณสนธิ ลิ้มทองกุล (เจ้าของหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ และอดีตแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ) ซึ่งผมคิดว่าใช่เลย” เขากล่าว

               ส่วนคำครหาที่ว่า “สื่อในกำกับ กปปส. ไม่ต่างจาก กระบอกเสียงม็อบ” หรือเป็นเพียง “สื่อเทียม” เสี้ยมมวลชนเกิดแรงฮึกเหิมนั้น เขาไม่รู้สึกยี่หระ ด้วยเหตุผล “ชื่อมันก็บอกอยู่แล้วว่าราชดำเนินรายวัน (หัวเราะ) แต่ที่แน่ๆ เราไม่ได้ทำหน้าที่เพื่อตอบโจทย์ของนายทุน แต่เราทำเพราะเราเป็นคนส่วนหนึ่งที่เห็นด้วยและสนับสนุนแนวทางการต่อสู้ของมวลมหาประชาชน และพร้อมรับผิดชอบต่อทุกสิ่งที่นำเสนอ”

               เขายอมกระทั่งตกเป็น “จำเลยร่วม” เพราะรู้แก่ใจว่า การช่วงชิงอำนาจระหว่าง “2 ขั้วความคิด” ที่เกิดขึ้นและยังดำรงอยู่ ยากจะคาดเดาจุดยุติ

               “ในเมื่อมันคือการต่อสู้ที่เป็นไปตามอุดมการณ์ของเรา และเราบริสุทธิ์ใจในการแสดงความคิดเห็น ก็ต้องยอมรับผลที่จะเกิดขึ้น ตอนนี้ผมก็มีอยู่ 5 คดีแล้ว ซึ่งได้จากสมัยไปร่วมต่อสู้กับกลุ่มพันธมิตรฯ” เขากล่าว

               การเปิดชื่อ-ประกาศตนเป็น “แนวรบ กปปส.” ของ แสงธรรม ในวันนี้ ไม่แน่ว่าเป็นเพราะเขาได้รับอิทธิพลทางความคิดจาก บิดา-มารดา อย่าง “ธัญญา ชุนชฎาธาร” อดีตผู้นำนักศึกษา ซึ่งเป็น 1 ใน 13 กบฏรัฐธรรมนูญในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 กับ “มาลีรัตน์ แก้วก่า” อดีต ส.ว.สกลนคร ผู้เคยร่วมขบวนการนักศึกษา 6 ตุลาคม 2519 หรือไม่

               แต่บทสนทนาระหว่าง “3 นักเคลื่อนไหว” ที่เกิดขึ้นในบ้านพวกเขาในช่วงนี้ หนีไม่พ้นประเด็น “มวลมหาประชาชน” ซึ่ง แสงธรรม บอกว่า พ่อกับแม่เห็นตรงกันว่า การชุมนุม กปปส.ยิ่งใหญ่ที่สุดทางประวัติศาสตร์ในแง่ของจำนวน และความบริสุทธิ์

               “พ่อไม่ค่อยเล่าให้ฟังนะว่าท่านต่อสู้อะไรอย่างไรในเหตุการณ์ 14 ตุลา แต่จะพาไปดูนิทรรศการเวลาครบรอบเหตุการณ์ ผมก็ไปหาข้อมูลเอง หาอ่านเอง และคิดมาโดยตลอดว่า 14 ตุลา มันยิ่งใหญ่มาก ก็เฝ้าฝันว่า เมื่อไรจะเป็นคนรุ่นเรานะที่มีโอกาสบันทึกประวัติศาสตร์แบบนั้น” แสงธรรมบอก

               ดังนั้นเมื่อวัน-เวลาแห่งการรอคอยมาถึง “คนหนุ่ม” จึงไม่ลังเลจะโดดเข้าร่วมขบวนการมวลมหาประชาชน

               40 ปีก่อน ธัญญา ถูกจารึกชื่อในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย ในฐานะ “กบฏรัฐธรรมนูญ”

               มาถึงปี พ.ศ.นี้ แสงธรรม ไม่ต้องการได้รับการจารึกแบบเดียวกับพ่อของเขา ไม่ต้องการติดคุกตลอดชีวิต เขาพึงพอใจเพียงบันทึกเล็กๆ ในฐานะ “นักต่อสู้คนหนึ่ง”!!!


----------------------

(หมายเหตุ : อ่านความคิด'แสงธรรม'ลูก'กบฏรธน.' คนคุม'กระบอกเสียง กปปส.' ขอจุดตะเกียงกลางดงม็อบ : หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณรายงาน)

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ