บันเทิง

เมืองไทย ทำไมต้องมีอารยสถาปัตย์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เมืองไทย ทำไมต้องมีอารยสถาปัตย์ : คอลัมน์กฤษนะทัวร์ยกล้อ

               มีคำถามว่า “อารยสถาปัตย์” นั้น สำคัญไฉน  ทำไมเมืองไทย จำเป็นต้องมี “อารยสถาปัตย์”

               ผมก็ขอตอบได้เลยครับว่า “อารยสถาปัตย์” นั้น สำคัญ และจำเป็นมากต่อเมืองไทย และทุกประเทศทั่วโลก ทั้งในปัจจุบัน และอนาคต

               เหตุเพราะ..ปัญหาใหญ่ของคนพิการทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศที่กำลังพัฒนา และด้อยพัฒนา  คือ การขาดสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ในการดำเนินชีวิตประจำวัน ส่งผลให้คนพิการไม่สามารถเข้าถึง และใช้ประโยชน์ในบริการสาธารณะต่างๆ ในสังคมได้  ก่อให้เกิดปัญหาสภาพแวดล้อมที่พิกลพิการ  อันเนื่องมาจากความไม่รู้ และไม่เข้าใจในหลักการออกแบบที่เป็น “อารยสถาปัตย์” หรือ Universal Design ซึ่งมีหัวใจสำคัญอยู่ที่ความ “สะดวก ปลอดภัย เป็นธรรม ทั่วถึง และเท่าเทียม” 

               การออกแบบที่ก่อให้เกิดความไม่สะดวก ไม่ปลอดภัย ไม่เป็นธรรม ไม่ทั่วถึง และไม่เท่าเทียม ในสถานที่ต่างๆ ซึ่งมีให้เห็นอยู่ทั่วไปทั้งในอดีต และปัจจุบันนั้น นอกจากจะเป็นการละเมิด และลิดรอนสิทธิผู้พิการ ตำรวจทหารผ่านศึก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยพักฟื้นหรือผู้ที่มีสุขภาพไม่สมบูรณ์แข็งแรง (รวมถึงสตรีมีครรภ์ และเด็กเล็กที่ยังต้องใช้รถเข็นเด็กด้วย) อันเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลซึ่งขัดต่อทั้งกฎบัตรสหประชาชาติ และกฎหมายรัฐธรรมนูญของไทยเองแล้ว ยังเป็นการทำลายภาพลักษณ์ที่ดีของชาติในฐานะเมืองท่องเที่ยวชั้นนำของโลกอีกด้วย

               แต่ด้วยความเจริญ และการพัฒนา ตลอดจนความเปลี่ยนแปลงของโลกในด้านต่างๆ ที่มีมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน  ยิ่งทำให้เราตระหนักว่า “อารยสถาปัตย์” เป็นสิ่งสำคัญจำเป็นของโลกยุคปัจจุบัน และอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และถึงแม้ว่าเราจะยังไม่ทำในวันนี้  แต่วันข้างหน้า เราก็ต้องทำอยู่ดี ด้วยเหตุผล 5 ประการ  ดังต่อไปนี้

               (1) ผู้สูงอายุกำลังจะล้นโลก   ปัจจุบัน หลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยกำลังเดินไปสู่ความเป็นสังคมผู้สูงอายุ มนุษย์จะมีอายุยืนยาวขึ้นและต้องการสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่จะก่อให้เกิดความสะดวก และปลอดภัยในการดำเนินชีวิตประจำวันมากขึ้น  ข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติ (UN) ระบุว่า ปัจจุบัน ประชากรโลกมีจำนวนกว่า 7,000 ล้านคน มีผู้สูงอายุที่อายุเกิน 60 ปีขึ้นไป จำนวน  893 ล้านคน หรือคิดเป็น 12.8% ในจำนวนนี้ มีผู้ที่มีอายุเกิน 100 ปี มากถึง 340,000 คน  และมีแนวโน้มว่า ประชากรผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นอีกราว 200 ล้านคน ภายในอีก 10 ปีข้างหน้า หมายความว่า ภายในปี พ.ศ.565 จำนวนประชากรผู้สูงอายุทั่วโลกจะมีมากกว่า 1,000 ล้านคน

               (2)  ประชากรโลกจะมีผู้พิการมากขึ้น แปลกแต่จริง คนพิการ หรือคนที่จำเป็นต้องใช้สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ในโลกยุคปัจจุบัน และอนาคตจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น เพราะความพิการส่วนใหญ่ไม่ได้มาจากพิการโดยกำเนิดแล้ว แต่เป็นความพิการที่มาจากความเจ็บไข้ได้ป่วย และอุบัติเหตุ  รวมถึงความพิการที่มาจากสภาพความแก่ชรา

               (3)  กฎหมายบังคับให้ทำในปัจจุบัน ประเทศที่เจริญแล้วทั่วโลก เช่น  ญี่ปุ่น  อเมริกา  อังกฤษ เยอรมนี ฯลฯ มีการออกกฎหมายบังคับให้สถานที่สาธารณะ และตึกอาคารต่างๆ จะต้องจัดทำสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อคนทั้งมวล อย่างไรก็ตาม ประเทศไทย ในช่วง 15 ปีมานี้ ก็ได้มีกฎหมายหลายฉบับออกมามีผลบังคับใช้ ทั้งกฎหมายรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2540 ถึงฉบับปัจจุบัน  กฎหมายส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ  กฎกระทรวงมหาดไทย ปี 2548 และกฎกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ปี 2556 เป็นต้น  ซึ่งมีผลบังคับใช้ให้การออกแบบสร้างทำตึกอาคาร และสถานที่สาธารณะทุกแห่ง จะต้องมีอารยสถาปัตย์ คือ ต้องจัดทำสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ สำหรับผู้พิการ และผู้สูงอายุด้วยแล้วเช่นกัน

               (4)  กติกาโลก ปฏิเสธไม่ได้ว่า เรื่องอารยสถาปัตย์ หรือ Universal Design เป็นภาษาสากล และกติกาสากลของโลกยุคปัจจุบัน และอนาคต  ดังจะเห็นได้ว่าในทุกประเทศที่เจริญแล้วพัฒนาแล้ว แม้แต่ในบางประเทศที่กำลังพัฒนา ก็จะต้องมีสิ่งเหล่านี้ ด้วยเหตุนี้ “อารยสถาปัตย์” จึงเป็นเสมือนดัชนีชี้วัดความเจริญรุ่งเรืองของประเทศต่างๆ ในโลกยุคปัจจุบันได้อีกทางหนึ่ง  ยิ่งตอนนี้ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ความเป็นประชาคมอาเซียนในอีก 2 ปีข้างหน้า เรายิ่งต้องตระหนักถึงเรื่องนี้ให้มาก เพราะถ้ายังไม่มีอารยสถาปัตย์ในการปรับปรุง และพัฒนาบ้านเมือง เราก็จะไม่เป็นที่ยอมรับในเวทีโลก เพราะนั่นเท่ากับว่าเราไม่ดูแลไม่ใส่ใจผู้สูงอายุ ผู้พิการ รวมถึงผู้ป่วยพักฟื้น ยังมีการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ซึ่งอาจทำให้เราถูกมองว่าเป็นกลุ่มประเทศที่ยังล้าหลังป่าเถื่อน

               (5)  หลักแท้แก่นธรรมในพระพุทธศาสนา  องค์สัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสว่า เกิดแก่เจ็บตาย เป็นของธรรมดา ไม่มีใครล่วงพ้นไปได้ ไม่ว่าจะอยู่ชนชั้นวรรณะใด จะยากดีมีจน หรือสูงต่ำดำขาว  ดังนั้น การออกแบบบ้านเมืองให้มีอารยสถาปัตย์ จึงแสดงถึงความไม่ประมาทในการดำเนินชีวิต และเป็นการออกแบบที่จะเป็นประโยชน์ต่อคนทุกคนโดยแท้จริง เพราะวันหนึ่ง เราเองนั่นแหละที่อาจต้องพึ่งพาอารยสถาปัตย์ ต้องใช้สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ  เพราะวันหนึ่ง เราอาจต้องเจ็บไข้ได้ป่วย  เราอาจต้องแก่ชรา  เราอาจมีปัญหาเรื่องสุขภาพ หรือไม่ก็อาจต้องมีครอบครัว มีภรรยาที่ตั้งครรภ์  มีลูกเล็กให้ต้องเลี้ยงดู หรือมีภาระหน้าที่ต้องดูแลพ่อแก่แม่เฒ่าผู้มีพระคุณ 

               ดังนั้น  จึงเป็นเรื่องที่ “ถึงกาลถึงเวลา” แล้ว ที่ทุกคน ทุกองค์กร ทุกหน่วยงาน ทั้งของภาครัฐ และเอกชน ตลอดจนหมู่บ้าน และชุมชนต่างๆ ทั่วไทย และในประชาคมอาเซียนนับจากนี้ไป จะต้องมาช่วยกันทำ “อารยสถาปัตย์” ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน  เพื่อช่วยกันทำให้ทุกตึกทุกอาคาร ทุกบริการสาธารณะ  ทุกแหล่งท่องเที่ยว และในทุกสถานที่สาธารณะที่มีคนจำนวนมากเข้าไปใช้ประโยชน์ ต้องมีการออกแบบที่เป็นธรรม+ทั่วถึง+เท่าเทียม  เพื่อก่อให้เกิดความสะดวก ปลอดภัย เข้าถึงได้ ใช้งานง่าย ด้วยหลักการออกแบบที่เป็น “อารยสถาปัตย์” ซึ่งจะช่วยทำให้บ้านเมืองของเราเป็นสถานที่ที่คนทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัย ทุกสภาพร่างกายในสังคม สามารถ “เข้าถึง” และ “ใช้ประโยชน์ได้” ตรงตามกฎหมาย และกติกาโลกยุคปัจจุบัน และอนาคต

               “อารยสถาปัตย์” ยังเป็นการแสดงความพร้อมของประเทศไทยในการก้าวไปสู่ประชาคมอาเซียนในอีก 2 ปีข้างหน้า และจะเป็นการตอกย้ำถึงภาพลักษณ์ประเทศไทยในความเป็น “เมืองอารยประเทศ” เป็น “สยามเมืองยิ้ม”เป็น “เมืองท่องเที่ยวชั้นนำ” เป็น “เมืองน่าอยู่น่ามาเยือน”และน่ามาลงทุนทำธุรกิจต่างๆ  ด้วยเพราะเป็นเมืองที่มีการออกแบบที่ก่อให้เกิดความสะดวก  ปลอดภัย และเป็นมิตรกับคนทั้งมวลโดยแท้จริงครับ

 .........................

(เมืองไทย ทำไมต้องมีอารยสถาปัตย์ :  คอลัมน์กฤษนะทัวร์ยกล้อ)

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ