Lifestyle

สพฐ.อ้างผลวิจัยตกซ้ำชั้นมีผลเสียไม่ช่วยให้เด็กเรียนดีขึ้น-แถมก่อปัญหาอีกอื้อ!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สพฐ.อ้างผลวิจัยให้นักเรียนตกซ้ำชั้นของต่างชาติ มีผลร้ายไม่ช่วยให้เด็กเรียนดีขึ้น แถมเด็กออกกลางคันก่อปัญหาอีกอื้อ เตรียมทำวิจัยเด็ก 500 คน ก่อนเสนอบอร์ด กพฐ.

 นางศุจีภรณ์ อู่ทองทรัพย์ หัวหน้ากลุ่มพัฒนาและส่งเสริมการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ สำนักงานวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เปิดเผยว่า งานวิจัยของยูเนสโกศึกษาผลของการให้นักเรียนซ้ำชั้น หรือ Grade repetition เขียนโดยนาย Jere Brophy ซึ่งได้รวบรวมข้อมูลจากทุกทวีป พบว่า การให้เด็กที่เรียนอ่อนซ้ำชั้นนั้นไม่ช่วยให้เด็กเรียนดีขึ้นในระยะยาว เพราะเด็กยังเรียนอ่อนเช่นเดิม สาเหตุแท้จริงที่ทำให้เด็กเรียนอ่อนยังไม่ได้รับการแก้ไขให้ถูกจุด

 นางศุจีภรณ์  กล่าวต่อว่า ที่สำคัญการให้เด็กซ้ำชั้นมีผลกระทบต่อพฤติกรรม อารมณ์และความสัมพันธ์ทางสังคมของเด็ก เด็กรู้สึกว่าเป็นการลงโทษเขาและเป็นตราบาปทางสังคม ทำให้เครียด หมดความนับถือในตัวเอง ลดความสัมพันธ์กับเพื่อน เกิดปัญหาพฤติกรรม ที่สุดเด็กจะตัดสินใจลาออกจากโรงเรียนไปเรียนที่อื่น หรือเด็กบางรายก็เลิกเรียนกลางคันเพราะรู้สึกตัวเองไม่มีคุณค่าในตัวเอง สพฐ.เคยได้รับรายงานเด็กลาออกไปเรียนโรงเรียนเอกชนเพื่อหนีการซ้ำชั้น และเด็กบางรายออกกลางคัน ทางสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาต้องตามตัวเด็กกลับมาเรียนกศน.แทน

 “ผลวิจัยชี้ชัดว่า การเรียนซ้ำชั้นไม่ดีต่อเด็ก แต่การให้เด็กเรียนอ่อนเลื่อนชั้นได้ โดยมีครูช่วยสอนซ่อมเสริมให้ ทำให้เด็กพัฒนาผลการเรียนได้ดีกว่าการให้เด็กเรียนซ้ำชั้น ถ้าโรงเรียนจัดระบบดูแลแก้ไขผลการเรียนของนักเรียนที่มีประสิทธิภาพ มีการสอนเสริมให้เด็กที่เรียนอ่อน และจริงจังการกับประเมินผลเด็กเพื่อนำผลประเมินมาพัฒนานักเรียนแล้ว จะเป็นที่ดีที่ช่วยให้เด็กพัฒนาการเรียนได้ดีขึ้นอย่างแท้จริง เฉพาะกรณีที่เด็กขาดเรียนนานเพราะป่วยเท่านั้น ที่ควรจะให้เด็กเรียนซ้ำชั้น“ นางศุจีภรณ์

 ด้านคุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า แม้จะมีผลวิจัยต่างประเทศออกมาเช่นนี้ แต่ไม่ได้หมายความว่า สพฐ.จะปล่อยใหเด็กเลื่อนชั้นโดยอัตโนมัติ นโยบายให้เด็กตกซ้ำชั้นได้ยังคงอยู่ แต่สพฐ.เพียงต้องการสื่อสารให้เข้าใจว่า การแก้ปัญหาเด็กเรียนอ่อนนั้น ไม่ควรคิดแค่ให้นักเรียนซ้ำชั้น ซึ่งสพฐ.จะศึกษาวิจัยผลที่เกิดกับเด็กซ้ำชั้น ประมาณ 500 คนทั่วประเทศ ก่อนสรุปเสนอคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.)

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ