ข่าว

ระวัง'ขน-น้ำลาย'สัตว์เลี้ยง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

'คนป่วย เด็ก คนชรา'ระวัง'ขน-น้ำลาย'สัตว์เลี้ยง : ทีมข่าวรายงานพิเศษ


              แม้ว่า "เจ้าคุณไกร" จะอาพาธด้วยอาการป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดระยะที่ 4 และนอนพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ แต่เมื่อเกิดปริศนามีขนหมาปรากฏอยู่ในฟิล์มเอกซเรย์ปอด?!! ร้อนถึงผู้เชี่ยวชาญในแวดวง ทั้งคุณหมอและสัตวแพทย์ต้องออกมาให้ความกระจ่าง

              ย้อนไปเมื่อวันที่ 7 เมษายน ที่ผ่านมา "เจ้าคุณไกร" หรือ พระนิภากรโสภณ เจ้าอาวาสวัดหนองกลับ จ.นครสวรรค์ ถูกส่งตัวเข้ารักษายังโรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ ในฐานะคนไข้ในพระราชานุเคราะห์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อาพาธหนักถึงขั้นหัวใจหยุดเต้น แต่คณะแพทย์ช่วยรักษาจนหัวใจกลับมาเต้นอีกครั้ง

              หลังจากสื่อมวลชนหลายสำนักเผยแพร่ข่าวตรวจพบขนสุนัขในฟิล์มเอกซเรย์ออกไป สร้างความหวาดผวาให้แก่กลุ่มคนเลี้ยงสุนัขและแมวว่า หากตัวเองนำสัตว์เลี้ยงสุดที่รักมานอนด้วยบนเตียงทุกวัน จะสูดดมเศษขนสัตว์เข้าไปในร่างกายจนเกาะติดอยู่ที่ระบบทางเดินหายใจหรืออวัยวะบางอย่าง เช่น ปอด เหมือนกรณีผู้ป่วยข้างต้นหรือไม่?

              ยิ่งไปกว่านั้น...สัตว์ตัวจิ๋วที่ชอบดูดเลือดหมาแมวอย่าง "หมัด" และ "เห็บ" จะแอบไต่เข้าไปซอกหู รูจมูก จนสร้างรังออกไข่ออกลูกหลานอยู่ในร่างกาย แต่เราไม่รู้ตัวหรือเปล่า?

              นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญระบบทางเดินหายใจ หัวหน้าแผนกผู้ป่วยวิกฤติ (ไอซียู) รพ.วิชัยยุทธ ให้ข้อมูลว่า ที่ผ่านมายังไม่เคยพบผู้ป่วยมีขนสัตว์เกาะติดปอดมาก่อน เนื่องจากร่างกายมนุษย์ตามปกติแล้วมีกลไกป้องกันสิ่งแปลกปลอมไม่ให้เข้าไปได้ง่ายๆ เช่น ถ้าสูดดมขนสัตว์เข้าไปจะมีอาการจามหรือไอแรงๆ ออกมา และในรูจมูกมีเส้นขนเพื่อกรองอีกชั้นหนึ่ง กรณีของเจ้าคุณไกรนั้น อาจเป็นไปได้ว่า ร่างกายป่วยหนักจนระบบหายใจเข้าและหายใจออกไม่ทำงาน ทำให้สูดดมขนสัตว์เข้าไปแล้วร่างกายอ่อนแออยู่ในขั้นที่ภูมิคุ้มกันไม่ทำงานแล้ว เมื่อมีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปกลไกป้องกันอัตโนมัติไม่สามารถกำจัดหรือขจัดออกมาได้

              ส่วนกรณีเห็บหรือหมัดหรือแมลงตัวเล็กๆ นั้น โดยปกติแล้วอุณหภูมิของร่างกายจะไม่ทำให้สัตว์เหล่านี้เจริญเติบโตได้ และไม่สามารถเข้าไปถึงอวัยวะชั้นใน เกาะติดอยู่ได้เพียงแค่ตามโพรงจมูกหรือหูชั้นนอกเท่านั้น แพทย์สามารถใช้อุปกรณ์แคะออกมาได้  "อยากเตือนให้ระมัดระวังการใกล้ชิดกับสัตว์เลี้ยงมากเกินไป โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีอาการหนัก หรือเป็นโรคระบบทางเดินหายใจ เป็นหอบหืด ภูมิต้านทานร่างกายจะอ่อนแอ ที่สำคัญคือน้ำลายของสัตว์ เพราะมีเชื้อโรคไวรัส แบคทีเรียจำนวนมากก่อให้เกิดโรคหลายอย่างในคน แม้ว่าจะไม่มีอันตรายในสัตว์ก็ตาม" นพ.มนูญกล่าว

              ด้าน นสพ.ปานเทพ รัตนากร คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายเพิ่มเติมว่า การเลี้ยงสัตว์อย่างใกล้ชิดไม่ว่าจะเป็นสุนัขหรือแมวนั้น เจ้าของต้องดูแลทำความสะอาดสัตว์เลี้ยงอย่างสม่ำเสมอ เพราะในตัวสัตว์เหล่านี้จะมีเชื้อโรคและพยาธิชนิดต่างๆ อยู่จำนวนมาก สามารถทำให้เจ้าของป่วยได้ และกลุ่มที่ไม่ควรเลี้ยงแบบกินนอนด้วยกันคือ กลุ่มคนที่มีภูมิต้านต่ำ เช่น เด็กเล็ก คนชรา คนป่วย หรือผู้ที่ต้องกินยาเพื่อกดภูมิคุ้มกันในร่างกาย เนื่องจากน้ำลายซึ่งเป็นแหล่งเชื้อโรคของสัตว์เลี้ยงเหล่านี้จะแพร่กระจายอยู่ในละอองอากาศ เมื่อสูดดมเข้าไปทำให้เกิดอาการป่วยโรคต่างๆ ได้

              "แต่จากเนื้อข่าวที่ว่ามีเห็บเข้าไปเกาะดูดเลือดอยู่ใต้ผิวหนัง หรือปล่อยไข่ออกไปกับน้ำลายตอนที่กัดดูดเลือดผู้ป่วยนั้น ไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะสัตว์ชนิดนี้ไม่ได้ออกไข่ทางปาก และถ้ามีจริงก็อยู่แค่บริเวณผิวหนังด้านบนไม่ใช่อยู่ใต้ผิวหนัง ไม่อยากให้ตื่นตระหนกเกินไป ส่วนขนสัตว์ก็ไม่น่าจะสูดดมเข้าไปจนเกาะติดในปอดได้ สิ่งที่ควรระมัดระวังมากกว่าคือ น้ำลายของหมาหรือแมว เพราะมันชอบเลียที่ขนหรือผิวหนัง พอน้ำลายแห้งจะเกาะติดเป็นคราบที่ขนกลายเป็นสะเก็ดปลิวออกไปในอากาศ หากคนเลี้ยงสูดหายใจเข้าไป เชื้อโรคที่อาศัยอยู่ในโปรตีนน้ำลายของสัตว์เหล่านี้จะเข้าไปเพาะเชื้อในร่างกายคน ถ้าจะเลี้ยงให้นอนด้วยกัน ก็ต้องหมั่นอาบน้ำและดูแลสุขภาพหมาแมวให้ดี" นสพ.ปานเทพกล่าวเตือน

              ทั้งนี้ ผลสำรวจจาก "วิทยาลัยโรคภูมิแพ้-หอบหืด-ภูมิคุ้มกันวิทยาแห่งอเมริกา" (American College of Allergy, Asthma and immunology) ระบุว่า คนมีอาการแพ้สัตว์เลี้ยงประมาณร้อยละ 10 โดยแพ้แมวมากเป็น 2 เท่าของสุนัข โดยเด็กอายุ 6-19 ปี จำนวน 1 ใน 7 ที่แพ้แมว


.................

(หมายเหตุ : 'คนป่วย เด็ก คนชรา'ระวัง'ขน-น้ำลาย'สัตว์เลี้ยง : ทีมข่าวรายงานพิเศษ)

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ