คอลัมนิสต์

ความสูญเสียจากภัยพิบัติ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ความสูญเสียจากภัยพิบัติ : บทบรรณาธิการประจำวันที่ 19 ธ.ค.2555

               หลายปีที่ผ่านมาประเทศไทยติดหล่มอยู่กับปัญหาทางการเมือง ความขัดแย้งทางความคิด การแบ่งพรรคแบ่งพวก รุนแรงไปถึงขนาดจะเข่นฆ่ากันโดยใช้กฎหมายเล่นงานฝ่ายตรงข้ามให้เพลี่ยงพล้ำทางการเมือง กระบวนการยุติธรรมเกิดการบิดเบี้ยว จนทำให้เกิดความคลอนแคลนด้านความเชื่อมั่นต่อกฎหมายไทย ต่อเจ้าหน้าที่รัฐ และมีส่วนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐในระยะยาว การพัฒนาประเทศต้องสะดุดล่าช้า ไม่ว่าโครงสร้างพื้นฐานทั้งด้านเทคโนโลยี การพัฒนาด้านการศึกษา การขยายตัวของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม การเชื่อมโยงเครือข่ายการสื่อสาร การลงทุน ขยายฐานการผลิตต่างๆ ให้ก้าวไปได้ไม่ดีพอเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านหรือในภูมิภาคนี้

               ขณะเดียวกันปัญหาเกี่ยวกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ ก็ยังทวีความรุนแรงต่อเนื่อง นโยบายรัฐบาลในการดูแลป้องกันยังไม่เห็นเป็นรูปธรรมและชัดเจนพอ ยิ่งน่าวิตกกังวลมากขึ้นหลังจากสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชนร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเสวนาในหัวข้อ "แลกเปลี่ยนเรียนรู้โครงการพัฒนานวัตกรรมการสร้างสรรค์การเรียนรู้ ในพื้นที่จังหวัดประสบอุทกภัย" โดยรายงานของคณะกรรมาธิการยุโรประบุแนวโน้มช่วง 15 ปี ที่ผ่านมาประเทศกำลังพัฒนาต้องเผชิญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติสูงกว่าประเทศพัฒนาแล้วถึง 3 เท่า สอดรับกับผลสรุปภัยพิบัติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั่วโลกประจำปี 2554 จากบริษัทประกันภัยทั่วโลกว่า ช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา (2523-2554) ประเทศไทยติดอันดับ 5 ของประเทศที่ได้รับความสูญเสียทางเศรษฐกิจมากที่สุดคิดเป็นเงินถึง 45,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และติดอันดับ 9 ของประเทศสูญเสียเงินประกันภัยพิบัติถึง 10,789 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากเหตุการณ์น้ำท่วมปี 2554

               แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยหลังเกิดเหตุสึนามิเมื่อปี 2547 และอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปีที่ผ่านมา ต้องสูญเสียทั้งเงินและชีวิตคนจำนวนมาก แม้รัฐบาลจะมีโครงการต่างๆ ตามมาเพื่อรับมือ แต่ปัจจุบันยังไม่มีการดำเนินการอย่างจริงจัง รวมถึงการสอดแทรกเรียนรู้ในกลุ่มเยาวชน ความจริงเรื่องภัยคุกคามโลกมีหลากหลายรูปแบบและนับวันจะมีข้อมูลใหม่ๆ เพิ่มขึ้นจากความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ หลายพื้นที่ในบ้านเราถูกคาดการณ์เป็นจุดเสี่ยงแผ่นดินไหว อุทกภัยหรือแม้แต่ภัยแล้ง ที่ประสบกันทุกปี เห็นได้ว่ารัฐบาลยังไม่มีแผนรองรับที่ดีพอ คนไทยเองก็ยังขาดการปลูกจิตสำนึกความร่วมมือของประชาชน ความเสียหายหลายส่วนมาจากความเห็นแก่ตัว ขาดจิตสำนึก ขาดระเบียบวินัย การปลูกฝังสิ่งเหล่านี้จึงจำเป็นในอนาคต ผู้บริหารประเทศต้องหันมามองภาคสังคมมากกว่าการเมือง เน้นนโยบายด้านนี้เป็นวาระสำคัญ ด้วยความรู้ทางวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญแขนงต่างๆ เรามีพร้อมแต่ขาดผู้นำที่จะหลอมรวมทั้งหมดเข้าด้วยกัน การที่เราติดอันดับต้นๆ ความสูญเสียจากภัยพิบัติ จะเป็นส่วนสำคัญต่อการตัดสินใจของนักธุรกิจ นักลงทุนทั่วโลก

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ