Lifestyle

หวั่น'พลับพลึงธาร'สูญพันธุ์จ่อคุ้มครอง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ระนองเตรียมประกาศแหล่งพบ 'พลับพลึงธาร' ให้เป็นพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม หลังพบถูกคุกคามอย่างหนัก-ทำลายระบบนิเวศ หวั่นใกล้สูญพันธุ์

                        26 ต.ค.55 นายวิโรจน์ แสงศิวะฤทธิ์ ปลัดจังหวัด รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง เปิดเผย ว่าทางจังหวัดระนองร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหน่วยประสานงานกลางอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพและอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ มีหน้าที่ในการดำเนินการตามพันธกรณีและวัตถุประสงค์ของอนุสัญญา ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญและสถานภาพที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติของพลับพลึงธาร

                        ประกอบกับมาตรา 43 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ระบุไว้ว่า ในกรณีที่ปรากฏว่าพื้นที่ใดมีลักษณะที่อาจถูกทำลาย หรือได้รับผลกระทบกระเทือนจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ได้โดยง่าย หรือเป็นพื้นที่ที่มีคุณค่าทางธรรมชาติหรือศิลปกรรมอันควรแก่การอนุรักษ์ และพื้นที่นั้นยังมิได้ถูกประกาศกำหนดให้เป็นเขตอนุรักษ์ ให้รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมีอำนาจออกกฏกระทรวงกำหนดให้พื้นที่นั้นเป็นเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม

                        ซึ่งล่าสุดทางสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เห็นสมควรกำหนดให้แหล่งที่พบ "พลับพลึงธาร" เป็นพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ขั้นตอนที่สำคัญในการประกาศเป็นเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมคือ กระบวนการสร้างความรู้ ความเข้าใจในขั้นตอน ความสำคัญ ผลดีและผลเสีย ของการเป็นพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม รวมทั้งให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณาของเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นขั้นตอนที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดระนองกำลังดำเนินการ ก่อนที่จะเสนอเพื่อให้มีการออกกฏกระทรวงในการประกาศให้แหล่งที่พบพลับพลึงธารเป็นพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมต่อไป

                        สำหรับ "พลับพลึงธาร" เป็นพืชน้ำเฉพาะถิ่นที่พบมากในพื้นที่ จ.ระนองและพังงา และพบว่าอยู่ในสถานะถูกคุกคามอย่างหนักและใกล้สูญพันธุ์ โดยแหล่งที่พบพลับพลึงธารปัจจุบันที่พบคือบริเวณลำคลองในเขตอำเภอกะเปอร์,อำเภอสุขสำราญ จ.ระนอง และ อ.คุระบุรี ,อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา แต่เนื่องจากพลับพลึงธารจะสามามารถเจริญเติบโตได้ในระบบนิเวศน์ที่มีลักษณะเฉพาะตัวเท่านั้น จึงทำให้จำนวนพลับพลึงธารได้ลดลงอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง โดยจากการสำรวจของสหภาพสากลเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ (IUCN) พบว่าจำนวนพลับพลึงธารลดลงจาก 10.73 ไร่ เหลือเพียง 3.41 ไร่ ภายในระยะเวลา 2 ปี โดยมีสาเหตุส่วนใหญ่มาจากการขุดหัวพลับพลึงธารเพื่อการส่งออกเป็นจำนวนมากและต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลานาน นอกจากนี้ยังมีปัจจัยจากการขยายตัวของพื้นที่อยู่อาศัยและเกษตรกรรม การสร้างสิ่งก่อสร้างที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่รับน้ำและกีดขวางทางไหลของน้ำ การทำลายระบบนิเวศน์ของแม่น้ำลำคลอง

                        นายวิโรจน์กล่าวต่อว่าพลับพลึงธาร เป็นพืชที่พบเฉพาะใน จ.ระนองตอนล่าง และ พังงาตอนบนเท่านั้น จะไม่พบที่ไหนแล้วในโลก ดังนั้นจึงควรที่จะมีการรักษาเอาไว้ให้เป็นมรดกทางธรรมชาติของชาติไทยและของโลก ถ้าหากว่าสูญพันธุ์ไปจากประเทศไทยแล้วก็หมายความว่าจะต้องสูญพันธุ์ไปจากโลกเช่นกัน สำหรับพลับพลึงธารที่ส่งผลดีต่อ จ.ระนองปัจจุบันทาง จ.ระนองได้จัดเทศกาลล่องแพแลพลับพลึงธารทุกๆ ปี สามารถทำรายได้ให้กับชุมชนได้เป็นจำนวนมาก

                        นอกจากนี้พลับพลึงธารยังเป็นแหล่งศึกษาวิจัยหาความรู้ต่างๆ ของหน่วยงานภาครัฐ นักศึกษาเป็นจำนวนมาก

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ