ข่าว

ทุ่มพันล.พัฒนาระบบรางเชื่อมอาเซียน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ผอ.สนข. เผยกรอบแผนการลงทุน 8 ปี มูลค่ากว่า 1.9 ล้านล้านบาท ทุ่ม 1,164 ล้านบาท พัฒนาระบบรางเชื่อมต่อในประเทศ-อาเซียน ฟุ้งลดต้นทุนการขนส่งได้กว่า 52,843 ล้านบาทต่อปี

          24 ก.ย. 55  ดร.จุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม บรรยายหัวข้อการจัดทำแผนลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบคมนาคมขนส่ง พ..ศ.2556-2563 ในโครงการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้และร่วมรับฟังความคิดเห็นของสาธารณชนต่อแผนการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบคมนาคมขนส่ง พ.ศ.2556-2563 ที่หอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ว่า ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมางบรายจ่ายประเทศเพิ่มขึ้นกว่า 1 ล้านล้านบาท โดยปี 2555 งบรายจ่ายประเทศ 2.3 ล้านล้านบาท เปรียบเทียบกับปี 2545 งบประมาณรายจ่าย 1 ล้านล้านบาท ขณะที่งบที่ใช้ลงทุนปีนี้อยู่ที่ 2.6 แสนล้านบาท แต่เปรียบเทียบกับปี 2545 ใช้งบลงทุน 1.6 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นเพียง 1 แสนล้านบาทเท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยมาก 

          ทั้งนี้ จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดการใช้เงินใหม่ ซึ่งรัฐบาลเองก็มีแนวคิดในการแก้ไขปัญหาและจะต้องให้แล้วเสร็จในปี 2563 ตามวิสัยทัศน์ของอาเซียน โดยแบ่งการลงทุนเป็น 5 ประเภท คือ 1. การลงทุนส่วนราชการ 2. การลงทุนรัฐวิสาหกิจ 3. การกู้เงิน 4. การลงทุนร่วมภาครัฐและเอกชน และ 5. ใช้กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน ระดมเงินจากตลาดทุน เช่น นำโครงการมอเตอร์เวย์เป็นหลักประกันในการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์

          โดยแผน 8 ปี กระทรวงคมนาคมจะต้องใช้งบประมาณกว่า 1.9 ล้านล้านบาท หรือ 80% ของวงเงินในหน้าตักของรัฐบาล โดยจะจัดสรรในส่วนของขนส่งระบบราง 60% ขนส่งระบบถนน 33% ขนส่งทางน้ำ 3% และขนส่งทางอากาศ 1.9% ที่เน้นทางรางเป็นหลัก เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยทิ้งระบบรางไปนานและจำเป็นจะต้องเชื่อมต่อกับประเทศในอาเซียน และในอนาคตน้ำมันแพงขึ้นคนจะหันมาใช้รถไฟแทน

          สำหรับสรุปวงเงินตามกรอบแผนลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบคมนาคมขนส่งปีงบประมาณ 2556-2563 รวม 1.9 ล้านล้านบาท จำนวน 72 โครงการ ประกอบด้วย สาขาขนส่ง ทางถนน จำนวน 31 โครงการวงเงินกู้โครงการ 648,995 ล้านบาท สาขาการขนส่งทางราง จำนวน 33 โครงการ วงเงินกู้โครงการ 1,164,477 ล้านบาท แบ่งเป็นระบบรถไฟทางคู่ 130,650 ล้านบาท  ระบบรถไฟสายใหม่ วงเงินกู้โครงการ 152,189 ล้านบาท และระไฟความเร็วสูง 480,008 ล้านบาท รวมถึงสาขาการขนส่งทางน้ำ จำนวน 5 โครงการ วงเงินกู้โครงการ 63,606 ล้านบาท และสาขาขน ส่งทางอากาศ จำนวน 3 โครงการ วงเงินกู้โครงการ 36,927 ล้านบาท 

          ดร.จุฬา กล่าวต่อว่า ส่วนเป้าหมายหลักที่สำคัญของการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบคมนาคมขนส่งนั้น ในปี 2563 ต้นทุนขนส่งเฉลี่ยจะอยู่ที่ 1.8669 บาทต่อตัน ประมาณการณ์ ว่าจะสามารถลดต้นทุนการขนส่งสินค้าไม่น้อยกว่า 52,843 ล้านบาทต่อปี ปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 6% ลดค่าใช้จ่ายสูญเสียจากการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล 80,000 ล้านบาท ประหยัดมูลค่าของเวลา ในการเดินทาง 108,000 ล้านบาท และลดต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อม 3,600 ล้านบาท

          นอกจากนี้ สัดส่วนปริมาณการขนส่งสินค้าในปี 2563 จะเพิ่มขึ้นจากปี 2554 โดยทางรางจะเพิ่มขึ้นเป็น 5% จากเดิม 2.5% สัดส่วนการขนส่งทางน้ำเพิ่มขึ้นเป็น 10.5% จากเดิม 8.5%  รวมถึงสัดส่วนปริมาณการขนส่งสินค้าทางชายฝั่งเพิ่มเป็น 7.5% จากเดิม 6% และปริมาณผู้โดยสารที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเพิ่มเป็น 64 ล้านคนในปี 2560 จากปี 2554 มีจำนวน 47.4 ล้านคน  ขณะเดียวกันยังลดการสูญเสียจากการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงกว่า 155,000 ล้านบาทต่อปี และเพิ่มขีดความสามารถในการขนส่งสินค้าในภาพรวมเป็น 900 ล้านตันต่อปี จากเดิม 700 ล้านตันต่อปี

          ด้านนายศุภกร ภัทรวิเชียร นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวในรายงานผลการลงพ้นที่เก็บข้อมูล ความคิดเห็นของประชาชนต่อ  ได้แจกแบบสอบถามการรับทราบ 8 โครงการของกระทรวงคมนาคมจำนวน 960 ชุด ในพื้นที่ 4 จังหวัดคือ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน และลำปาง โดยโครงการแรกคือ  โครงการพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน-นครสวรรค์ ระยะทาง 206 กิโลเมตร ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณารายงานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ทราบเพียง 22% เท่านั้น

          2. โครงการก่อสร้างศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จ.เชียงราย เพื่อเป็นจุดเชื่อมต่อและอำนวยความสะดวกการขนส่งสินค้าผ่านแดน เพื่อรองรับการเป็นประตูการค้า ระหว่างไทย-ลาว-จีน ปัจจุบันอยู่ระหว่างของบกลางปี 2556 ดำนินโครงการ ซึ่งประชาชนรับทราบเพียง 38% 3. แผนพัฒนาสถานีขนส่งเพื่อเพิ่มประสิทภาพทางถนนในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ตาก  และนครสวรรค์ ประชาชนรับทราบ 34%

          4. โครงการถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-พิษณุโลก-เชียงใหม่ ประชาชนรับทราบกว่า 57% สูงสุดในทั้งหมด 8 โครงการ 5. โครงการก่อสร้างทางรถไฟสายใหม่ในพื้นที่ภาคเหนือช่วง เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 325 กิโลเมตร ก่อสร้างเป็นรถไฟรางคู่ งบประมาณ 63,090 ล้านบาท คืบหน้าล่าสุดศึกษาความเหมาะสมและออกแบบรายละเอียดเสร็จแล้ว อยู่ระหว่างการ จัดส่งรายงานอีไอเอ พร้อมเสนอขอรับจัดสรรงบประมาณปี 2557 และจัดทำรายงานสรุปผลการศึกษา ออกแบบและประมาณค่าใช้จ่ายลงทุน ประชาชนรับทราบ 46%

          6. โครงการก่อสร้างเขื่อนยกระดับในแม่น้ำเจ้าพระยาและน่านเพื่อการเดินเรือ วงเงินดำเนินการ 7,131.65 ล้านบาท ประชาชนรับทราบเพียง 23% เท่านั้น 7. โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือ เชียงแสนแห่งที่ 2 จ.เชียงราย วงเงิน 1,568.516 ล้านบาท ซึ่งเปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2555 ใช้ชื่อว่าท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน ประชาชนรับทราบ 52% และสุดท้าย โครงการพัฒนาพื้นฐานบริการเส้นทางเชียงใหม่-พิษณุโลก รับทราบเพียง 20% เท่านั้น ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าประชาชนจะรับทราบเฉพาะโครงการที่กำลังจะเกิดขึ้นในพื้นที่เท่านั้น

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ