ข่าว

ฐานันดร5+:โลกที่ทุกคนเป็นนักข่าว?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รายงานพิเศษ : ฐานันดร 5+ จากสื่อกระแสหลัก ถึงนักข่าวพลเมือง ตอนที่ 3 'โลกที่ทุกคนเป็นนักข่าว ?' โดย กองบรรณาธิการ 'คม ชัด ลึก ออนไลน์'

          ในห้วงเวลาปัจจุบัน “สื่อใหม่” ปรากฏตัวอย่างเต็มภาคภูมิ พร้อมกับสถานะที่เข้มแข็งอย่างยิ่ง

          นี่เพราะสถานะของ “สื่อใหม่” วางอยู่บนฐานของ “สื่อสารมวลชน”

          โดยลักษณะของ “สื่อสารมวลชน” ทั้งรูปแบบและเนื้อหา

          โดยไม่ได้จำกัดเฉพาะเพียงแค่ “สื่อมวลชนมืออาชีพ” หากแต่ยังกินความถึงทุก ๆ คน ที่สามารถแสดงสถานะของการเป็น “คนข่าว” ได้ทุกเมื่อที่ต้องการ

          นี่เป็น “สื่อใหม่” ที่แทบจะเข้ามาแทนที่ “สื่อกระแสหลัก”

          พร้อมกับสถานะของ “สื่อใหม่” ที่ทรงพลังอย่างยิ่ง ในการชี้นำกระแส และทิศทางของสังคม ให้มีความโน้มเอียงไปในทางใดทางหนึ่ง อย่างมีประสิทธิภาพ

          ต่างกันก็ตรงที่ นี่เป็นสื่อสารมวลชน ที่ทุกคนสามารถเป็นได้ โดยไม่มีข้อจำกัดใด ๆ และไม่จำเป็นว่า จะต้องเป็นสื่อมวลชนมืออาชีพเท่านั้น

          “ทุกคนเป็นนักข่าวได้”

          นี่แทบจะเป็นสถานะที่เปลี่ยนไป

          และคล้ายกับจะยิ่งใหญ่ กระทั่งสามารถสั่นคลอนโลกทั้งใบ ให้เคลื่อนไหลไปตามกระแสของเครือข่ายสังคม ที่พร้อมแสดงพลังอันยิ่งใหญ่ที่ว่านี้

          โดยเครือข่ายของ “โซเชียลเน็ตเวิร์ค”

          และโดยเครื่องมือของ “โซเชียลมีเดีย” อันสำแดงตนอย่างทรงพลัง ต่อสายตาของสาธารณะชน

          ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัด คือการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง โดยพลังของเครือข่าย "โซเชียลเน็ตเวิร์ค"

          ปี 2554 "ทวิตเตอร์" ที่เป็นหนึ่งในรูปแบบของ "โซเชียลมีเดีย" โดยมีผู้ใช้กว่า 200 ล้านคนทั่วโลก ได้ ประกาศหัวข้อ "ทวิตฮิตที่สุดประจำปี 2554"

          หัวข้อที่ว่าคือ "Egypt" (อียิปต์) จากเหตุการณ์ปฏิวัติรุกฮือต่อต้านรัฐบาล หรือที่เรียกว่า "ปฏิวัติดอกมะลิ" โดยประชาชนชาวอิยิปต์ จนเกิดผลสะเทือนระดับโลก

          เป็น "ปฏิวัติดอกมะลิ" ที่มาจาก “การปฏิวัติตูนิเซีย” ซึ่งมีดอกมะลิเป็นดอกไม้ประจำชาติ

          และใช้เรียกการลุกฮือของประชาชน เพื่อต่อต้านผู้ปกครอง จากเหตุการณ์บัณฑิตวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ที่ตกงาน ถูกตำรวจหญิงจับและยึดรถเข็นผัก เพราะไม่มีใบอนุญาต

          ซึ่งเมื่อเขาขอไถ่รถคืน กลับถูกตบหน้า-ถ่มน้ำลายใส่

          และเมื่อไปร้องเรียนกลับไม่ได้รับความสนใจ เขาจึงเผาตัวเองประท้วง

          เหตุการณ์นี้ ก่อให้เกิดการชุมนุมประท้วงในเมืองที่เกิดเหตุ และมีการ “ส่งข่าวสาร” ผ่าน “สังคมออนไลน์” เช่น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และยูทูป ไปยังที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ

          ทุกคนเป็นนักข่าว ในทุกพื้นที่

          ทั้งในพื้นที่ที่เกิดเหตุ และในทุก ๆ พื้นที่ทั่วโลก ที่เชื่อมต่อถึงกันด้วยกลไก “อินเตอร์เน็ต” เพื่อ “สื่อข่าว” ไปสู่สาธารณะ และปรากฏเป็นข่าวอีกครั้ง ในสื่อกระแสหลักโดยทั่วไป

          “ปฏิวัติตูนิเซีย” ส่งผลให้มีการชุมนุมใหญ่

          และนำไปสู่การขับไล่ประธานาธิบดีไซน์อาบีดีน เบน อาลี ซึ่งอยู่ในอำนาจมานาน 23 ปี ออกจากตำแหน่ง

          และปรากฏการณ์ "ปฏิวัติดอกมะลิ" ก็กลายเป็นปรากฏการณ์ "โดมิโนดอกมะลิ"

          จากตูนีเซีย ถึงเยเมน ซูดาน จอร์แดน อียิปต์ ลิเบีย

          และไม่เว้นแม้กระทั่งมหาอำนาจอย่าง "จีน" ที่หวาดผวาต่อขุมพลังใหม่ กระทั่งมีคำสั่งให้ปิดกั้นเครือข่ายของสื่อ "อินเตอร์เน็ต"

          "ทวิตเตอร์" ระบุว่า ผลสะเทือนจาก "โลกออนไลน์" นี้ ส่งผลต่อ "ประเด็นสาธารณะ" อย่างมีพลัง

          นี่เป็น "อำนาจ" อันทรงพลังอย่างยิ่ง ของ "โซเชียลเน็ตเวิร์ค" และมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างถึงที่สุด

          และนี่ก็เป็น “อำนาจ” ที่วางฐานอยู่บนอำนาจ ของ “ข้อมูลข่าวสาร”

          บนความเป็น “สื่อสารมวลชน”

          ทุกคนและทุกวงการ รับรู้ถึง "อำนาจ" อันยิ่งใหญ่ ที่เป็นขุมพลังใหม่ ในการขับเคลื่อนทิศทางของสังคม

          รูปธรรมของการใช้เครือข่าย "โซเชียลเน็ตเวิร์ค" ผ่าน "โซเชียลมีเดีย" เพื่อ “สื่อข่าว” มีให้เห็นไม่ขาดระยะ ในทุกวงการ

          และไม่เว้นแม้กระทั่งวงการบันเทิง ที่บรรดาเซเลป ดารา นักร้อง และ ฯลฯ

          ต่างพาเหรด กันเข้ามาสู่ “สื่อใหม่” เพื่อ “สื่อข่าว” ที่ตนต้องการจะส่งออกไปถึงสาธารณะ

          โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพา “สื่อกระแสหลัก” อย่างที่เคยเป็นมาในอดีต

          ตรงกันข้าม การปรากฏตัวของ “สื่อใหม่” ผ่านเครื่องมือ “โซเชียลมีเดีย” กลับยังทำให้สื่อกระแสหลัก ต้องกลับมาพึ่งพาข้อมูลที่มีการนำเสนอ

          เพื่อนำไปใช้เป็น “ข่าวสาร” และนำเสนอสู่สาธารณะอีกครั้งด้วยซ้ำ

          กรณีของ "เสก โลโซ" เป็นรูปธรรมหนึ่ง

          ภาพของศิลปิน ที่แสดงถึงพฤติกรรมบางประการ ซึ่งชวนให้มีคำถามถึงความเกี่ยวพันกับกรณีของยาเสพติด ที่ถูกแสดงขึ้นบนเครือข่าย “โซเชียลเน็ตเวิร์ค” สมบูรณ์อย่างยิ่ง ในแง่ของ “ภาพข่าว”

          แต่ที่มากกว่า “ภาพข่าว” ที่เป็นหลักฐานชั้นต้น อันบ่งชี้ถึง “องค์ประกอบข่าว” ที่ครบถ้วน

          ก็คือ “เนื้อหา” ของข่าว

          อดีตภริยาของ “เสก โลโซ” ซึ่งเป็นเจ้าของ “ภาพข่าว” ดังกล่าว เข้าใจดีถึงประสิทธิภาพอันทรงพลังของเครือข่าย “โซเชียลเน็ตเวิร์ค” และเครื่องมือของ “โซเชียลมีเดีย”

          แต่ที่มากกว่านั้นคือ เธอยังเข้าใจดีถึง “อำนาจ” ของ “ข่าวสาร”

          การนำเสนอ “ภาพข่าว” และ “ข้อมูลข่าว” ออกสู่สาธารณะ โดยเครือข่ายสังคมอย่างเฟซบุ๊ค ไม่เพียงแค่การนำเสนอข้อเท็จจริงอย่างใดอย่างหนึ่ง

          หากแต่นี่ยังทับซ้อนอย่างแนบแน่น กับการทำหน้าที่ “นักข่าวพลเมือง”

          ไม่ว่ามูลเหตุเบื้องต้น ของการเปิดเผย “ข้อมูลข่าวสาร” จะมาจากอะไรก็ตาม

          แต่นี่ก็เป็นการนำเสนอ “ข้อมูลข่าวสาร” ทั้งในลักษณะของการเจาะลึกถึง “คนในข่าว” และ “เบื้องหลังข่าว”

          พร้อมกับนำเสนอต่อสาธารณะ เพื่อรายงานและสะท้อนข้อเท็จจริงให้ปรากฏ

          และเพื่อเป็นข่าวอย่างต่อเนื่องอีกครั้ง ในสื่อกระแสหลักโดยทั่วไป

          นี่ก็เป็นอีกรูปธรรมหนึ่ง ของ “นักข่าวพลเมือง”

          บนฐานคิดที่ว่า “ทุกคนเป็นนักข่าวได้”

          และผลจากการเปิดประเด็นข่าวนี้ โดยตั้งต้นจากเฟซบุ๊คส่วนตัว อันเป็นการรายงานข่าวผ่านเครือข่ายสังคม และการใช้เครื่องมือของโซเชียลมีเดีย

          ก็นำไปสู่การขยายผลในเชิงลึก ที่สืบเนื่องกับข่าวที่ว่านั้นอีกหลายประการ

          เช่นว่า กรณีการยอมรับข้อเท็จจริง และนำไปสู่การเข้ารับการบำบัดอาการ

          เช่นว่า กรณีข้อพิพาท ทั้งเรื่องผลประโยชน์ในแง่ของธุรกิจ ในวงการที่ตัวเองสังกัด ตลอดจนผลประโยชน์ส่วนตัว ที่ทับซ้อนและพัวพันระหว่างกัน

          และอีกหลายกรณี ที่เป็นผลสืบเนื่องให้สาธารณะได้รับรู้ ถึงข้อมูลข่าวสารที่ไม่เคยได้รู้มาก่อน

          นี่เป็นผลจากการเลือกสถานะ “นักข่าวพลเมือง” ไม่ว่าจะตั้งใจหรือโดยบังเอิญก็ตาม

          ไม่เพียงกรณีของ “เสก โลโซ” หากแต่กรณีของ "ต่าย-สายธาร" ก็อยู่ในข่ายเดียวกัน

          “ภาพข่าว” ของการถูกทำร้ายร่างกายในหลายอิริยาบท ที่เจ้าตัวจงใจแสดงผ่านเฟซบุ๊ค ก็สะท้อนถึงความเข้าใจและรู้ซึ้งเป็นอย่างดี ถึงสถานะของการ “สื่อข่าว”

          "ต่าย-สายธาร" ในสถานะบุคคลสาธารณะ เข้าใจดีถึง “อำนาจ” ของ “ข่าวสาร”

          และ "ต่าย-สายธาร" ก็รู้ว่า สามารถที่จะทำหน้าที่ “นักข่าวพลเมือง” ได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างยิ่ง บนเครือข่ายทางสังคม

          ไม่ว่าหลังจากนั้น “ภาพข่าว” และ “เนื้อข่าว” จะถูกลบทิ้งหรือไม่ก็ตาม

          นี่เป็นช่องทางของการสื่อสาร ที่มีไม่จำกัด บนพื้นที่ข่าวที่มีไม่จำกัด ในโลกอินเตอร์เน็ต

          ที่สำคัญคือ นี่ยังเป็นข่าวสารที่มีความรวดเร็ว และส่งตรงจากบุคคลในข่าวอย่างทันท่วงที

          สดทันทีที่มีข่าว หรือ สดทันทีที่ต้องการเป็นข่าว

          พร้อมด้วยประสิทธิภาพของการเชื่อมต่อ และส่งต่อโดยไร้ขีดจำกัด

          นี่เช่นเดียวกับอีกหลายกรณีที่เกิดขึ้น ทั้งในแวดวงบันเทิง และแวดวงอื่น ๆ

          กรณีของ “หมวย แม็กซิม” กับ “ฮาเวิร์ด หวัง” ที่มีการขยายผลอย่างกว้างขวาง ในแวดวงโซเชียลมีเดีย ทั้งเรื่องท้องและเรื่องแท้ง ก็อยู่ในข่ายนี้

          เช่นเดียวกับอีกหลายกรณี ที่ “บุคคลในข่าว” เลือกที่จะทำหน้าที่ “สื่อข่าว” ด้วยตนเอง

          ผ่านเครือข่ายโซเชียลเน็คเวิร์ค และโซเชียลมีเดียในหลายรูปแบบ

          เพื่อแสดงสถานะของ “นักข่าวพลเมือง” ด้วยตนเอง

          และเพื่อส่งผ่านข้อมูลข่าวสาร ไปยังสื่อกระแสหลัก เพื่อให้ถ่ายทอดผ่าน ไปสู่สาธารณะอีกโสตหนึ่ง

          โลกอินเตอร์เน็ต ได้เชื่อมโลกและย่อโลก ให้ถึงกันได้โดยง่ายดาย

          นี่เป็นโลกใหม่ และสื่อใหม่ ของช่วงเวลาแห่งยุคสมัยที่เปลี่ยนไป

          นี่เป็นโลกที่ทุกคนเป็นนักข่าวได้

          โดยไม่มีข้อจำกัดว่า ต้องเป็นสื่อมวลชนมืออาชีพเท่านั้น

          โลกวันนี้ ทุกคนเป็นนักข่าวได้จริง ๆ ?????

 

..........................

(หมายเหตุ : รายงานพิเศษ : ฐานันดร 5+ จากสื่อกระแสหลัก ถึงนักข่าวพลเมือง ตอนที่ 3 'โลกที่ทุกคนเป็นนักข่าว  ?' โดย กองบรรณาธิการ 'คม ชัด ลึก ออนไลน์'

 

ลิงก์ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รายงานพิเศษ : ฐานันดร 5+ จากสื่อกระแสหลัก ถึงนักข่าวพลเมือง ตอนที่ 1 'We the Media' โดย กองบรรณาธิการ 'คม ชัด ลึก ออนไลน์'

http://www.komchadluek.net/detail/20120804/136856/ฐานันดร5+:WetheMedia.html

รายงานพิเศษ : ฐานันดร 5+ จากสื่อกระแสหลัก ถึงนักข่าวพลเมือง ตอนที่ 2 'ปรากฏการณ์นักข่าวพลเมือง' โดย กองบรรณาธิการ 'คม ชัด ลึก ออนไลน์'

http://www.komchadluek.net/detail/20120806/137009/ฐานันดร5+:ปรากฏการณ์นักข่าวพลเมือง.html)

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ