Lifestyle

'เลี้ยงครั่ง'ตลาดต้องการสูง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

'เลี้ยงครั่ง' อาชีพเพื่อเกษตรกร ตลาดต้องการสูง-ร่วมอนุรักษ์ : โดย ... กวินทรา ใจซื่อ

          จากที่ "ครั่ง" เป็นเพลี้ยชนิดหนึ่งที่แม้จะนับได้ว่าเป็นศัตรูของพืช แต่ก็พบว่าครั่งถูกนำไปใช้เป็นส่วนประกอบในวงการอุตสาหกรรมหลายประเภท ทั้งเคลือบสีไม้ เคลือบผิวโลหะให้มันวาว ทนทาน ทำสีย้อมผ้า สีผสมอาหาร มีสรรพคุณเป็นยาสมุนไพร พร้อมไทยยังส่งออกไปต่างประเทศสร้างรายได้เป็นจำนวนมาก อีกทั้งเริ่มหายากส่งให้ราคาพุ่งจาก กก.ละ 30 บาทเป็น 130-140 บาท เหตุนี้ วชิระ จิตจำสี ผอ.ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดขอนแก่นและทีมงาน จึงแนะเกษตรกรเพาะขยายพันธุ์สร้างรายได้หลังทำนา

          นภดล ภูมาชัย พนักงานการเกษตรชำนาญงาน หนึ่งในทีมงาน บอกว่า ปัจจุบันครั่งตามธรรมชาติมีจำนวนลดลง สาเหตุมาจากเกษตรกรตัดต้นไม้ที่ขึ้นตามหัวไร่ปลายนา เช่น ต้นจามจุรี ต้นฉำฉา ต้นสะแกนา ต้นไม้ที่แมลงครั่งชอบอาศัยอยู่ จนแทบไม่มีหลงเหลือให้มันได้เพาะพันธุ์ ประกอบกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ส่งผลให้ครั่งดิบซื้อหายากขึ้นทำให้มีราคาพุ่งสูง จากปีที่แล้วขาย กก.ละ 30-50 บาท แต่ปีนี้อยู่ที่ กก.ละ 130-140 บาท

          “การลงพื้นที่หาพันธุ์ครั่งเพื่อนำมาเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ พบว่าต้นไม้ที่ใช้เพาะพันธุ์ เกษตรกรตัดโค่นเพื่อนำไม้ไปขายเป็นจำนวนมาก อีกทั้ง ด้วยกว่าจะได้เก็บเกี่ยวผลผลิตครั่งดิบออกขายได้ต้องคอยนานหลายเดือน ทำให้เกษตรกรไม่นิยมเลี้ยง” นภดล กล่าว 

          ผอ.วชิระ แจงว่า จากปัญหาการขาดแคลนพันธุ์ครั่ง และเกรงจะสูญพันธุ์ศูนย์ส่งเสริมจึงได้รวบรวมครั่งในภาคอีสานทำการเพาะขยายพันธุ์ และมีแนวคิดส่งเสริมให้ชาวบ้านเห็นความสำคัญของการเลี้ยง ไปพร้อมกับการอนุรักษ์พันธุ์ต้นไม้ที่ใช้เลี้ยงด้วย

          “พบว่าที่ขอนแก่นมีเกษตรกรยังเลี้ยงครั่งอยู่เพียง 2 อำเภอ คือ อ.ชนบท และ อ.น้ำพอง ซึ่งการเลี้ยงไม่ได้ยุ่งเหมือนเลี้ยงสัตว์ทั่วไป เพียงใช้เวลาว่างหลังทำนา คือช่วงมีนาคมถึงเมษายน นับเป็นช่วงแรกที่เหมาะนำครั่งไปแขวนบนกิ่งไม้ จากนั้นครั่งจะกระจายพันธุ์เติบโต จนเดือนธันวาคมเกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวครั่งดิบไปขายที่โรงงานรับซื้อ” 

          ส่วนวิธีการการเลี้ยง นภดล เสริมว่า เริ่มจากนำตัวอ่อนครั่งปล่อยบนกิ่งไม้ หรือปล่อยลงในฟางข้าว จากนั้นให้นำขึ้นไปแขวนบนต้นไม้ ซึ่งอายุต้นไม้ที่เหมาะสมคือ 4-5 ปี เพราะจะมีน้ำเลี้ยงที่เหมาะต่อการเจริญเติบโตของครั่ง ขณะที่การลงทุนต่อต้น ทั้งพันธุ์ครั่ง ฟางข้าว แรงงานเกษตรกร เฉลี่ยต้นละ 620 บาท ได้ผลตอบแทนครั่งดิบ 30-50 กก/ต่อต้น

          “หากต้องการได้ผลผลิตเต็มที่ เกษตรกรต้องดูแล ตัดแต่งทรงพุ่มต้นไม้ให้โปร่ง เพื่อไม่ให้รังครั่งอับชื้น หรือหากต้นไม้ขึ้นอยู่ใกล้กับแหล่งน้ำจะทำให้ครั่งทำรังดีขึ้นเพราะอากาศและความชื้นที่เหมาะสม ส่วนการปล่อยครั่งทำได้ 2 แบบ คือปล่อยลงบนกิ่งไม้ที่เตรียมไว้ หรือนำฟางข้าวมาทำเป็นรังให้อยู่ จากนั้นนำฟางขึ้นแขวนบนต้นไม้ รอจนครบกำหนดเก็บ” นภดล แจง อีกทั้งระบุว่าศัตรูของครั่งคือมดและไฟป่า โดยเฉพาะมดเป็นศัตรูสำคัญที่จะไปดูดน้ำเลี้ยงจนทำให้ครั่งตายระหว่างที่ฝังตัวลงบนเนื้อไม้ ซึ่งเกษตรกรต้องหมั่นดูแลเพื่อให้ได้ครั่งมีคุณภาพดี และได้ผลผลิตอย่างเต็มที่ 

          อย่างไรก็ตาม "ครั่ง" จึงถือเป็นอีกทางเลือกของเกษตรกรในการใช้พื้นที่ที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการสร้างรายได้หลังจากการทำนา ส่วนตลาดซื้อขายยังสดใสเป็นที่ต้องการ เพราะครั่งยังต้องนำไปใช้เป็นส่วนประกอบในงานอุตสาหกรรมหลายประเภทดังที่กล่าว 

          สำหรับเกษตรกรที่สนใจ ต้องการเรียนรู้เรื่องการเลี้ยงครั่งเพื่อเป็นอาชีพเสริม สอบถามได้ที่ ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดขอนแก่น ซึ่งที่นี่จะมีเจ้าหน้าที่คอยให้ความรู้และมีแปลงสาธิตให้ลงมือปฏิบัติด้วย

 

 

----------

(หมายเหตุ : 'เลี้ยงครั่ง' อาชีพเพื่อเกษตรกร ตลาดต้องการสูง-ร่วมอนุรักษ์ : โดย ... กวินทรา ใจซื่อ)

----------

 

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ