ข่าว

เนคเทคลุ้นใช้โมเดลทำนายอุทกภัย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เนคเทคตั้งเป้า 6 เดือน ใช้งานโมเดลอุทกพลศาสตร์ ทำนายปริมาณ-ทิศทางการไหล เตือนเหตุน้ำท่วมล่วงหน้า พร้อมเปิดตัวป้ายสัญลักษณ์และแอพพลิเคชั่น "FloodSign" รับแจ้งข้อมูลระดับน้ำจากสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์

          "ในการลงพื้นที่เก็บข้อมูลตามพื้นที่ต่างๆ เนคเทคจะติดแผ่นป้ายสัญลักษณ์บอกระดับน้ำสูงสุดไปด้วย โดยจะกระจายติดบนผนังตามรอยคราบน้ำท่วมที่ขึ้นสูงสุดเมื่อปี 2554 จำนวน 1 หมื่นป้าย ซึ่งใช้งบดำเนินการ 1.2 ล้านบาท " นายพันธ์ศักดิ์ กล่าวและว่า เนคเทคตั้งเป้าส่งมอบป้ายสัญลักษณ์ให้กับหน่วยงานราชการ ภาคเอกชนและชุมชนที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วมภาคกลางทั้ง 16 จังหวัด ได้มีส่วนร่วมในการรายงานข้อมูลระดับน้ำท่วม

          นอกจากนี้ ทีมวิจัยยังได้พัฒนาแอพพลิเคชั่น FloodSign ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้รายงานระดับคราบน้ำท่วมสูงสุดสำหรับอุทกภัยปี 2554 เพื่อใช้งานร่วมกับป้ายสัญลักษณ์บอกระดับน้ำท่วม แอพพลิเคชั่นจะเปิดโอกาสให้ประชาชนที่สนใจ สามารถเป็นส่วนหนึ่งของการรายงานข้อมูลระดับน้ำท่วมได้จากที่บ้าน

          การใช้งานเพียงนำป้ายบอกระดับน้ำท่วมไปตอกหรือยึดติดถาวรตรงจุดที่มีคราบน้ำท่วมสูงสุด จากนั้นนำสายวัดวัดระดับน้ำจากพื้นขึ้นไปจนถึงจุดที่น้ำขึ้นสูงสุด เพื่อให้ได้ระดับความสูงของน้ำนำไปกรอกในแอพพลิเคชั่น ซึ่งใช้งานได้กับโทรศัพท์มือถือระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์เวอร์ชั่น 2.1 ขึ้นไป ซึ่งจะมีระบบดาวเทียมค้นหาตำแหน่งจีพีเอส ระบบจีพีอาร์เอส หรืออินเทอร์เน็ต

          "เพียงกำหนดพิกัดที่จะเก็บข้อมูล จากนั้นถ่ายรูปป้ายขณะวัดระดับความสูงของคราบน้ำสูงสุด และระบุชื่อสถานที่ อัพโหลดข้อมูลขึ้นระบบ เพียงเท่านี้ก็มีส่วนร่วมในการรายงานผลระดับน้ำท่วมสูงสุดได้แล้ว ข้อมูลที่แชร์ขึ้นบนแอพพลิเคชั่น FloodSign จะถูกนำไปพัฒนาเป็นระบบจำลองทางอุทกศาสตร์ สำหรับจำลองทิศทางการไหลของน้ำ และหาค่าของปริมาณน้ำที่มีอยู่ เพื่อการบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ คาดจะแล้วเสร็จในอีก 6 เดือนข้างหน้า" ผู้อำนวยการเนคเทคกล่าว

          ด้านนายขจรศักดิ์ สิงโตกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี กล่าวว่า ปทุมธานีเป็นจังหวัดนำร่องติดตั้งป้ายสัญลักษณ์และแอพพลิเคชั่นแจ้งข้อมูลระดับน้ำ เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการติดตามระดับน้ำ โดยเฉพาะกรณีที่มีน้ำหลากมาอีก และจะสามารถบริหารจัดการทรัพย์สินให้พ้นน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

          พื้นที่ปทุมธานีได้รับความเสียหายจากอุทกภัย 2554 เป็นบริเวณกว้าง โดยได้เสนอของบประมาณไป 4,290 ล้านบาท เพื่อเยียวยาผู้ประสบภัยน้ำท่วมประมาณ 2.3 แสนหมื่นคน ทั้งยังเสนอของบขุดลอกคูคลองอีก 80 กว่าล้านบาท สำหรับรับมือหากเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมขึ้นอีก โดยในส่วนของการซ่อมแซมประตูระบายน้ำกรมชลประทานเป็นฝ่ายดูแลความเรียบร้อย

          ทั้งนี้ ผู้สนใจมีส่วนร่วมในการเก็บข้อมูลระดับน้ำท่วมสูงสุดปีที่ผ่านมา สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายบริหารและสนับสนุนงานวิจัย เนคเทค โทร. 0 2564 6900 ต่อ 2326 หรือ www.nectec.or.th

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ