Lifestyle

ตามไปดูวิธีการปลูกยาสูบ'จีเอพี (GAP)'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์ ท่องโลกเกษตร - ตามไปดูวิธีการปลูกยาสูบ 'จีเอพี (GAP)' ยกระดับชีวิตชาวไร่เสริมรายได้หลังทำนา - โดย ... สุรัตน์ อัตตะ

          ยาสูบ จัดเป็นพืชควบคุมภายใต้พระราชบัญญัติยาสูบ ซึ่งถือใช้โดยกรมสรรพสามิต เป็นพืชที่ใช้ใบในการให้ผลผลิตและใช้เป็นวัตถุดิบหลักในอุตสาหกรรมการผลิตบุหรี่ ซึ่งประเทศไทยจะปลูกกันมากในพื้นที่ภาคเหนือและอีสาน ปัจจุบันยาสูบที่นิยมปลูกกันมากมีอยู่ 3 สายพันธุ์ประกอบด้วย เวอร์จิเนีย (Virginia) เบอร์เลย์ (Burley) และเตอร์กิช(Turkish) โดยผลผลิตเกือบทั้งหมดจะส่งให้แก่โรงงานยาสูบและบริษัทผลิตบุหรี่ข้ามชาติ

          จากการรายงานของกรมสรรพสามิตพบว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกยาสูบรวม 207,147 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ปลูกยาสูบพันธุ์เวอร์จิเนีย 67,977 ไร่ พันธุ์เบอร์เลย์ 78248 ไร่ และพันธุ์เตอร์กิช 60,922 ไร่ โดยจังหวัดที่มีการปลูกยาสูบมากที่สุด คือ เพชรบูรณ์ประมาณ 19,860,839 กิโลกรัม/ปี และยังไม่มีขยายพื้นที่ปลูกเพิ่ม

          "ท่องโลกเกษตร" อาทิตย์นี้จะตามคณะผู้บริหารโรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง นำโดย "ต่อศักดิ์ โชติมงคล" ผู้อำนวยการ พร้อมสื่อมวลชนกว่า 30 ชีวิตตระเวนดูวิถีชีวิตเกษตรกรผู้ปลูกยาสูบและกระบวนการผลิตใบยาของชาวไร่ใน จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกทั้งสิ้นกว่า 5,000 ไร่ โดยจะเน้นสายพันธุ์เบอร์เลย์เป็นหลัก

          ต่อศักดิ์ โชติมงคล ผู้อำนวยการโรงงานยาสูบเปิดเผยข้อมูลระหว่างนำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่เยี่ยมเกษตรกรชาวไร่ยาสูบ ภายใต้โครงการระบบการปฏิบัติงานด้านการเกษตรที่ดี (จีเอพี) ตามหลักเกณฑ์ของ CORESTA ว่า โรงงานยาสูบได้กำหนดเป็นนโยบายให้กระบวนการผลิตใบยาเบอร์เลย์ของชาวไร่ในสังกัด ดำเนินการภายใต้ “ระบบการปฏิบัติงานด้านเกษตรกรรมที่ดี” ตามมาตรฐานของ CORESTA ซึ่งเป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนส่งเสริมความร่วมมือในงานศึกษาวิจัยเกี่ยวกับยาสูบในระดับนานาชาติ ซึ่ง CORESTA มุ่งเน้นผลิตใบยา Clean Tobacco 

          ทั้งนี้ เนื่องจากปัจจุบันอุตสาหกรรมยาสูบและบุหรี่ต้องดำเนินงานภายใต้ภาวะแรงกดดันจากสังคม เพราะเกี่ยวข้องกับสุขภาพอนามัยของผู้บริโภค ทำให้ต้องหาทางปรับทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมยาสูบโลก โดยเฉพาะในเรื่องของการพัฒนาคุณภาพวัตถุดิบที่ใช้ผลิตบุหรี่ ซึ่งมีใบยาสูบเป็นส่วนผสมหลัก ดังนั้น จึงมีการศึกษาค้นคว้า วิจัยและพัฒนาเพื่อแสวงหาความรู้เกี่ยวกับยาสูบ มุ่งสู่แนวทางการผลิตใบยาและบุหรี่ ที่ลดความเสี่ยงต่อสุขภาพ มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคมากขึ้น ตลอดจนรักษาสภาพสิ่งแวดล้อม

          "โรงงานยาสูบจะจัดสรรโควตาผลิตใบยาให้ชาวไร่ทราบก่อนเริ่มการเพาะปลูกยาสูบ รวมทั้งแจ้งสภาวะการผลิตใบยา ซึ่งระบุถึงความต้องการใบยาทั้งในส่วนของโรงงานยาสูบ และส่วนที่บริษัทส่งออกรับซื้อผ่านโรงงานยาสูบ โดยกำหนดราคารับซื้อใบยาแต่ละชั้นใบยาที่แน่นอน พร้อมทั้งติดตามแนะนำส่งเสริมการผลิตใบยาทุกขั้นตอนเพื่อทำให้ชาวไร่เกิดความเชื่อมั่นในอาชีพเพาะปลูกยาสูบ" ผอ.โรงงานยาสูบกล่าว

          ปริญญา สุวงค์วาร ผู้จัดการสำนักงานยาสูบเพชรบูรณ์กล่าวเสริมว่า  สำหรับยาสูบที่ปลูกในเขตพื้นที่ จ.เพชรบูรณ์จะใช้พันธุ์ "เบอร์เลย์" ทั้งหมด ซึ่งใบยาสูบสายพันธุ์นี้มีคุณสมบัติพิเศษกว่าใบยาประเภทอื่น คือ มีโครงสร้างโปร่ง ดูดซับน้ำหอมน้ำปรุงได้ดี มีคุณสมบัติในการเผาไหม้ดี ใบยาแห้งมีสีเนื้อหรือสีน้ำตาลอ่อนจนถึงสีน้ำตาลแก่ ปริมาณนิโคตินสูง ปริมาณน้ำตาลน้อยมาก น้ำหนักเบา คุณภาพในการบรรจุมวนดี เป็นใบยาที่มีคุณภาพดี มีกลิ่นหอมคล้ายโกโก้ และเป็นใบยาประเภทหนึ่งที่ใช้ในการผลิตบุหรี่    

          ส่วนการผลิตใบยาเบอร์เลย์ จีเอพี ภายใต้หลักเกณฑ์ของ CORESTA จะมุ่งเน้นการจัดการดินและน้ำเพื่อให้มีการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เกิดความยั่งยืน ดูความสมบูรณ์ของพันธุ์และการคัดเลือกพันธุ์ เพื่อเกิดความมั่นใจว่ามีการใช้พันธุ์ยาสูบที่ถูกต้อง จากนั้นการจัดการการเพาะปลูกเพื่อให้ได้ผลผลิตเป็นปริมาณและคุณภาพที่ต้องการ มีการจัดการสารเคมีทางการเกษตรเพื่อให้เกิดความปลอดภัย ทั้งเกษตรกรผู้ใช้สารเคมี ผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ใบยาสูบ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม                    

          "เทคนิคการบ่มใบยาของเราเป็นไปอย่างถูกต้องในทุกขั้นตอนและประหยัดพลังงาน ลดสิ่งแปลกปลอมที่ไม่ใช่ยาสูบเพื่อให้ผลิตภัณฑ์ยาสูบมีความสะอาด เป็นที่ต้องการของการตลาด ที่สำคัญเรามีการฝึกอบรมชาวไร่เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจในทุกขั้นตอนของการผลิตใบยาอย่างถูกต้อง" ผู้จัดการสำนักงานยาสูบเพชรบูรณ์กล่าว

          ด้าน หนูจันทร์ คำโสม อายุ 44 ปี เกษตรกรชาวไร่ยาสูบใน ต.สักหลง อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ หนึ่งในเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจีเอพี ยอมรับว่า หลังเข้าร่วมโครงการมากว่า 2 ปี ทำให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นและสามารถลดต้นทุนการใช้สารเคมีลง ทำให้มีรายได้เฉลี่ยต่อไร่เพิ่มขึ้น  ปัจจุบันสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เฉลี่ย 200-250 กิโลกรัมต่อไร่ ขณะที่มีพื้นที่ปลูกทั้งสิ้น 6 ไร่ โดยผลผลิตทั้งหมดจะส่งให้แก่โรงงานยาสูบ ซึ่งให้โควตามา 1,600 กิโลกรัม

          "ตอนนี้ราคาใบยาอยู่ที่กิโลกรัมละ 60 บาท ทางโรงงานยาสูบจะรับซื้อผลผลิตทั้งหมด แต่ไม่เกินโควตาที่เขาให้มา พอหมดยาสูบก็เตรียมพื้นที่เพื่อทำนาปลูกข้าวต่อไป สลับกันอย่างนี้ เพราะยาสูบเป็นรายได้หลัก แต่ทำนาเพื่อปลูกข้าวไว้กิน ที่เหลือก็ขายด้วย" เกษตรกรรายเดิมกล่าวทิ้งท้าย

          การยกระดับการผลิตใบยาสูบของชาวไร่ด้วยโครงการจีเอพี จนได้ใบยาที่มีคุณภาพดีเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป ส่งผลให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคปลอดภัย ควบคู่กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม นับเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานโรงงานยาสูบไทย

 

 

----------

(หมายเหตุ : คอลัมน์ ท่องโลกเกษตร - ตามไปดูวิธีการปลูกยาสูบ 'จีเอพี (GAP)' ยกระดับชีวิตชาวไร่เสริมรายได้หลังทำนา - โดย ... สุรัตน์ อัตตะ)

----------

 

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ