ข่าว

กทม.พบ'ถนนเจริญกรุง'ทรุดอีก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กทม.พบถนนเจริญกรุงทรุดอีก สั่งด่วนเร่งซ่อมให้แล้วเสร็จคืนนี้ เตรียมปูพรมสแกนถนนเก่า-ใกล้แหล่งน้ำ 20 เส้นทั่วกรุง

                5 เม.ย.55 นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้เดินทางมาตรวจสอบถนนเจริญกรุงบริเวณหน้าโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ เขตบางคอแหลม ภายหลังพบโพรงใต้ผิวถนนดังกล่าว

               นายธีระชน ให้สัมภาษณ์ภายหลังการตรวจสอบว่า ได้รับแจ้งว่าถนนเจริญกรุงเกิดการทรุดตัวจนลาดเอียง ซึ่งเจ้าหน้าที่จากสำนักการโยธา ได้นำเครื่องตรวจสภาพใต้พื้นดิน หรือ Ground Penetrating Radar (GPR) เข้าตรวจสอบ และพบโพรงอยู่ใต้ดิน หลังจากการเปิดฝ่าท่อระบายน้ำก็พบด้วยว่าท่อระบายน้ำใต้ดินไม่เชื่อมต่อโด อยู่ในลักษณะเกยกัน จึงทำให้เกิดโพรงขนาด 50 เซนติเมตร ทำให้ถนนค่อยๆทรุดตัวในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา แต่เนื่องจากจุดนี้เป็นถนนเสริมเหล็ก จึงไม่เกิดการทรุดลงมาอย่างถนนพระราม 4 นอกจากนี้ปลายสุดของถนนเจริญกรุงเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา จึงมีความเป็นไปได้ว่าน้ำอาจจะกัดเซาะดึงทรายให้ไหลลงไป อีกทั้งถนนเส้นนี้มีการก่อสร้างมานาน จึงต้องมีการตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้ง

              นายธีระชน กล่าวต่อว่า เบื้องต้นวันนี้ จะปิดล้อมพื้นที่ ไม่ให้รถยนต์วิ่งผ่านเพื่อไม่ให้น้ำหนักกระทบกับส่วนที่ทรุดตัว จากนั้นในคืนนี้เจ้าหน้าที่จากสำนักการโยธาจะนำเครื่องมือหนักมาเปิดผิวจราจร เพื่อทำการซ่อมแซมท่อให้เชื่อมต่อกัน คาดว่าจะใช้เวลาไม่นานในการซ่อมแซม อย่างไรก็ตามกทม.ยังคงสำรวจพื้นที่ที่มีความเสี่ยงเพิ่มเติม อย่างถนนที่ก่อสร้างมานาน อยู่ใกล้คูคลอง แม่น้ำ ท่อสาธารณูปโภคต่างๆ และมีรอยร้าวอย่างกรณีนี้ เพื่อทำการซ่อมแซม ไม่ให้เกิดการทรุดตัวอีก

               ส่วนกรณีที่ทางเท้าถนนพระราม 3 ทรุด ซึ่งพบว่ามีการไหลของดิน เนื่องจากมีน้ำไหลออกมาจากท่อ แล้วชะล้างดินไปลงลำประโดง เมื่อดินไหลไปจึงก่อให้เกิดโพรง อีกทั้งกำแพงกันดินก็สร้างมานาน และไม่ได้สร้างมาเพื่อรองรับการต่อเติม ทั้งนี้เบื้องต้นจะมีการรื้อท่อร้อยสายที่ล้มลงมาออก เพื่อให้ลำรางสามารถระบายน้ำได้ตามปกติ และต่อไปนี้หากกทม.หรือหน่วยงานอื่น ๆ จะทำการซ่อมแซมท่อหรือผิวจราจร ต้องมีการหารือร่วมกัน และทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการ เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาในระยะยาว ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ

                แหล่งข่าวจากสำนักการโยธา เปิดเผยว่า สำนักการโยธา ได้มีการสำรวจถนนที่มีความเสี่ยงทรุดตัว อย่างถนนที่มีการก่อสร้างมานาน อยู่ใกล้แหล่งน้ำ มีรอยแตกร้าว จำนวน 20 สาย อาทิ ถนนพระราม 3 ถนนพระราม 4 ถนนพระราม 6 ถนนสาทร ถนนนราธิวาส เป็นต้น ซึ่งในระยะแรกจะมีการนำเครื่อง GPR สแกนใต้พื้นดินว่าเกิดโพรงจุดใดบ้าง และจะรีบซ่อมแซมทันที เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นอีก จากนั้นจะตรวจสอบถนนสายอื่นเพิ่มเติมอีก

                 พญ.สาวิตรี สุวิกรม เจ้าของคลินิกเวชกรรมแพทย์สาวิตรี กล่าวว่า ตนเป็นผู้แจ้งไปยังสำนักงานเขตว่าถนนหน้าคลินิกเกิดการทรุดตัว ซึ่งเป็นมานานแล้ว โดยทางเท้าหน้าคลินิกได้เกิดการทรุดตัวเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา และเริ่มเห็นได้ชัดเมื่อปีที่แล้ว ตนได้แจ้งไปยังสำนักงานเขต 3 ครั้ง ซึ่งทางเขตได้เข้ามาซ่อมแซมให้ 2 ครั้ง ล่าสุดเมื่อเดือนที่แล้ว เจ้าหน้าที่จากเขตฯ ได้เข้ามาตรวจสอบและพบว่ามีโพรง จึงได้เปิดถนนบางส่วนแล้วนำหินคลุกและทรายมาเท ก่อนจะเทคอนกรีตทับ เพื่อซ่อมแซมให้ใช้สัญจรได้ อย่างไรก็ตาม ภายในบ้านก็เริ่มมีการทรุด โดยพบว่าพนังมีรอยแตกร้าว และพื้นเริ่มเทเอียง ตนจึงไม่แน่ใจว่าเกิดจากเหตุดังกล่าวด้วยหรือไม่

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ