Lifestyle

'นทพ.'ขุดลอกแหล่งน้ำรับมือ'อุทกภัย'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

'นทพ.' เร่งสนองนโยบายรัฐบาล ... ขุดลอกแหล่งน้ำรับมือ 'อุทกภัย' - โดย ... สุรัตน์ อัตตะ

          จากสถานการณ์ที่ประเทศไทยได้เผชิญกับความเสียหายจากมหาอุทกภัยเมื่อปลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลางที่เกิดน้ำท่วมหนักเป็นระยะเวลานาน ยิ่งไปกว่านั้นพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ถือเป็นพื้นที่หนึ่งซึ่งเกิดน้ำท่วมหนักในรอบ 70 ปี  ส่งผลให้เกิดความเสียหายอย่างหนักทั้งภาคการเกษตร อุตสาหกรรม เศรษฐกิจ สังคม และส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปยังภาคส่วนอื่นอีกเป็นจำนวนมาก

          ผลกระทบจากภัยพิบัติที่เกิดขึ้นนำมาซึ่งความเสียหายในชีวิตและทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะพื้นที่ภาคการเกษตรจะได้รับความเสียหายกว่า 11.20 ล้านไร่ รวมทั้งถนน, ท่อระบายน้ำ, ฝาย, ทำนบ, สะพาน/คอสะพาน, บ่อปลา/บ่อกุ้ง/หอย และปศุสัตว์อีกมากมาย ดังนั้นจึงจำเป็นที่ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกัน ทั้งส่วนราชการ ภาคเอกชน และประชาชนทุกคนต้องเห็นความสำคัญ หันมาสนใจช่วยกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ และดูแลรักษาแม่น้ำคูคลองไม่ให้ตื้นเขิน 

          กองบัญชาการกองทัพไทย โดยหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา (นทพ.) ได้รับมอบภารกิจจากรัฐบาลในการรับมือกับสถานการณ์อุทกภัยที่อาจจะเกิดขึ้นในปี 2555 โดยดำเนินโครงการขุดลอกแหล่งน้ำเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย รวมทั้งสิ้น 259 โครงการ ปริมาตรดินขุด 25,339,641 ลูกบาศก์เมตรทั่วทุกภาคของประเทศใน 32 จังหวัด ทั้งนี้ได้มอบหมายให้สำนักงานพัฒนาภาค 1-5 และหน่วยพัฒนาการพิเศษ หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา เข้าดำเนินการตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคม 2555 และให้แล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม 2555   

          ล่าสุด พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้นำคณะตรวจเยี่ยมความคืบหน้าการดำเนินงานโครงการขุดลอกแหล่งน้ำเพื่อป้องกัน และแก้ไขปัญหาอุทกภัย บริเวณวัดหลักชัย ต.หลักชัย อ.ลาดบัวหลวง จงพระนครศรีอยุธยา และให้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินงานอย่างเร่งด่วน และตรวจแนวคลองพระยาบันลือ พร้อมให้กำลังใจการปฏิบัติงานของกำลังพล 

          พล.อ.ดุลกฤต รักษ์เผ่า ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการทหารพัฒนากล่าวถึงการดำเนินโครงการขุดลอกแหล่งน้ำเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยดังกล่าวว่าเป็นโครงการที่สนับสนุนยุทธศาสตร์การบรรเทาอุทกภัยของคณะกรรมการนโยบายน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (กนอช.) ในพื้นที่ลุ่มน้ำ 8 ลุ่มน้ำหลัก ซึ่งอยู่ในพื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ จำนวน 156 โครงการ ในพื้นที่ 18 จังหวัด และสนับสนุนการบริหารจัดการลุ่มน้ำตามแผนของกรมทรัพยากรน้ำในระดับลุ่มน้ำชุมชน 7 ลุ่มน้ำ จำนวน 103 โครงการ ในพื้นที่ 14 จังหวัด

          โดยการดำเนินการโครงการแบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือเป็นโครงการขุดลอกแหล่งน้ำเดิม ขุดลอกบริเวณหน้าฝายและหลังฝาย และขุดลอกแก้มลิง จำนวน 85 โครงการ เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการกักเก็บน้ำและรองรับน้ำหลากและเป็นโครงการขุดลอกคูคลอง/คลองระบายน้ำ/ลำน้ำ/แม่น้ำ จำนวน 174 โครงการ เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำจากคู/คลองเล็กไหลสู่คลองใหญ่ไหลลงพื้นที่แก้มลิงหรือแม่น้ำสายหลักออกสู่ทะเล

          ปัจจุบันหน่วยบัญชาการทหารพัฒนาได้มอบหมายให้สำนักงานพัฒนาภาค 1-5 และ          หน่วยพัฒนาการพิเศษ หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา เข้าดำเนินการตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคม 2555 และให้แล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม 2555 จำนวน 259 โครงการ เพื่อป้องกันเหตุอุทกภัยที่อาจจะเกิดขึ้นในลักษณะเช่นเดียวกับปี พ.ศ.2554 

          "ผลการดำเนินการขณะนี้ (ณ 31 มี.ค.2555) อยู่ระหว่างการขุดลอกจำนวน 112 โครงการ มีความก้าวหน้าร้อยละ 36 และได้จัดตั้งกองอำนวยการติดตามความก้าวหน้าโครงการฟื้นฟูป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา เพื่อกำกับดูแลให้การขุดลอกเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ทั้งคุณภาพของงานและระยะเวลาในการดำเนินการ" 

          ผบ.นทพ.ย้ำด้วยว่านอกจากการดำเนินการขุดลอกเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยแล้ว หน่วยบัญชาการทหารพัฒนายังได้จัดทำโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นน้ำตามแนวพระราชดำริ เพื่อแก้ปัญหาทรัพยากรป่าต้นน้ำและพัฒนาป่าต้นน้ำให้มีความสมบูรณ์ ภายใต้การมีส่วนร่วมของประชาชน ชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เน้นการปลูกป่าต้นน้ำ สร้างฝายชะลอน้ำ และปลูกหญ้าแฝก เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นของผืนดิน ช่วยชะลอการไหลของน้ำ และคงความสมดุลของป่าต้นน้ำ โดยจะเข้าดำเนินการในพื้นที่เป้าหมาย 5 ป่าต้นน้ำ ได้แก่ อุทยานแห่งชาติทับลาน จ.นครราชสีมา, อุทยานแห่งชาติไทรโยค จ.กาญจนบุรี, อุทยานแห่งชาติภูพานและภูผาเหล็ก จ.สกลนคร, อุทยานแห่งชาติศรีลานนา จ.เชียงใหม่ และพื้นที่ลุ่มน้ำแม่จัน จ.เชียงราย 

          "การขุดลอกคลองและแหล่งน้ำนั้นเพื่อให้การระบายน้ำและเก็บกักน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีความสำคัญอย่างยิ่งที่ต้องรักษาระดับขุดลอกให้น้ำนั้นมีอัตราการไหลที่เหมาะสมที่จะระบายน้ำและไม่ได้พัดพาตะกอนให้สะสมจนมากเกินไป รวมทั้งพิจารณาถึงคลองเครือข่ายที่จะให้น้ำไหลอย่างเป็นระบบ ได้ขุดลอกจุดที่ตื้นเขินด้วยรถขุดตักประกอบเรือทุ่น ส่วนจุดที่มีตะกอนเลนและโคลนอยู่จะใช้เรือขุดลอกแหล่งน้ำกำจัดเลนและตะกอนสิ่งสกปรกในท้องคลอง พร้อมกับปรับแต่งลาดคูคลองด้วยเครื่องจักรกล ให้ได้ขนาดและความลึกตามมาตรฐานที่กำหนด เพื่อให้สภาพน้ำใสสะอาด และสามารถระบายน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ" พล.อ.ดุลกฤตกล่าวย้ำ

 

----------

โครงการต่างๆของ นทพ.ปี55

          พื้นที่ต้นน้ำ ดำเนินการขุดลอกคลอง ลำน้ำ สระเก็บน้ำ หนองน้ำ แหล่งน้ำเดิม ลำห้วย อ่างเก็บน้ำ แม่น้ำ หน้าฝาย เปิดทางน้ำ และจัดทำแก้มลิงหน้าฝาย แก้มลิงลำน้ำ แก้มลิงลำน้ำห้วย แก้มลิงหนองน้ำ ในพื้นที่ภาคเหนือประกอบด้วย 8 จังหวัด 99 โครงการ ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย สุโขทัย น่าน แพร่ ลำปาง ลำพูน และแม่ฮ่องสอน  

          พื้นที่กลางน้ำตอนบน ดำเนินการขุดลอกคลองในพื้นที่ภาคกลางตอนบน ประกอบด้วย 4 จังหวัด 25 โครงการ ได้แก่ พิษณุโลก นครสวรรค์ พิจิตร และกำแพงเพชร พื้นที่กลางน้ำตอนล่าง ดำเนินการขุดลอกแหล่งน้ำเดิม และขุดลอกคลองในพื้นที่ภาคกลางตอนล่างประกอบด้วย 4 จังหวัด 32 โครงการ ได้แก่ สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง และลพบุรี

          พื้นที่ปลายน้ำ ดำเนินการขุดลอกคลองในพื้นที่ภาคกลางตอนล่าง ประกอบด้วย 3 จังหวัด 7 โครงการ ได้แก่ ฉะเชิงเทรา นครปฐม และราชบุรี พื้นที่ภาคอีสาน ดำเนินการขุดลอกคลอง หนองน้ำ แหล่งน้ำเดิม ลำห้วย สระเก็บน้ำ แก้มลิง และลำน้ำ รวม 51 โครงการ ประกอบด้วย 10 จังหวัด ได้แก่ สกลนคร ขอนแก่น ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ชัยภูมิ นครราชสีมา อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ และสุรินทร์  

          พื้นที่ภาคใต้ ดำเนินการขุดลอกคลอง สระเก็บน้ำ และคูระบายน้ำ รวม 45 โครงการ ในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ สงขลา พัทลุง และปัตตานี 

 

----------

(หมายเหตุ : 'นทพ.' เร่งสนองนโยบายรัฐบาล ... ขุดลอกแหล่งน้ำรับมือ 'อุทกภัย' - โดย ... สุรัตน์ อัตตะ)

----------

 

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ